วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

2 เมษา ชี้ชะตา คนมาบตาพุด

ศาลปกครองกลางที่มีนายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน อ.มาตาพุด จ.รอยอง จำนวน 43 ราย ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน ขอให้เพิกถอนการออกใบอนุญาต ให้กับ76 โครงการ และกิจการของเอกชนในงานอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง จ.ระยอง เนื่องจากเห็นว่าการออกใบอนุญาตดังกล่าว ไม่ได้มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550

ทั้งนี้ ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงด้วยวาจา ซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงต่อศาลยืนยันว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐ ในการออกใบอนุญาตให้กับเอกชนเข้าดำเนินกิจการและทำให้เกิดมลพิษ แม้ภายหลังศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่าโครงการหรือกิจการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีการปล่อยมลพิษกระทบต่อทางเดินหายใจของประชาชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้มีการจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้ประกอบเหล่านั้น แต่กลับให้ขอมูลที่สับสนต่อประชาชนว่า การดำเนินการของผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 เป็นไปตามมาตรฐานสากล และผู้ประกอบการยังชอบให้ข่าวกดดันศาลว่ายังให้ข้อมูล

นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา กำหนดประเภทโครงการรุนแรงควรมีแค่ 11 โครงการนั้น เป็นการกำหนดที่ไม่มีเหตุผลและยังเป็นการลดจำนวนโครงการที่มีผลกระทบ ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เสนอควรจะมีทั้งสิ้น 18 โครงการ สะท้อนว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นหน่วยงานรัฐใช้อำนาจทางปกครองช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายกำหนดดังนั้นถ้าศาลมีคำสั่งปล่อยให้ 76 โครงการดำเนินการต่อไปได้ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มมลพิษที่มีอยู่แล้วให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น และผู้รับกรรมคือประชาชนที่ต้องมารับกรรมในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ด้านนายบัญญัติ วิสุทธิมรรค พนักงานอัยการตัวแทนผู้ถูกฟ้อง แถลงว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้จัดประเภทโครงการที่มีความรุนแรงไว้ 11 ประเภทก็เพราะที่เหลือเป็นโครงการบริหารนำระหว่างประเทศและของรัฐที่ให้เอกชนไปทำ ซึ่งถ้านำ 7 โครงการที่ทางคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เสนอมารวมด้วย จะทำให้โครงการจำนวนมากใน 76 โครงการหลุดจากประเภทรุนแรง ดังนั้นตรงกันข้ามการกำหนดเพียง 11 โครงการ จะทำให้ใน 76 โครงการติดอยู่ในประเภทรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า โครงการทั้ง 76 โครงการ ไม่ใช่โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ล้วนเป็นโครงการที่รักษาสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แม้บางโครงการจะเป็นการขออนุญาตขยายและเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินการในเขตนิคมก็เห็นว่า จากรายงานผลการศึกษาต่างๆ ระบุชัดว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่เกินกว่าศักยภาพในการรองรับมลพิษของนิคมอุตสาหกรรมฯ

หลังจากนั้นองค์คณะได้ให้นายวิจิตต์ รักถิ่น ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตนที่ไม่มีผลผูกพันต่อองค์คณะ ว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า 76 โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่ต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 303 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรกให้ครม.ดำเนินการหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการจัดทำกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเพราะฉะนั้นการพิจารณาจาของศาลจึงต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยต้องคำนึงถึงการคุมครองสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่และเสรีภาพในการประกอบกิจการที่ต้องแข่งขันอย่างเสรีที่ที่มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ได้ให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตามรายงานไม่พบว่ามีค่าของผลกระทบในเรื่องต่างๆ สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว หน่วยราชการได้มีการเผยแพร่โดยทั่วไป ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานที่จะมาหลักล้างทำให้ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องมีความน่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่า 76 โครงการเป็นโครงการที่มีผลกระทบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องให้ทั้ง 76 โครงการดำเนินการโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตามมาตรา 67 แต่ได้มีการประเมินศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด และเมื่อฟังได้ว่าการเห็นชอบอนุมัติออกใบอนุญาตเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับผู้ฟ้องคดี20-30 ขอถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกฟ้องได้มีการแก้ไขเยียวยาแล้ว กรณีจึงเห็นสมควรให้ยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่าทั้ง 76 โครงการ ก่อมลพิษรุนแรงในพื้นที่จนเกินกว่าศักยภาพการบริหารจัดการของกรมควบคุมมลพิษ ข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องนำเสนอยังไม่พอฟังได้ว่า มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง จึงสมควรพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ถ้าต่อมา ครม.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 เรื่องสิทธิชุมชนแล้วเสร็จแล้วปรากฏว่า 76 โครงการ ไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าข้อเท็จจริงมีผลให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้

ทั้งนี้ องค์คณะได้พักการพิจารณา 10 นาที และได้มีการประชุมโดยกำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายนนี้ เวลา 13.30 น.

