วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมพวก ยื่นคำแถลงปิดคดีมาบตาพุดต่อศาลปกครองกลาง
วันนี้ (26 ส.ค.) ยันชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง ระยอง เดือดร้อนเสียหายแสนสาหัสจากปัญหามลพิษอุตสาหกรรมท่วมเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่การลงทุนไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ระงับกิจการชั่วคราว เพราะนายกรัฐมนตรีโอ่เศรษฐกิจโตถึง 10% ส่วนบริษัทลงทุนผลกำไรเบ่งบานถ้วนหน้า
วันนี้ (26 ส.ค.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวก ผู้ฟ้องคดี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพวก ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลปกครองกลาง สำหรับคำแถลงปิดคดีของผู้ฟ้องคดี มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ที่ศาลปกครองกลาง ห้องพิจารณาคดีที่ ๘ และศาลได้ส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนมาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ผู้ฟ้องคดีขอส่งคำแถลงรวมให้ศาลทราบเพื่อประกอบการวินิจฉัย พิพากษาคดีของศาล ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ฟ้องคดีใคร่ขอยืนยันต่อศาลว่าผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบนิคมต่าง ๆ ๕ นิคมในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งข้อมูล รายละเอียด งานวิจัย บทความ รายงานการประชุม สถิติ รูปภาพเชิงประจักษ์ ข้อมูลข่าวสารรายงานข้อเท็จจริงจากสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏในเอกสารคำฟ้อง คำคัดค้านคำให้การ และคำแถลงต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง คำคัดค้านคำให้การ และคำแถลง ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งได้ส่งให้ศาลได้ทราบและพิจารณาแล้ว ข้อ ๒ หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ความแจ้งแล้วนั้น เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเดือดร้อนและความเสียหายยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อสารมวลชน และไม่ปรากฏเป็นข่าวอีกมากมาย เช่น - วันที่ ๕ ถึง ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เกิดก๊าซรั่วจากเรือขนส่งสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือมาบตาพุด ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับผลกระทบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีอาการแสบตา ตาพร่า เจ้าหน้าที่การนิคมฯ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลกว่า ๒๐ ราย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ไปแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายประสาน มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กรุงเทพมหานครและคณะก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๑) - วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เกิดเหตุการณ์ ๒ เหตุซ้อนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เหตุที่หนึ่ง เกิดกลิ่นก๊าซโชยคละคลุ้งมาบตาพุด-ควันดำปกคลุมท้องฟ้าเหนือโรงงานไออาร์พีซี เหตุที่สอง เกิดเหตุก๊าซรั่วบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ ๕ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จนต้องอพยพคนงานก่อสร้าง รวมทั้งพนักงานโรงงานสยามแผ่นเหล็กวิลาศ และพนักงานโรงงานใกล้เคียงออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันอันตรายกันจ้าละหวั่น ทั้งนี้ คนงานก่อสร้างใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ที่ได้รับกลิ่นเหม็นก๊าซ ต่างมีอาการแสบคอ วิงเวียนศีรษะ และแน่นหน้าอก ต้องนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด ๖ คน (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๒) - วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ ๕ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ต้องหยุดระบบการผลิตทันที ทำให้ระบบบำบัดต้องหยุดทำงานไปด้วย และมีผงฝุ่นสีเทาตกค้างในระบบการผลิต เป็นเหตุให้ต้องระบายออกทางปล่อง ทำให้เกิดกลุ่มควันสีเทาฟุ้งกระจายจับท้องฟ้า ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงไปพบประชาชนที่บริเวณวัดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๓) - วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลออกมาจากบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออกในมาบตาพุด ทำให้พนักงานบริษัท คนงาน ต้องถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า ๒๕๙ คน ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองกลาง ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เพราะเข้าใจว่าเป็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือลดมลพิษ (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๔) - วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เกิดเหตุควันพิษรั่วไหลออกมาจากโรงงานบริษัท อูเบะกรุ๊ป (ไทยแลนด์ จำกัด) พื้นที่ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทำให้คนงานผู้รับเหมาก่อสร้าง 9 รายสูดดมควันพิษ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพฯระยอง (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๕) ศาลที่เคารพ เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวที่ยกมาอธิบายให้ศาลเห็นเป็นตัวอย่างนั้น ณ ปัจจุบันนี้หน่วยงานของรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดี ก็ยังไม่สามารถจับกุม หรือส่งเรื่องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรายใดได้ หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่า ต้นเหตุหรือแหล่งกำเนิดมลพิษที่แท้จริงมาจากโรงงานใด ที่ใด แต่ทางกลับกันกลับพยายามให้ข้อมูลที่สับสนว่า การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีมีมาตรฐาน เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐหรือสากลกำหนด มีการตรวจสอบ ตรวจวัดอากาศ ตรวจวัดมลพิษอยู่เสมอ ด้วยเครื่องมือ ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและราคาแพง แต่ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรมโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ก็คือ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินงานได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการหรือในหลักเกณฑ์ทางกฎหมายหรือเงื่อนไขที่กำหนด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือดูแลแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สุดท้ายคนงาน