วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทเรียนคาวาซากิและอิจิฮารากับโลกทัศน์ของมาบตาพุด

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
กรณีก๊าซคลอรีนรั่วจากถังเก็บของบริษัทไทยคลอ คาลี ดีวิชั่น จำกัด ในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศอินเดีย ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง จนทำให้คนงานและประชาชนล้มป่วยไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในอากาศ ดิน และน้ำ ที่มีผลต่อสุขภาพของชุมชนในจังหวัดระยองได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชน บริษัทอุตสาหกรรมและภาครัฐ ความบาดหมางเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อมีกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ว่าโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เข้ามาบังคับใช้อีกทางหนึ่งด้วย ชุมชนมาบตาพุดจึงใช้โอกาสของกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมกับศาลปกครองสูงสุด จนนำไปสู่ให้ระงับการดำเนินงานชั่วคราวมีทั้งหมด 76 โครงการ และมีการผ่อนปรนไป 11 โครงการ แต่ก็ยังมีโครงการถูกระงับอีก 65 โครงการ โครงการที่ถูกระงับมีบริษัทในเครือของกลุ่ม ปตท.และกลุ่มเครือซิเมนต์ไทย บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งจึงได้รับผลกระทบเต็มๆ ปัญหาที่เกิดกับมาบตาพุดยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นมาแล้ว อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศญี่ปุ่นเจริญเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงทำให้กลุ่มเอสซีจีนำสื่อมวลชนบิดลัดฟ้าจากประเทศไทยไปญี่ปุ่น เพื่อชมงานและรับทราบถึงวิธีการแก้ไขปัญหานิคม อุตสาหกรรม 2 แห่งคือ เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาวา และโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ โดยเฉพาะการเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท มิตซุย เคมิคอลล์ ในจังหวัดชิบะที่กลุ่มเอสซีจีได้ร่วมถือหุ้นในบริษัทลูก และตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันจำนวน 3 แห่ง คือ บริษัท สยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด บริษัท แกรนด์ สยาม คอมโพสิต จำกัด และบริษัท ไทย เพ็ท เรซิน จำกัด สิ่งที่ได้เห็นจากเมืองคาวาซากิและโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ ในปัจจุบันโดยเฉพาะเมืองคาวาซากิ กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมสะอาด มีการจัดระบบจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจน และจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับโรงงานให้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Eco Town ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ หรือขยะจากโรงงานอื่นกลับนำมาใช้ใหม่ ส่วนโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่น การแก้ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมของทั้งสองเมืองไม่ได้แก้ไขในช่วงระยะเวลา สั้นๆ แต่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เหมือนดัง เช่นเมืองคาวาซากิต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ในขณะที่โรงงานอิจิฮาราในชิบะต้องใช้เวลา เกือบ 20 ปี เมืองคาวาซากิใช้เวลารักษาเยียวยา สภาพแวดล้อม รวมไปถึงชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงงานค่อนข้างนาน เพราะเมือง นี้กำหนดให้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก หลังจากประเทศแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 2488 ผลของการก่อร่างสร้างเมืองหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหนัก จึงทำให้โรงงานกว่า 100 แห่งในเมือง คาวาซากิสร้างมลภาวะเป็นพิษให้กับชุมชนอย่างคาดไม่ถึง จนเกิดโรคอย่างเช่น อิไต ที่เกิดจากโรงงานถลุงแร่ปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนลงในแม่น้ำ ทำให้เมล็ด ข้าวของชาวนาได้รับสารพิษดังกล่าว และอาการของโรคอิไตทำให้มีผลต่อการทำงานของสมองและมือสั่น นอกจากโรคอิไตยังมีโรคมินามาตะ โรงงานปล่อยสารพิษลงแม่น้ำ คนที่บริโภค ปลาจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ทำให้เด็กที่เกิดมาร่างกายไม่สมบูรณ์ ส่วนโรคโยไกชิเกิดในเมืองอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลปล่อยสารพิษทางอากาศส่งผลให้น้ำฝนเป็นกรด ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เมื่อประชาชนออกมาร้องเรียน โรงงานอุตสาหกรรมปฏิเสธที่จะชดใช้ จนเกิดการฟ้องร้องและมีการพิสูจน์ ผลลัพธ์ออกมาว่าประชาชนได้รับสารพิษจากโรงงานจริง