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังตุลาการศาลปกครองผู้แถลงคดีอ่านความเห็นส่วนตัวในคดีนี้ ว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความคิดเห็นยกคำร้องในคดีนี้ก็ถือเป็นความเห็นของท่าน ซึ่งตุลาการเจ้าของคดีอาจมีความเห็นไม่ตรงกันกับตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายคดีที่ตุลาการเจ้าของคดีมีความเห็นแย้งกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังมั่นใจและเชื่อในข้อมูลที่ยื่นฟ้องต่อศาล เพราะหลักฐานที่ยื่นไปให้ตุลาการพิจารณาทั้ง 76 โครงการ ค่อนข้างมีความชัดเจน เนื่องจากทั้ง 76 โครงการ นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงตลอด 25 ปี ถึงแม้ทั้ง 76 โครงการจะเป็นโครงการใหม่หรือโครงการที่ขยายเพิ่ม ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อดูในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย รวมทั้งคำตัดสินของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดก็จะเห็นได้ว่าศาลจะเน้นในเรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้งในการพิจารณาคดีมาโดยตลอด จึงไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวล

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า มั่นใจว่ามีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลาง เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และยังมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม คือ กรณีการเกิดอุบัติเหตุแก๊สรั่วของโรงงานต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด

อีกทั้งไม่เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า การชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุดทั้ง 64 โครงการมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี ระบุชัดว่า จีดีพีของไทยในครึ่งแรกของปี 53 ขยายตัวถึงกว่า 10% สอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จะขยายตัวร้อยละ 7-8

นอกจากนี้ สมาคมฯ จะยื่นคัดค้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบให้ออกประกาศโครงการหรือกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ 11 ประเภท ซึ่งบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่ของภาคประชาชนที่ยอมรับประกาศกิจการรุนแรง 18 ประเภท ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 3 ที่ไม่รับฟังความเห็นจากภาคประชาชน โดยจะรวบรวมหนังสือมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศมาประกอบการคัดค้านภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลางวันนี้จะเป็นการรับฟังข้อมูลครั้งสุดท้ายของทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง โดยเป็นการแถลงปิดคดีของตุลาการเจ้าของสำนวน คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาออกมาชัดเจน

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การออกประกาศประเภทกิจการรุนแรงของหน่วยงานรัฐไม่มีความสอดคล้องกับที่มาและหลักเกณฑ์ เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดประเภทกิจการรุนแรงถึง 4 ฉบับ นับตั้งแต่สมัยที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดกิจการรุนแรง 19 ประเภท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด 8 ประเภท, คณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำหนด 18 ประเภท และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนด 11 ประเภท

พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การออกประกาศกิจการรุนแรงใหม่ โดยให้ 3 องค์กรหลักเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกำหนดชัดเจนว่าจะต้องประกาศภายใต้กฎกระทรวงใด ซึ่งในวันที่ 29 ส.ค.นี้ จะประชุมสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ และหากพบว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณาออกประกาศกิจการรุนแรงที่เอื้อต่อภาคเอกชน ทางเครือข่ายฯ ก็จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบต่อไป

นายสุทธิ กล่าวว่า ต้องการให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเข้าไปร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าไม่มีความโปร่งใส

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) กล่าวว่า โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดของเครือบมจ.ปตท.(PTT) ยังมีอีก 1 โครงการที่เข้าข่าย 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และ ปตท.ยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนตามแผนงานต่อไป โดยไม่มีแนวคิดจะล้มเลิกการลงทุน แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทก็มีเริ่มจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ(HIA) ควบคู่กับการต่อสู้คดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากมีข้อกำหนดร่างกฎเกณฑ์การจัดทำ HIA จากทางภาครัฐออกมา บริษัทก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามร่างข้อกำหนด แต่คงต้องรอดูคำพิพากษาของศาลอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เนื่องจากน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในแต่ละโครงการออกมาด้วย

สำหรับโครงการโรงแยกก๊าซ 6 และโครงการที่แล้วเสร็จนั้น ขณะนี้ ปตท.พร้อมเดินหน้า แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นกับคำตัดสินของศาลด้วย

นายชายน้อย กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ถือว่าเป็นการพิจารณาที่มีความรอบคอบรวดเร็ว และเป็นแนวทางที่ดีที่จะส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นใจการลงทุนของประเทศ ซึ่งความชัดเจนของคดีนี้จะช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง

เรียนเชิญสื่อมวลชนทำข่าว

แถลงท่าทีการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 น.

ณ ห้องประชุมศรีสุวรรณ โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและองค์กรภาคีภาคประชาชน

ผู้นัดหมายและผู้แถลง

โทร.081-8646558

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

เลขที่ 113 ถนนยมจินดา

ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000

โทรศัพท์ 038-613928, 081-8646558

โทรสาร 038-613928

The Eastern People' Network

113 Yomjinda Rd.,

Thapradu, Muang,

Rayong 21000

Thailand

Tel: 038-613928, 081-8646558

Fax: 038-613928

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น