วันนี้ นายรังษี จุ้ยมณี ปธ.ฝ่ายสิ่งแวดล้อม หอการค้าระยอง ได้ไปยื่นหนังสือกับนายกอภิสิทธิ์อีกครั้ง เรื่องโรงแยกก๊าซ ปตท. เสี่ยงไม่ตอกเสาเข็มฐานรากทั้งหมด และมีการอภิปรายประเด็นนี้ต่อโดย ตัวแทนของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ทั้งที่เรื่องราวนี้ นายกอภิสิทธิ์รับไปกับมือ เมื่อ 16 มกราคม 2553 ที่มาบตาพุด ผ่านมา 7 เดือนแล้ว กำลังจะเป็นปัญหาร้อนของมาบตาพุด ขณะนี้
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มงาน ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนและติดตามผลกานดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ มาให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี และมีการเปิดวีดีทัศน์เรื่อง “อุบัติภัยสารเคมี ความลับที่รู้เมื่อสาย” ให้นายกฯ และผู้ร่วมงานได้ชม
จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมีกับความเชื่อมั่นของประชาชน” ว่าอยากจะย้ำคือรัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหามาบตาพุดและปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ อยู่บนพื้นฐานสำคัญ 4 ประการ
ประการแรก คือ จะต้องมีระบบข้อมูลและระบบการมีส่วนร่วมที่เป็นหัวใจสำคัญ และการมีส่วนร่วมเพื่อไปสู่ข้อสรุปและแนวทางบนความสร้างสรรค์ต้องมีข้อมูลเพียงพอ
ประการที่สอง คือ การพัฒนาบุคลากร เพราะปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงเทคนิคและต้องมีความรู้เรื่องของสารเคมี เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ที่น่าตกใจคือในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองที่บุคลากรด้านอาชีวะเวชศาสตร์ไม่มีเลย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีการดำเนินการเพื่อสร้างบุคลากรส่วนนี้ขึ้นมา
ประการที่สาม คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนภูมิภาค ส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัญหาหลายครั้งก็เกิดจากการบูรณาการ หรือปัญหาเกิดจากการที่บางครั้งเรามีกฎหมายเพื่อเข้ามาทำเรื่องเดียวกันมากเกินไป ซึ่งมีบางพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่มาบตาพุดจังหวัดระยอง แต่เป็นพื้นที่อื่น ปัญหามลพิษประชาชนได้รับผลบกระทบเชิงสุขภาพอย่างชัดเจน แต่ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าฟันธงว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากใคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็บอกว่าน่าจะไปใช้กฎหมายโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมก็บอกว่าน่าจะใช้กฎหมายสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่าน่าจะใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม
"สามหน่วยงานกฎหมายสามฉบับ เหตุผลที่ไม่มีใครอยากใช้กฎหมายของตัวเอง เพราะไม่มีใครอยากถูกฟ้องจากเอกชน ว่าถ้าไปใช้อำนาจก็เป็นปัญหาที่น่าตกใจมาก ซึ่งขณะนี้ได้ให้ นายชัยวุฒิ บรรรวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ไปดูแล และการจะใช้อำนาจจะขอความร่วมมือจากกะทรวงสาธารณสุข ให้ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชน อย่างต่อเนื่อง"
นายกฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานต่อครม.ถึงพื้นที่มาบตาพุดว่ากำลังไปไล่ดูว่าการไม่ปฏิบัติตามอีไอเอและข้อกฎหมายมีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงตรวจสอบกรณีของถังแก๊สล้มแล้วรั่วและเหตุการทั้งหมดก่อนที่จะมีการอนุญาตเพื่อให้มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสุดท้าย คือ การติดตามและประเมินผล ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งของประชาชนต้องพึ่งพาระบบอาสาสมัคร และที่สำคัญต้องสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้ถ้าเราปรับปรุงในสี่ด้านนี้ได้ก็น่าจะทำให้การแก้ไขมีระบบและดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่จะเป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น นายกฯ กล่าวถึงปัญหาสารเคมีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองว่า แนวคิดการปรับปรุงของรัฐบาล คือ
1. เชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันกออกสิบปีที่ผ่านมาพบว่าหลังมีการพัฒนาระยะหนึ่งตามแผน พบว่าการวางผังเมืองไม่เป็นตามแนวทาง จึงเป็นจุดอ่อนของปัญหาที่หน่วยงานมองแต่การแก้ปัญหาของตัวเอง เมื่อการพัฒนาขยายตัวก็เกิดปัญหาเชิงระบบ ขาดระบบกลไกแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งบทเรียนจากพื้นที่นั้นทำให้การกำหนดแนวทางชัดเจนว่าการพัฒนาต้องวางแผนและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของชุมชน
2. การแก้ไขปัญหาหลายจุดเกิดจากค่านิยมพื้นในที่ที่เป็นเรื่องของสังคมไทยคือการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งแวดดล้อม ที่มีการกำหนดอีไอเอแต่เมื่อมีการทำรายงานไปแล้วยังพบว่าการติดตาม-ประเมินยังเป็นจุดอ่อนอยู่มาก
3. วัฒนธรรมเกี่ยวกับความปลอดภัย การประกอบการ การขนส่งคมนาคม รัฐบาลจึงกำหนดให้ปี 53 ต้องเป็นปีแห่งความปลอดภัยที่จะเป็นกรอบให้ทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติงานด้านเป็นระบบอย่างบูรณาการ
สถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง
มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 11 สิงหาคม 2553 13:43:40 น.
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้ สช. รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยในส่วนของคณะทำงานที่จะจัดตั้งขึ้นให้มีผู้แทนของกรมโรงงาน อุตสาหกรรมร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า
1. ในการประชุม คสช. ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 คสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอข้อเสนอ เชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่จังหวัดระยองต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และให้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา สนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของ คสช. ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานความ คืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ ให้สศช. ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
2. ในการประชุม คสช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 คสช. รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ โดยเฉพาะรายงานการศึกษาสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์อุบัติภัยสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์รั่วไหลออกจากถังกักเก็บของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตสารเคมีหลายชนิด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ดังมีสถานการณ์และข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้
2.1 สาเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณโดยรอบ
เหตุการณ์เกิดจากถังสารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ล้มกระแทกกับกำแพงซีเมนต์แล้วตกกระแทกกับท่อกรดไฮโดรคลอริก (HCI) ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเป็นก๊ษซคลอรีนมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและทำลายระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาบตาพุด จำนวน 1,434 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต
2.2 ข้อบกพร่องของระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล
จากการวิเคราะห์มาตรการตามรายงานอีไอเอ คณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ ได้พบ ข้อบกพร่อง ดังต่อไปนี้
2.2.1 ไม่มีการประเมินผลกระทบและไม่มีกำหนดมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังรวมทั้งแผนรับมือจากการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี
2.2.2 คนงานก่อสร้างจำนวนมากในโรงงานพีทีที อาซาฮี ซึ่งได้รับผลกระทบทันทีจากโรงงานต้นเหตุ ไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยใด ๆ
2.2.3 โรงพยาบาลมาบตาพุด มีสถานที่และบุคลากรไม่เพียงพอในการรับมือกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมี
2.2.4 จำนวนถังเก็บสารเคมีที่โรงงานชี้แจงกับในรายงานอีไอเอไม่ตรงกัน
2.2.5 เมื่อเกิดเหตุทางบริษัทแจ้งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทราบเพียงแห่งเดียว ไม่ได้แจ้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย จึงเกิดความล่าช้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
2.2.6 การแจ้งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ของการนิคมฯ ขาดข้อมูลที่สำคัญหลายส่วน เช่น ชื่อสารเคมีที่เกิดการรั่วไหล ทิศทางการแพร่กระจายของสารเคมีและแนวทางในการป้องกันตนเอง และจำนวนผู้รับข้อความมีจำนวนน้อยเกินไป (ประมาณ 400 คน)
2.2.7 ไม่มีการแจ้งเหตุหรือสัญญาณเตือนภัยกับชุมชน
2.2.8 ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่ทราบแนวทางการอพยพและการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติภัย
2.3 ประเด็นปัญหา
จากการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงพบประเด็นปัญหา ดังนี้
2.3.1 การแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและการแจ้งเหตุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า แต่ละโรงงานมีการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและขั้นตอนในการสื่อสารกับการนิคมฯ ไม่เหมือนกัน และแตกต่างจากการนิคมฯ และหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ เกณฑ์การแบ่งระดับที่ว่าหากเป็นเหตุฉุกเฉินระดับหนึ่ง โรงงานจะไม่แจ้งเหตุกับหน่วยงานใดเลยต้องมีความร้ายแรงระดับสองและสาม จึงจะมีการแจ้งการนิคมฯ ทำให้เกิดปัญหาที่โรงงานไม่สามารถแจ้งเหตุและ รับมือกับเหตุฉุกเฉินได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
2.3.2 ในขั้นตอนการเผชิญเหตุของทางโรงงานไม่มีการตรวจวัดค่าความเข้มข้นของมลพิษอากาศในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่ควรดำเนินการเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับฝ่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และหน่วยเผชิญภัย เป็นต้น