เมืองคาวาซากิในอดีตเป็นเมืองเกษตรกรรม และประกอบอาชีพประมงเนื่องจากอยู่ติดกับอ่าวโตเกียว ท้องฟ้าสีฟ้า สดใสจนสามารถมองเห็นภูเขาไฟฟูจิอย่างชัดเจน แต่หลังจากโรงงานจำนวนมากเข้า มาท้องฟ้ากลับหม่นหมองไปด้วยหมอกควัน ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่าหน่วยงานรัฐไม่มีกฎหมายควบคุมมลภาวะ ป้องกันสิ่งแวดล้อมก่อนมีโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมลภาวะมากขึ้นประมาณปี 2493 จนพัฒนาความขัดแย้งไปสู่กระบวนการฟ้องร้อง เพื่อให้กฎหมายมอบความเป็นธรรม ความขัดแย้งไม่ได้แก้ปัญหาในทันที แต่ต้องใช้เวลา 10 ปีกำหนดกฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นยังต้องใช้เวลาอีก 10 ปีบริษัทเอกชนจึงจะยินยอมลงนามเพื่อควบคุมระบบการปล่อยสารพิษ ปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษที่เกิดจากโรงงานทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ที่ได้รับผลกระทบหันหน้ามาเจรจากันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ 3 ฝ่าย คือภาครัฐ บริษัทเอกชน และชุมชน การร่างกฎหมาย เงื่อนไข รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เริ่มทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมโรงงานจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลบังคับใช้ทั่วประเทศ ส่วนกฎหมายหรือกฎกติกาของเมือง สามารถกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทเอกชน ปฏิบัติเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องไปกับแต่ละเมืองที่แตกต่างกันไป การเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงเปิดให้มหาวิทยาลัยจำนวน 225 แห่งในญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาท และสิ่งสำคัญมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนามาช่วยดูแลปรับปรุงเทคโน โลยี ดูแลสิ่งแวดล้อม ทำงานควบคู่กันไประหว่างรัฐและเอกชน ความร่วมมือของกลุ่มโรงงานในเมืองคาวาซากิเกิดประสิทธิผลได้ เพราะส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลหลักก็คือบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นที่ออกกฎกติกา และบริษัทเอกชนก็ปฏิบัติตาม แต่มีบริษัทบางแห่งไม่สามารถปฏิบัติได้ก็จะถอนตัวและปิดบริษัทไปในที่สุด สิ่งที่น่าสนใจก็คือกฎกติกาบางอย่าง ที่เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นกำหนดขึ้นนั้น ไม่ได้มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่บริษัทเอกชนก็ยินยอมปฏิบัติตาม จะเห็นว่าการเคารพกฎของภาคเอกชน และเพื่อปกป้องชุมชนจะต้องกระทำด้วยความจริงใจ ปัจจุบันโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองคาวา ซากิมีค่อนข้างหลากหลาย เช่น โรงงานเหล็ก น้ำมัน ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานก๊าซธรรมชาติ จากสังคมเกษตรกรรมเปลี่ยนไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมทำให้คาวาซากิกลาย เป็นเมืองที่ส่งออกสินค้าระดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีจีดีพี 43.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งประเทศญี่ปุ่นมีจีดีพี 4.37 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรอาศัยอยู่ราว 1.4 ล้านคน กรณีศึกษาอีกหนึ่งตัวอย่างคือโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ ตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของฝั่งโตเกียว มีพื้นที่ 900 ไร่ มีโรงงานอยู่ 35 แห่ง เป็นโรงงานที่เกิดขึ้นหลังเมืองคาวาซากิ จึงทำให้มีปัญหาน้อยกว่า เพราะได้เรียนรู้จากเมืองคาวาซากิและโรงงานเกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาควบคุม แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม และโรงงานส่วนใหญ่เริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2498-2513 ทำให้บางครั้ง ก็มีสารพิษปล่อยออกมาเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงแรก โรงงานปล่อยน้ำเสีย จนทำให้เมือง Kisarazu ได้รับความเดือดร้อน จนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเข้าไปปิดทางเข้า-ออกโรงงาน บริษัท มิตซุย เคมิคอลล์ จำกัดเป็นหนึ่งในบริษัทก่อตั้งอยู่โรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ มาเป็นเวลา 43 ปี และเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มเอสซีจีในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทปิโตรเคมิคอลที่ผลิตวัตถุดิบสารเอทิลีนและโพรไพลีนเพื่อนำไปผลิตสินค้าประเภทแชมพู ชิ้นส่วนรถยนต์ ถุงพลาสติก เม็ดพลาสติก เป็นต้น ชุนจิ อิเคดะ ผู้จัดการทั่วไปโรงงาน