พนักงาน ชาวบ้าน ประชาชน ก็ต้องตกมาเป็นผู้รับกรรมในขณะที่ตนมิได้ก่อขึ้นหรือกระทำขึ้น หากแต่เป็นเพราะผู้ถูกฟ้องคดี หน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดต่างหากมีอำนาจที่จะดำเนินการหรือจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่ทำหรือทำแต่ก็ไม่เคยเห็นผลสำเร็จหรือเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ศาลที่เคารพ เหตุการณ์เหล่านี้มิใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่เป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำให้การหรือคำแถลงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหลาย ที่มักอ้างว่าได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นอีก ประจักษ์พยานเหล่านี้คือ ตรรกะ (Logic) ที่แท้จริงโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ที่มิต้องเสแสร้ง เป็นคำตอบที่แท้จริง จึงใคร่ขอเสนอให้ศาลได้พิจารณาเป็นข้อเท็จจริง ฯลฯ ข้อ ๓ ศาลที่เคารพ วันนี้ศักยภาพของการรองรับมลพิษของพื้นที่มาบตาพุด (Over Carrying Capacity) นั้นเต็มแล้ว ไม่เพียงพอที่จะรองรับการขยายหรือก่อสร้างเพิ่มเติมของโครงการหรือกิจกรรมของโรงงานทุกประเภทได้ เปรียบเสมือนดั่งน้ำที่มีอยู่ปริ่มล้นแก้ว หากเพียงแต่ใส่เศษหิน ดิน ทรายลงไปเพียงน้อยนิด น้ำหรือมลพิษ ก็จะล้นแพร่กระจาย มากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ทุกขณะเวลา แม้หน่วยงานรัฐและผู้ถูกฟ้องคดี โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและคณะทำงาน ให้เข้าไปศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายต่อหลายชุด เริ่มตั้งแต่หลังจากที่มีปรากฎการณ์การแพร่กระจายของก๊าซรั่ว (VOCs) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๑ จนต้องย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารทั้งโรงเรียน ออกไปสร้างในที่แห่งใหม่หลังศาลปกครองระยอง คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวก็ไม่สามารถออกมาแถลงรายงานสรุปผลให้สาธารณะชนทราบได้ ก็เพราะเกรงว่าจะเป็นหลักฐานที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไปได้ รวมทั้งล่าสุดคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายฯ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ ก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ เข้าไปศึกษาหาศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว จนสามารถสรุปผลส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และดำเนินการตามข้อแนะนำ แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็หาได้ใส่ใจต่อข้อมูล ข้อแนะนำเหล่านั้นไม่ แต่กลับที่จะสนใจหรือทำทุกวิถีทางที่จะสนองประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนหรือไม่สนใจรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่เคยให้คำมั่นต่อรัฐสภา เมื่อคราวแถลงนโยบายเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑เลย โดยเฉพาะพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง ๗๖ โรงงานที่ผู้ฟ้องคดีได้นำเสนอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลได้มีเมตตามีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีมาแล้วอย่างออกหน้าออกตา ข้อมูลสรุปรายงานผลการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่มลพิษ ปัจจุบันนี้อยู่ในการครอบครองของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอศาลได้โปรดมีหนังสือหรือคำสั่งเรียกเอกสารรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะมาพิจารณาด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อคดีนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อ ๔ ศาลที่เคารพ ผู้ฟ้องคดีต่างเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ผู้ฟ้องคดีต่างรู้ดีว่ากำลังต่อสู้คดีกับอำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ บุคลากรของรัฐ ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมาเปิดเผย ให้ข้อมูล หรือให้ปากคำต่อศาลก็ย่อมที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้มิได้เกินไปกว่าความคาดหมายของสังคมเลย ดังกรณีตัวอย่าง ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดนั้นเกินศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับได้แล้ว จนศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาในคดีแดงที่ ๓๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ มาแล้วโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ยอมรับและประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา ความดังกล่าว ก็น่าที่จะเป็นนัยยะที่ควรรู้หรือต้องรู้ของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังในการที่จะอนุมัติหรืออนุญาตให้มีการขยายหรือก่อสร้างเพิ่มเติมโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อนก่อนการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวได้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะเคยมีแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสียดำเนินงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ แล้วก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะบังคับให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรม ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศไม่ แต่กลับมายกเลิกเสียเมื่อผู้ประกอบการออกมาท้วงติง นั่นแสดงให้เห็นพฤติการณ์ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเลย หรือถ้าใส่ใจก็เป็นเพียงเล่ห์กล ที่กระทำการอย่างใดก็ได้ภายใต้อำนาจรัฐฝ่ายบริหารทางปกครอง ที่คิดว่าอยู่เหนือประชาชนเท่านั้น ศาลที่เคารพ กรณีเหล่านี้ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านต่างยืนยันแล้วว่าพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง Over Carrying Capacity แล้วดังปรากฏข้อมูลที่ส่งให้ศาลแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่บุคลากรและหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การให้คุณให้โทษของผู้ถูกฟ้องคดี ยังพยายามบิดเบือนหลักการอันเป็นตรรกะของธรรมชาติเสมอ ดังกรณีตัวอย่าง นโยบายการลดมลพิษ ๘๐ : ๒๐ ที่อ้างว่าจะช่วยลดมลพิษได้ในอนาคต ที่ว่า โรงงานเดิมต้องลดมลพิษให้ได้ ๒๐ % ก่อน