วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เงินอุดหนุน ก๊าซ แอลพีจี และ ปตท.ส่อเค้าเดี้ยง ถ้าไม่เลี้ยงไข้

"แต่ปรากฏว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการของ ปตท.ต้องนำก๊าซแอลพีจีไปใช้ เป็นผลทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอและต้องมีการนำเข้าปีละกว่า 400,000 ตัน และเนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงกว่าที่ผลิตในประเทศ ปตท.จึงขอให้รัฐบาลชดเชยค่าก๊าซแอลพีจีโดยเรียกเก็บจากกองทุนน้ำมัน โดยอ้างว่าเพื่อมาตรึงราคาแอลพีจีให้กับผู้บริโภค
ทุกวันนี้ภาคประชาชน (หุ้งต้มครัวเรือน + ยานยนต์) มีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจี ประมาณ 2.9 ล้านตัน ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้สูงถึง 2.3 ล้านตัน ดังนั้นเงินที่ประชาชนต้องจ่ายในกองทุนจากน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 4 บาทต่อลิตร, จากเบนซิน 91 จำนวน 3.1 บาทต่อลิตร, จากดีเซลหมุนเร็ว 1.5 บาทต่อลิตร, จากไบโอดีเซล 1 บาทต่อลิตร, จากแก๊สโซฮอลล์ 95 จำนวน 0.70 บาท ฯลฯ โดยอ้างว่าส่วนหนึ่งนำมาอุดหนุนก๊าซแอลพีจีเพื่อช่วยเหลือคนจนนั้น... แท้ที่จริงแล้ว “การที่ต้องให้ผู้ใช้น้ำมันจ่ายเงินเพิ่มให้เข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี โดยไม่แบ่งแยกประเภทการใช้งาน” ก็คือการขูดรีดจากผู้ใช้น้ำมันมาเอื้อประโยชน์ให้กับมหาเศรษฐีกลุ่มปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท.เพื่อให้ได้ต้นทุนแอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกเพื่อสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้น โดยเอาคนยากจนมาบังหน้าเท่านั้น"
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 2 สิงหาคม 2554 15:19 น.
คาดการณ์เอาไว้ว่า ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน กับพวกอีก 8 คน จะดำเนินการฟ้อง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้แสดงว่าการกระทำที่ขัดผลประโยชน์และธรรมาภิบาลตกเป็นโมฆะ ให้ทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาจากอำนาจมหาชนของรัฐและขอให้เพิกถอนใบหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้มาโดยวิธีฉ้อฉล
โดยมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน กับพวกอีก 8 คน ได้ระบุในคำฟ้องความตอนหนึ่งว่า “เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 เวลากลางวัน ติดต่อกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีบุคคลบางกลุ่มประกอบด้วยบุคคลในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ บุคคลในคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น กรรมการ ผู้ว่าการฯ และพนักงานของ ปตท. บางคน ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าแย่งชิงทรัพย์สินของรัฐและประชาชนในกิจการธุรกิจของ ปตท. ไปเป็นของตนและพรรคพวก อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ คณะบุคคลดังกล่าวข้างต้นจึงได้ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบายและดำเนินการร่วมกันเข้าแย่งชิงทรัพย์สินของ ปตท. เข้าเป็นของตนเองและพรรคพวก ด้วยวิธีการอันฉ้อฉล แยบยล” ทั้งนี้มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินได้ฟ้องว่าการกระทำดังกล่าวไม่ควรจะมีการแปรรูปขายหุ้น ปตท. จากที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐเดิมถือหุ้นอยู่ 100% มาเหลือเพียง 51% เพราะอันที่จริง ปตท.ขณะนั้นมีกำไรกว่า 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังสามารถระดมทุนได้ด้วยวิธีการอื่น เช่น การออกหุ้นกู้ การออกพันธบัตรโดยที่รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน แต่การอ้างว่าต้อง แปรรูปโดยการขายหุ้นสามัญ ประการต่อมาก็คือการจัดการประเมินราคาสินทรัพย์ของ ปตท. ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อส่งผลทำให้มูลค่าหุ้นที่ขายนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้คนที่ได้หุ้นไปนั้นสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลหลังจากนั้น ตัวอย่างแรกก็คือ ก่อนการแปรรูป ปตท. ได้ประเมินมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผูกขาดและสร้างมาจากภาษีอากรประชาชนชาวไทยและการค้ำประกันจากรัฐบาล เพื่อการแปรรูปไว้ที่ 46,189 ล้านบาท โดยคิดฐานมาจากอายุการใช้งานเพียง 25 ปี แต่ในความเป็นจริงมีอายุใช้งานถึง 50 ปี ภายหลังต่อมาหลังจาก ปตท. ได้แปรรูปไปแล้วได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษา 2 แห่งประเมินทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ถึง 105,000 - 120,000 ล้านบาท แม้ในเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ให้ ปตท.ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐ (ตามคำฟ้องของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค) โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตีประเมินมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซเพื่อเรียกคืนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดราคา 53,393 ล้านบาท แต่ ปตท.ก็ส่งคืนเพียงแค่ 16,176 ล้านบาท ถึงวันนี้ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่มีใครสนใจทวงคืนท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ให้กลับมาเป็นของรัฐตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแต่ประการใด เช่นเดียวกันกับกรณี ปตท.ได้ลงทุนสร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่เป็นบริษัทในเครือที่ชื่อ บริษัท โรงกลั่นระยอง จำกัด ประมาณ 50,000 ล้านบาท พอหักค่าเสื่อมทางบัญชีปีละ 10% ผ่านไป 10 ปี ในปี พ.ศ.2544 ปตท.จึงบันทึกมูลค่าทางบัญชีโรงกลั่นแห่งนี้ก่อนการแปรรูปเหลือเพียง 1 บาท แต่ในความเป็นจริงโรงกลั่นดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 15 ปี อีกทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันต้องมีใบอนุญาตจากรัฐบาลและต้องผ่านกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีทางที่จะมีมูลค่าเหลือ 1 บาทได้ โดยต่อมา บริษัท โรงกลั่นระยอง จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2549 มูลค่ากลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50,000 ล้านบาท ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพื่อทำให้การประเมินราคาทรัพย์สินให้ต่ำกว่าตลาด ก็เพื่อให้ปตท.เปิดจองหุ้นให้เหลือเพียง 31-35 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือเป็นการทำให้ราคาหุ้นที่ขายออกไปต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพย์สินของ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งชาติ แต่กรรมการของ ปตท. ในสมัยนั้นกลับมีการกำหนดการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ปตท. จำนวน 25 ล้านหุ้นในราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าหุ้นเปิดจองให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่คณะกรรมการ ปตท.กำหนด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้เลย หลังจากนั้นกระบวนการกระจายหุ้นที่เหลืออีก 775 ล้านหุ้นที่แสนอัปยศ และแสนอัปลักษณ์ที่สุดในโลกก็เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยขายให้กับสถาบันในประเทศ 235 หุ้นที่ขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาลขายให้กับนักลงทุนต่างชาติ 320 ล้านหุ้นส่วนใหญ่ก็เป็นทรัสต์ที่ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่นและตรวจสอบไม่ได้และไม่มีการเปิดเผยถึงบุคคลในรัฐบาลบางคนได้รับผลประโยชน์ผ่านกองทุนต่างชาติอันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนการกระจายหุ้นรายย่อยนั้นมีอยู่เพียง 220 ล้านหุ้น มีการลัดคิวใช้เส้นสามารถเข้าซื้อจองก่อนเวลา 9.30 น. ถึง 863 ราย โดย ปตท.และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้สมคบร่วมกันช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ เข้าแย่งชิงหุ้นด้วยการปิดบัง ซ่อนเร้น นอกจากนี้ยังพบคนมีเส้นที่สามารถเข้าจองซื้อหุ้นได้มากกว่า 1 ใบจองถึง 428 ราย เป็นจำนวนหุ้นกว่า 67 ล้านหุ้น อันเป็นการขัดต่อเงื่อนไขที่ปรากฏตามหนังสือชี้ชวน ข้อสำคัญคือ 863 รายที่ใช้เส้นลัดคิวซื้อหุ้น ปตท.ก่อน 9.30 น. กับอีก 428 ราย จองซื้อหุ้นได้มากกว่า 1 ใบจองผิดเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนนั้น มีนามสกุลและเป็นญาติพี่น้องกับนักการเมืองในรัฐบาลเวลานั้นจำนวนมาก ต่อมาหลังมีการแปรรูป ปตท. แล้ว ก็ได้มีการแต่งตั้งให้ข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนโยบายพลังงาน และกระทรวงพลังงาน ไปเป็นกรรมการ ปตท. ถือว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ชัดเจน เพราะด้านหนึ่งก็สวมหมวกเป็นข้าราชการดูแลนโยบายพลังงานให้เป็นธรรมกับประเทศชาติและประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งกลับไปเป็นกรรมการที่สามารถรับผลประโยชน์จากกำไรของ ปตท.ได้ นอกจากนี้คณะกรรมการกิจการพลังงานได้นำมูลค่าท่อก๊าซที่ประชาชนถูกยักยอกไป มาคำนวณปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซให้สูงขึ้นทั้งๆ ที่ ปตท.ไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติมในระบบ ก็เพื่อสร้างกำไรให้มากขึ้นขูดรีดคิดค่าใช้บริการขนส่งก๊าซผ่านท่อจากประชาชนมากขึ้น ส่งผลกระทบถึงค่าเอฟทีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระเกินความจำเป็น เพราะข้าราชการประจำกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารสำนักนโยบายและแผนทางพลังงาน ล้วนแต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนรับผลประโยชน์จาก ปตท. และบริษัทในเครืออีกจำนวนมาก ผลประโยชน์ทับซ้อนที่ลามไปถึงฝ่ายการเมือง ทำให้กระทรวงการคลังได้ประเมินค่าเช่าท่อก๊าซและอุปกรณ์ของ ปตท.ระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2551 เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ ปตท.ได้เรียกเก็บค่าใช้ท่อก๊าซจากประชาชนไปแล้วถึง 137,176 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างจากที่กระทรวงการคลังเรียกเก็บถึง 104.52% สูตรราคาน้ำมันก็เช่นกัน ปตท. ได้อ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ + ค่าโสหุ้ยในการส่งน้ำมันสำเร็จรูป+ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง+ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานประเทศไทย+ค่าประกันภัยที่ขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเลย เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทยอีกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่วนหนึ่งก็ผลิตได้ในประเทศไทย แต่การตั้งสูตรน้ำมันแบบนี้ทำให้ประชาชนต้องแบกรับราคาน้ำมันสูงกว่าปกติถึงลิตรละ 2 บาท จึงเป็นกำไรส่วนเกินให้กับสูตรราคาตลาดเทียมถึงปีละ 80,000 ล้านบาท ในทางกลับกันประเทศไทย “ส่งออกน้ำมันในราคาต่ำกว่าที่ขายให้กับคนไทย” โดยใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ - ค่าโสหุ้ยในการส่งน้ำมันสำเร็จรูป - ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง - ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานประเทศไทย - ค่าประกันภัยที่ขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย นอกจากนี้ ปตท. เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในกิจการแยกก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซเอ็นจีวีที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและยานยนต์ทั้งประเทศ แต่ปรากฏว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการของ ปตท.ต้องนำก๊าซแอลพีจีไปใช้ เป็นผลทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอและต้องมีการนำเข้าปีละกว่า 400,000 ตัน และเนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงกว่าที่ผลิตในประเทศ ปตท.จึงขอให้รัฐบาลชดเชยค่าก๊าซแอลพีจีโดยเรียกเก็บจากกองทุนน้ำมัน โดยอ้างว่าเพื่อมาตรึงราคาแอลพีจีให้กับผู้บริโภค ทุกวันนี้ภาคประชาชน (หุ้งต้มครัวเรือน + ยานยนต์) มีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจี ประมาณ 2.9 ล้านตัน ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้สูงถึง 2.3 ล้านตัน ดังนั้นเงินที่ประชาชนต้องจ่ายในกองทุนจากน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 4 บาทต่อลิตร, จากเบนซิน 91 จำนวน 3.1 บาทต่อลิตร, จากดีเซลหมุนเร็ว 1.5 บาทต่อลิตร, จากไบโอดีเซล 1 บาทต่อลิตร, จากแก๊สโซฮอลล์ 95 จำนวน 0.70 บาท ฯลฯ โดยอ้างว่าส่วนหนึ่งนำมาอุดหนุนก๊าซแอลพีจีเพื่อช่วยเหลือคนจนนั้น... แท้ที่จริงแล้ว “การที่ต้องให้ผู้ใช้น้ำมันจ่ายเงินเพิ่มให้เข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี โดยไม่แบ่งแยกประเภทการใช้งาน” ก็คือการขูดรีดจากผู้ใช้น้ำมันมาเอื้อประโยชน์ให้กับมหาเศรษฐีกลุ่มปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท.เพื่อให้ได้ต้นทุนแอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกเพื่อสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้น โดยเอาคนยากจนมาบังหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ การกำหนดสัดส่วนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ของก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ ซึ่งมาตรฐานสากลกำหนดให้มีได้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อมา กรมธุรกิจพลังงาน กลับได้ออกประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ พ.ศ. 2552 กำหนดให้คาร์บอนไดออกไซด์ต้องไม่เกินร้อยละ 18 ทำให้ ปตท.สามารถเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มอัตรากำไรสูงขึ้น และให้ประชาชนกลับเป็นผู้แบกรับมากขึ้น นี่คือกระบวนการที่สร้างกำไรอย่างสุดอัปลักษณ์ที่สุดของ ปตท. ทั้งการแปรรูปที่ไม่โปร่งใส ญาติโกโหติกาได้หุ้น ปตท.ในราคาต่ำกว่าตลาดด้วยการประเมินทรัพย์สินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และเมื่อแปรรูปได้แล้วก็ยังใช้อำนาจทั้งข้าราชการและนักการเมืองเอื้อประโยชน์ให้เกิดกำไรอย่างมหาศาลและแยบยล เพื่อให้กำไรเหล่านั้นตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คนบนความเดือดร้อนของคนไทยทั้งประเทศอย่างไม่เป็นธรรม การฟ้องต่อศาลปกครองโดยมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้นำคดีนี้ขึ้นพิสูจน์ความจริง และทำให้การแปรรูปและกระจายหุ้นที่ไม่โปร่งใสและขาดหลักธรรมาภิบาลต้องเป็นโมฆะ เพื่อให้ทรัพย์สินกลับไปสู่สถานะเดิมที่รัฐถือหุ้น 100% ส่วนใครที่เสียหายจากการที่หุ้น ปตท. เป็นโมฆะ ก็ขอให้ไปไล่เบี้ยเอาเองกับเหล่านักการเมืองและข้าราชการที่ทำกรรมหนักต่อประเทศชาติครั้งนี้