อิจิฮารา เวิร์ค บริษัท มิตซุย เคมิคอลล์ จำกัด เล่าถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษทางน้ำ อากาศ และเสียง การควบคุมมลพิษทางน้ำจะบำบัดด้วยวิธีการทางชีววิทยา ส่วนทางอากาศจะมีอุปกรณ์กำจัดก๊าซมลพิษและเครื่องดักจับฝุ่น โดยเครื่องตรวจวัดจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานควบคุมสิ่งแวดล้อมของจังหวัดโดยอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง การควบคุมมลพิษทางเสียงจะปฏิบัติตามมาตรฐาน คือแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงเช้าและเย็น 6.00-18.00 น. และ 19.00-22.00 น. ระดับเสียงไม่เกิน 65 เดซิเบล ช่วงกลางวัน เวลา 8.00-19.00 น. ไม่เกิน 70 เดซิเบล และช่วงค่ำ 22.00-6.00 น. ไม่เกิน 60 เดซิเบล สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนที่มีต่อชุมชน ก็คือ บริษัท มิตซุยฯ ทำข้อตกลงร่วมกับจังหวัด ชิบะในการควบคุมปล่อยสารพิษ Nox หรือไนโตรเจนออกไซด์ และปริมาณฝุ่นละอองต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมในจังหวัด คือ กฎหมายกำหนดให้ปล่อยสาร Nox ให้ความเข้มข้นอยู่ในระดับ 190 ppm แต่บริษัทกำหนดปล่อยไม่เกิน 150 ppm ส่วนฝุ่นละอองปล่อยไม่เกิน 0.05 g/Nm3 ในขณะที่กฎหมายกำหนด 0.18 g/Nm3 ฮิโรชิ คิจิม่า ประธานสมาคมเมือง Shuku เล่าให้ฟังว่า เมือง Shuku ตั้งอยู่ข้าง โรงงานของบริษัท มิตซุย ห่างเพียง 3.7 กิโลเมตร เขายอมรับว่าในช่วงแรกที่โรงงาน เข้ามาก่อตั้งได้ส่งกลิ่นเหม็น แต่ก็ได้รับการแก้ไข ในอดีตแม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าบริษัทใดปล่อยน้ำเสียและสารพิษลงแม่น้ำ แต่ก็ทำให้ปลาฮาเซะกระดูกคด ทสึเนโอะ โอตะ ประธานชมรมเมือง Aoyagidai วัย 68 ปี บอกว่าการดูแลแม่น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมของโรงงาน อุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ทำให้แม่น้ำยังใสสะอาดและสามารถตกปลาได้เหมือนเช่นในอดีตเมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็ก ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขด้วยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย รัฐ ชุมชน และบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา กีฬา งานประเพณีต่างๆ ดูเหมือนว่าการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน สามารถสำเร็จได้ส่วนหนึ่งก็คือ “การดื่ม” หรือเรียกกันว่า “โนมิเคชั่น” เพื่อให้ความสัมพันธ์ทุกฝ่ายดูเป็นกันเองและง่ายขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับชุมชน ไม่ได้ทำเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือตั้งโครงการหรูๆ ขึ้นมาแล้วก็เงียบหาย แต่บริษัทได้ตั้งทีมงานเข้ามาดูแลคือ ทีมดูแลสิ่งแวดล้อม และทีมปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่ง เป็นเพราะรัฐท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง และการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด เคนจิ อิชิอิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย เศรษฐกิจ รัฐท้องถิ่นอิจิฮารา จังหวัดชิบะ บอกว่า จังหวัดชิบะอยู่ห่างจากโตเกียว 50 กิโลเมตร ประชากร 280,000 คน มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น มีสนามกอล์ฟถึง 32 แห่ง มีการทำเกษตรกรรม ปลูกสาลี่ หัวไชเท้า และข้าว โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างงาน สิ่งที่สำคัญหลังจากโรงงานเข้ามา จังหวัดชิบะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและมีเงินพัฒนาท้องถิ่นประมาณ 8 หมื่นล้านเยน ทำให้จังหวัดแทบไม่ต้องใช้เงินส่วนกลาง จากการเยี่ยมชมเมืองคาวาซากิ และโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ ทำให้เห็นช่องโหว่ของมาบตาพุดในด้านกระบวน การควบคุมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องคือ รัฐ บริษัทเอกชน และชุมชน ยังไม่เป็นรูปธรรม รัฐยังมีข้อบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทเอกชน ส่วนบริษัทเอกชน บางแห่งก็หย่อนยานที่จะปฏิบัติตามกฎหมายจนส่งผลให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อน ส่วนชุมชนขาดองค์ความรู้เพื่อต่อรองกับบริษัทเอกชน และไม่เข้มแข็งพอที่จะยื่นข้อเสนอเรียกร้องจากฝ่ายรัฐ นโยบายควบคุมสิ่งแวดล้อมยังขาดผู้รู้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การดึงสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและหาทางออกให้กับสิ่งแวด ล้อม และการไม่มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาควบคุมมลพิษ หรือการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐท้องถิ่นกับบริษัทเอกชน