จึงจะอนุญาตให้ก่อสร้างหรือขยายโรงงานต่อไปได้ ซึ่งก็จะไปเพิ่มมลพิษเข้าไปใหม่อีก ๘๐ % ซึ่งยิ่งขยายยิ่งก่อสร้างจะช่วยลดมลพิษได้อย่างไร มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นโครงการหรือกิจกรรมของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรม หากมีการอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้ ก็ยิ่งจะทำให้มลพิษที่ล้นพื้นที่อยู่แล้วมีปัญหาการแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น ความเดือดร้อนและเสียหายของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านก็จะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ศาลที่เคารพ กฎหมายได้มีช่องทางหรือทางออกสำหรับการพัฒนาไว้แล้ว นั่นคือ การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ต่อไป เพื่อที่ประชาชนจะได้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดความรู้ความเข้าใจ และรับทราบถึงมาตรการ เงื่อนไข หรือวิธีการในการที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ภายใต้ความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือ CSR - Corporate Socials Responsibility หรือ CG - Corporate Governance of the organization ผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรมต่างได้รับความเห็นชอบในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิเสธ หรือการพยายามใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการไปกำหนดเงื่อนไข หรือมีมติใด ๆ ทางปกครองเพื่อช่วยเหลือ เพื่ออุ้มชูผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมนำไปสู่การขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ ๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ดังกรณี มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้อำนาจทางปกครองประกาศประเภทโครงการรุนแรงออกมา ๑๑ ประเภทโครงการ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายฯ ที่เสนอโครงการรุนแรงฯ ไปทั้งสิ้น ๑๘ โครงการ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ก็ได้เคยมีหนังสือทักท้วงไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ แล้ว ก็หาได้ใส่ใจต่อคำทักท้วงดังกล่าวไม่ (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๖) ชอบแต่จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสีย ให้ไม่ต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๗ วรรคสอง โดยชัดแจ้ง ข้อ ๕ ศาลที่เคารพ นับแต่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ แล้วนั้น หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียต่างออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชนมากมายเพื่อกดดันสังคมว่า คำสั่งของศาลมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องสูญเสียรายได้กันเป็นหมื่น เป็นแสนล้าน แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ณ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า คำสั่งของศาลไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังคำให้สัมภาษณ์หรือการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๐ ปีกระทรวงพาณิชย์ ที่ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พาณิชย์ร่วมภาคธุรกิจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย"ว่า ภาคการส่งออกถือว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกสูงกว่า ๑๐ % และเชื่อมั่นว่าจะทำให้จีดีพีทั้งปี ๒๕๕๓ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า ๗ % (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ) ในขณะเดียวกันเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อมูลดังกล่าวเช่นกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีแรกมีการขยายตัวอยู่ที่ ๑๐.๖ % ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในรอบครึ่งปีแรกที่สูงสุด... (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๗ ) นอกจากนั้น นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เช่นกันว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน ๕๓๔ บริษัท หรือ ๙๔ %ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ๕๖๖ บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ๒๗ กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ แล้ว โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมกำไรสุทธิงวด ๖ เดือน จำนวน ๒๙๒,๙๘๑ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีกำไรรวม ๒๑๘,๒๔๐ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ๓๔ % ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส ๒ ปี ๒๕๕๓ บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวม ๑๒๙,๖๖๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้น๑ % จากงวดเดียวกันของปีก่อน (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๘ ) ศาลที่เคารพ ณ วันนี้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมตื่นตัวแล้ว ภายใต้สิทธิและหน้าที่ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ประชาชนชาวไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน ต่างมีศักดิ์มีศรีของความเป็นมนุษย์เป็นคน ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองเสมอหน้ากัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้าน โดยชัดแจ้ง โดยปริยายแล้ว มิต้องคำนึงถึงสิ่งใดนอกเสียจากสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตกราบเรียนมายังศาล เพื่อโปรดเมตตาพิจารณาพิพากษาไปตามคำขอของผู้ฟ้องคดีด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ลงชื่อผู้ยื่นคำแถลง นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑,นายวีระ ชมพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓,นายเกียรติภูมิ นิลสุข ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐,นางสาวอมรรัตน์ โรจนบุรานนท์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๐, นายสำนวน ประพิณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐,นายธนวัฒน์ ตาสัก ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๕, นายโชคชัย แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๔๐, นางวนิดา แซ่ก๊วย ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๔๓ และนางสาวรัตนา ผาแก้ว ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น