2.3.3 ในขั้นตอนการประกาศเหตุฉุกเฉินของหน่วยราชการ พบว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองมีการประกาศเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลมาบตาพุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบด้วยในขณะที่ทางจังหวัดระยองมีการดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการประกาศเหตุฉุกเฉิน จึงเกิดอุปสรรคในหลายด้าน เช่น บุคลากรสาธารณสุขต้องไปจัดการจราจรแทนที่จะเป็นตำรวจจราจรออกมาทำหน้าที่ตามการประกาศเหตุฉุกเฉินของจังหวัด เป็นต้น
2.3.4 การเยียวยาและความรับผิด พบว่า
(1) การตรวจสอบสาเหตุของอุบัติภัยที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขปรับปรุง ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับค่าจ้างจากบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงาน ต้นเหตุ จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อถือได้และความโปร่งใสของการตรวจสอบ
(2) การรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บเป็นระยะเวลา 7 วันของทางบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีเพียงแนวทางกว้าง ๆ แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขอบเขตความรับผิดชอบและผู้ได้รับผลกระทบ เช่น คนงานและชาวบ้านยังไม่ทราบ หรือยังสับสนไม่ชัดเจน จึงยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล
(3) การเยียวยาและความรับผิดชอบอื่นๆ ของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่ชัดเจน เช่น ค่าชดเชยการเจ็บป่วย ผลกระทบและความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ความรับผิดทางอาญา และความรับผิดทางแพ่งอื่นๆ
2.4 ข้อเสนอต่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ ใกล้เคียง
คณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ มีข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้
2.4.1 พัฒนาระบบการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินให้สอดคล้องกันทุกโรงงานและหน่วยงาน
2.4.2 กำหนดให้โรงงานต้องแจ้งไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินในทุกระดับ โดยความรุนแรงระดับหนึ่งอาจแจ้งบางหน่วยงาน แต่ต้องไม่จำกัดเฉพาะการนิคมฯ ควรรวมถึงหน่วยงานสาธารณสุข (สายด่วน 1699) และป้องกันภัยจังหวัดด้วย ส่วนความรุนแรงระดับสอง และสามต้องแจ้งหน่วยงานและชุมชนทันที
2.4.3 กำหนดมาตรการและขั้นตอนในการเผชิญเหตุการระงับและการแก้ไขให้ครบถ้วน ชัดเจน โดยต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีการลงโทษที่เหมาะสม
2.4.4 ทางจังหวัดต้องตัดสินใจประกาศเหตุฉุกเฉินให้เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติภัย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการและเป็นระบบโดยมีการประสานงานที่ดี
2.4.5 การสืบสวนกรณีการเกิดอุบัติภัย (After Incident Investigation) ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและต้องไม่รับค่าจ้างและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงงานต้นเหตุ และต้องสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ล่าช้าเกินไปและเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ
2.4.6 บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยให้มีการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ค่าความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรับผิดทางอาญา
2.5 มติ คสช. ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 18 มิถุนายน 2553
คสช. มีมติรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานคณะกรรมการศึกษา สนับสนุนฯ กรณีการแก้ไขผลกระทบต่อสุขภาพจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง และให้นำสถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ—
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เรื่อง ผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ครั้งที่ 1/2553 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด ครั้งที่ 1/2553
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (25 พฤษภาคม 2553) ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมประสานบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตังสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบเขตประกอบการพร้อมอุปกรณ์ตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยและป้ายแสดงผล โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการสาธารณสุขชุมชนโดยรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรม โดยมีความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพระบบเฝ้าระวังในสถานีตรวจวัด สรุปได้ดังนี้
1.1 การติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ : บริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ 4 สถานี คงเหลืออีก 1 สถานี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมิถุนายน 2553 โดยทุกสถานีสามารถตรวจวัดสารมลพิษหลัก ได้แก่ SO2, Nox, และ PM10