เพราะ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างทำและไม่มีการทำงานร่วมกับ ชุมชนแบบต่อเนื่อง รวมไปถึงกฎเงื่อนไขกติกาใหม่ๆ ที่นำมาบังคับใช้ไม่เคยมีการบังคับใช้มาก่อน จึงทำให้บริษัทที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง เช่น การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีต้นแบบ จากก่อนหน้านี้ได้กำหนดการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 65 แห่ง ต้องหยุดดำเนินกิจการ รวมถึงบริษัทในเครือของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี แม้ว่ากลุ่มเอสซีจีจะมีระบบป้องกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก็ตาม แต่ยังมีโรงงานบางแห่งยังไม่สามารถดำเนินการได้ คือ บริษัท ไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด อยู่ในส่วนโครงการผลิตเมธิลแมตาคลีเลต โรงงานที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด วัตถุดิบเอ็มเอ็มเอจะนำไปผลิตกระจก ไฟท้ายรถ และแผ่นป้ายโฆษณา โครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปลายปี 2552 แต่บริษัทต้องได้การรับรองมาตรฐาน HIA ก่อน และกระบวน การต้องใช้เวลาดำเนินงาน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ในส่วนของโรงงานมาบตาพุดที่มีบริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด บริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ยังดำเนินงานอยู่และปฏิบัติตามเงื่อนไขรักษาสิ่งแวด ล้อม และกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากบริษัท มิตซุย ในฐานะผู้ร่วมทุน โรงงานระยอง โอเลฟินส์ มีห้องปฏิบัติการกลางเพื่อดูแลควบคุมการปล่อยสารพิษในอากาศ และมีอุปกรณ์วัดค่าความร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ แม้ว่ากลุ่มบริษัทเอสซีจีตระหนักดีว่าโรงงานของบริษัทในเครือได้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศก็ตาม แต่บริษัทในฐานะบริษัทใหญ่เหมือนกับกลุ่มบริษัท ปตท.ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อชุมชนได้ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มเอสซีจีร่วมหารือกับบริษัท ปตท.สร้างโมเดลขึ้นมาเรียกว่า Partnership Model เพื่อทำหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ Communication การสื่อสารกับชุมชน ด้าน Corporate Social Re-sponsibility: CSR ดูแลรับผิดชอบสังคม ชุมชนต้องการสิ่งใด และ Operation การบริหารจัดการภายในองค์กร ในขณะที่กลุ่มเอสซีจีรับเป็นเจ้าภาพ ในฐานะผู้ประสานงาน มีเป้าประสงค์เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อต้องการกระตุ้นให้บริษัท ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ตระหนักรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม หากมองในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการสอดส่องบริษัทที่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็อาจได้รับการต่อต้านจากบริษัทส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้บริษัทบางแห่งต้องย้ายออกไปก็เป็นได้ เหมือนอย่างเมืองคาวาซากิ ภาครัฐก็ดูเหมือนว่ากำลังพยายามที่จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน รับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด มีอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พร้อมกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือ ภาคประชาชน กรรมการประกอบด้วย ชูชัย ศุภวงศ์, เรณู เวชรัชต์พิมล, สุทธิ อัชฌาศัย และหาญณรงค์ เยาวเลิศ ภาครัฐ กรรมการประกอบด้วย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ปลัดกระทรวงทรัพยา-กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวง สาธารณสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (โกศล ใจรังษี) ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการประกอบด้วย เดชรัตน์ สุขกำเนิด, ธงชัย พรรณสวัสดิ์, สุทิน อยู่สุข, สมฤดี นิโครวัฒนยิ่งยง และสมรัตน์ ยินดีพิธ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ กรรมการประกอบด้วย ชายน้อย เผื่อนโกสุม, พยุงศักดิ์ ชาติวิสุทธิผล, มหาบีร์ โกเดอร์ และรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส บทเรียนจากเมืองคาวาซากิและโรงงานอิจิฮารา จังหวัดชิบะ น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อาจนำไปเป็นต้นแบบเพื่อเรียนรู้ได้บ้าง โรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า แต่ชุมชนมาบตาพุดก็ควรจะได้รับคุณภาพชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น