ระยอง - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จัดเวทีวิเคราะห์และทบทวน 11 โครงการรุนแรง เตรียมยื่นนายกรัฐมนตรีอย่ารีบร้อนประกาศ เพราะข้อมูลทางวิชาการยังไม่นิ่ง

วันนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและภาคีภาคประชาชน จัดประชุมวิเคราะห์และทบทวน 11 ประเภทโครงการรุนแรง โดย นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ และ นางภารณี สวัสดิ์รักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ร่วมเสวนา ท่ามกลางประชาชนในเขตภาคตะวันออกร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่เคยฟ้องคดีร่วมกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนหลายคดี อาทิ คดีฟ้องโรงไฟฟ้าสระบุรี โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนพนมสารคาม คดีป่าพรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมาบตาพุด จ.ระยอง ฯลฯ ให้มารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองกลางในวันที่ 2 กันยายน 2553 นี้
เพราะคำพิพากษาศาลปกครองกลางในวันดังกล่าวจะมีผลต่อทุกคดีที่ฟ้องร้อง ไม่ว่าจะฟ้องในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หรือฟ้องในนามสภาทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางคดี ทุกคดีมีความเกี่ยวพันกับการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ทั้งสิ้น และหากคำพิพากษาออกมาเหมือนเช่นเดียวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด จะถือเป็นบรรทัดฐานที่จะนำไปสู่การเฝ้าระวัง คุ้มครองสิทธิชาวบ้านทุกโครงการทั่วประเทศ
แต่หากคำพิพากษาไปในแนวเดียวกันกับตุลาการผู้แถลงคดี จะทำให้เห็นและสามารถฟ้องประชาชนที่ไปรับฟังคำพิพากษาในวันนั้นได้ว่า ความยุติธรรมหรือเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ที่ชาวบ้านทั่วประเทศได้ร่วมกันประชามติสามารถบังคับได้จริงหรือไม่ ส่วน 11 ประเภทโครงการรุนแรง วันนี้ คงได้มีผู้ร่วมฟ้องคดีจำนวนหนึ่งในภาคตะวันออก เท่านั้น และจะไปขอใบรับมอบอำนาจจากพี่น้องประชาชนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้เคยไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน
เพราะทุกภูมิภาคถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ร่วมให้ความเห็นในการกำหนดประเภทโครงการรุนแรงมาแล้ว เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ได้เอาข้อเสนอของชาวบ้านที่ให้ข้อคิดเห็นมา มาเป็นมติของโครงการในทางที่ถูกต้องถือว่าเป็นการลงมติที่มิชอบ ขัดต่อกฎหมาย ไม่ตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองปี 2542 มาตรา 9(1) ซึ่งประชาชนในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เคยให้ความเห็นในเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จึงมีอำนาจฟ้องได้ทันที และคดีนี้จะเป็นอีกคดีหนึ่งทางประวัติศาสตร์ว่า คำสั่งโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ศาลปกครองเท่านั้นที่จะให้คำตัดสินสุดท้ายว่าเป็นเช่นไร
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า วันที่ 31 สิงหาคมนี้จะไปยื่นหนังสือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณียังไม่สมควรประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยังไม่นิ่ง เมื่อข้อมูลทางวิชาการไม่นิ่งพอประกาศออกมาแล้ว ก็จะมีผู้ไม่เห็นด้วย ภาคต่างๆ ก็ออกมาร้องเรียนแสดงไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก คือ ข้อมูลทางวิชาการต้องนิ่งก่อน และการกำหนดประเภทพื้นที่ก็ต้องนิ่งด้วยเช่นกัน ว่าพื้นที่ไหนสมควรที่จะถูกกำหนดว่าโรงงานที่จะตั้งเป็นโครงการรุนแรงหรือไม่รุนแรง ต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อน
หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ยื่นหนังสือทักท้วง ก็เตรียมยื่นฟ้องศาลให้มีการยกเลิกการประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง และพร้อมจะปราศัยกับรัฐบาลกรณีปัญหามาบตาพุด และอาจมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั้งประเทศหรือที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาและสถานที่


ป้ายแบบไหน - ควรถือไปด้วย ไปฟังคำสั่งศาล - โครงการที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงของรัฐบาล แต่เสี่ยงมหันตภัยใหญ่หลวงของ คนมาบตาพุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น