1.2 การจัดหารถตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (1 คัน) และชุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบเคลื่อนที่เร็ว (2 ชุด) : บริษัทฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยรถตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศสามารถตรวจวัด SO2,Nox,O3, PM10,CO และสารอินทรีย์ระเหยในรูปของ NMHC และ BTEX ส่วนชุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบเคลื่อนที่เร็วสามารถวัด SO2,Nox, PM10 และ NMHC
1.3 การติดตั้งป้ายแสดงผล (Display board) ในสถานที่สาธารณะ : บริษัทฯ จะได้ทำการ ติดตั้งป้ายแสดงผล จำนวน 2 จุด และมีแผนจะติดตั้งอีก 1 จุด ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดสถานที่ที่เหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2553
1.4 การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิ่งแวดล้อม : บริษัทฯ ได้จัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2553
2. ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 สิงหาคม 2553--จบ—
"มาร์ค"เร่งล้อมคอก พื้นที่กันชน เขตอุตสาหกรรม
ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีความรู้ด้านเคมี รวมทั้งเชื่อมโยงกับหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของ กฎหมาย…
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้ (11 ส.ค.) ระหว่างปาฐกถาเปิดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง"การทบทวนและปรับปรุง ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2557"หัวข้อ"ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเคมีกับความเชื่อ มั่นของประชาชน"ของคณะกรรมการศึกษาสนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการ แก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ตอนหนึ่งว่า อุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีที่มาจากเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด รัฐบาลได้พยายามที่จะปรับปรุงการทำงานและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด อาทิ การให้ความสำคัญกับกระบวนการการพัฒนาที่ยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมาย การติดตามหรือการประเมินว่าได้มีการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ตลอดจนการขนส่ง คมนาคม
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลได้ดำเนินการ คือ การประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นการประกาศตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หลังจากที่มีคดีความขึ้นสู่ศาลปกครอง แม้จะเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดก็ตามแต่การตัดสินใจตรงนี้ได้ใช้หลักการว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะเป็นแนวทางที่ทำให้ตัวจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอโครงการหรือมาตรการต่างๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบจากเรื่องของมลพิษ ปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการอนุมัติโครงการตามข้อเสนอ กลไกตาม เขตควบคุมมลพิษที่ได้มีการนำเสนอมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำจัดขยะ หรือของเสียต่างๆ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับการดำเนินการตามมาตร 67 วรรคสอง ทางรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้ได้มีการเร่งผลักดันในเรื่องของระบบข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันให้ ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้อนุมัติเรื่องการปรับปรุงในส่วนการให้บริการของโรงพยาบาล และการตรวจสุขภาพ ในพื้นที่ แต่ปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดสรรพื้นที่ที่เป็นกันชนระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมที่ต่างมีการขยายตัว เข้าหา รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานระบบข้อมูลและระบบ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่เคยได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นระบบข้อมูลจึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้กระบวนนี้ สามารถเดินไปได้ นอกจากนี้จะพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในเชิงเทคนิค ความรู้ในเรื่องของสารเคมีต่างๆ ควบคู่กับการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง และองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เกิดการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งความเข้มแข็งของภาคประชาชน และพึ่งพาระบบอาสาสมัครในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงกับหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของ กฎหมาย ความเป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนข้อมูล การบูรณาการในส่วนของการทำงานของหน่วยงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น