วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ติดป้าย โรงแยกก๊าซ ปตท. เสี่ยง หน้าศูนย์ราชการระยอง

ยังไม่เห็นความพยายามจากภาคส่วนใด ที่จะเรียกร้องให้ ปตท. หยุด ตรวจสอบ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับฐานราก ทั้งหมดก่อน ที่จะเปิดใช้โรงแยกก๊าซที่ 6 และโรงแยกก๊าซอีเทน ในเดือน ตุลาคม 2553 ทั้งที่ ขณะนี้ ทดสอบระบบมีปัญหาเหตุไฟไหม้หลายจุด แต่ยังคงจะดันทุรังให้คนมาบตาพุดเสี่ยงตาย จากมหันต์ภัยคลังก๊าซแอลพีจี ขนาดใหญ่ ในเมื่อมันติดตลาดติดชุมชน เกิดอะไรขึ้น มอดไหม้ชีวิตผู้คนประชาชนจำนวนมาก
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้เดินทางมายังจุดชุมนุมประท้วง ริมถนนสุขุมวิท หน้าศูนย์ราชการ ฝั่งขาเข้าตัวเมืองระยอง เพื่อปักหลักประท้วง ให้ยกเลิกประกาศ 11 โครงการประเภทรุนแรง โดยเบื้องต้นคาดว่า ผู้ชุมนุม จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 คน ส่วนการจราจร กินเนื้อที่บนถนนสุขุมวิท ประมาณ 2 ช่องทาง ทำให้รถค่อนข้างจะติดขัดบ้างเล็กน้อย ท่ามกลางการดูแลและคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนอกและในเครื่องแบบ จำนวนหลายร้อยนายด้วยกัน ด้าน นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แกนนำคนสำคัญ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นการให้ความรู้ และจัดเสวนาแสดงความคิดเห็นร่วมกันของแกนนำ ประชาชนภูมิภาคต่าง ๆ ที่เข้าร่วม เพื่อกำหนดความต้องการ และยื่นข้อเรียกร้องต่อไป ส่วนสถานการณ์จะรุนแรงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเฉพาะ ท่าทีของรัฐบาล พร้อมกับ ยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้จะไม่มีการปิดถนน หรือ สร้างความรุนแรง จนเกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นแน่นอน อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายนี้แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก มีแผนที่จะเคลื่อนขบวนนำผู้ชุมนุม เข้าไปประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่วนประเด็นสำคัญในการชุมนุมเรียกร้อง จะเน้นการคัดค้านการประกาศ ยกเลิก 11 ประเภทกิจการรุนแรง ตลอดจน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมาบตามพุด

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

มาบตาพุด เดือด ม๊อบต้านม๊อบไม่เอาโรงงาน 30 ก.ย. 53

"มาบตาพุด"เดือด คนพื้นที่ฮือต้านม็อบ
ปัญหาการคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดเริ่มบายปลาย 33 ชุมชน เตรียมรวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯระยอง ไม่อยากให้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ใช้พื้นที่ก่อม็อบต้านรัฐบาล ขู่หากไม่ฟังเจอ"ม็อบชนม็อบ"แน่ ด้าน"สุทธิ"แฉนายทุนให้งบอุดหนุน ดันชาวบ้านออกมา นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 กันยายนนี้ เครือข่ายชุมชนมาบตาพุด 33 ชุมชน จะไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อแถลงจุดยืนคัดค้านการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่นำโดยนายสุทธิ อัชฌาศัย พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอ 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้การชุมนุมจำกัดในพื้นที่ โดยไม่ปิดถนนและนำมาซึ่งความเดือดร้อน เนื่องจากอดีตเคยมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องค่าแรงด้วยการปิดถนน ได้ส่งผลกระทบอย่างมาก 2.กรณีที่มีการคัดค้านประกาศ 11 กิจการรุนแรง ไม่ควรใช้พื้นที่มาบตาพุดในการกดดันรัฐบาล แต่ควรไปยื่นหนังสือกดดันที่ทำเนียบรัฐบาลแทน เนื่องจากเห็นว่า ท้ายที่สุดจะเป็น 11 กิจการหรือ 18 กิจการนั้น กิจการที่เข้าข่ายก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด เพราะส่วนใหญ่เป็นกิจการเหมืองแร่ เขื่อน ฯลฯ ดังนั้นหากมีการปิดถนนจนกระทบกับการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ ก็ยืนยันว่า จะมีม็อบชนม็อบแน่นอน ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายฯพร้อมที่จะชุมนุมวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง แต่พบว่ามีกลุ่มผู้นำชุมชนในเทศบาลมาบตาพุด กลุ่มระยองสมานฉันท์ ซึ่งนำโดยนายสุธา เหมสถล กลุ่มแรงงานในระยองและกลุ่มรับเหมา จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการชุมนุมของภาคประชาชน ซึ่งจากการสืบข้อมูลเชิงลึกพบว่า กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มและวางรูปแบบให้เกิดการปะทะกัน "เรายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวโดยสงบและจะพยายามไม่ปะทะกับกลุ่มที่จะเข้ามาต่อต้านแต่อย่างใด"นายสุทธิกล่าว
วันที่ 24/9/2010

“ศรีสุวรรณ” ร้อง ก.อุตสาหกรรม เร่งอนุญาตโครงการรุนแรงมาบตาพุด เผยปิโตรฯ เข้าข่าย 19 โครงการ

วันที่ 21 ก.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.อุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องการละเมิดอำนาจศาล โดยการอนุญาตโครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ก่อนดำเนินการ ข้อความระบุว่า ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ให้ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหมายถึง รมว.อุตสาหกรรม และพวก ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ หรือกิจรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2553 นั้น แม้การประกาศดังกล่าว จะดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการฟ้องร้องเพิกถอนกันต่อไปนั้น แต่เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมา ตามที่ผู้ฟ้องคดีจักยื่นอุทธรณ์ต่อไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้น

เร่งอนุญาตโครงการรุนแรงมาบตาพุด

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ พบว่า มีความพยายามให้ข่าวที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เพื่อหวังผลให้มีการเร่งอนุมัติ หรืออนุญาตโครงการต่าง ๆ ที่ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอยู่อย่างเร่งรีบ จนอาจลืมบริบทของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และทุกข์เข็ญของชาวบ้านมาบตาพุด และบ้านฉาง ที่ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหา หรือเยียวยาอย่างเหมาะสมเพียงพอเลย จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการทั้ง 76 โครงการ พื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียงตามฟ้องนั้น พบว่า มีไม่ต่ำกว่า 19 โครงการ ที่เข้าข่ายเป็นโครงการรุนแรงตามประกาศของ ทส. โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น และขั้นกลาง ที่มีวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่มี หรือก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในกลุ่มต่าง ๆ ตามประกาศดังกล่าว โดยมีหลักฐานยืนยันปรากฏชัดเจนในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหรือสุขภาพที่ผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ เหล่านั้น ได้ดำเนินการ หรือจ้างบริษัทที่ปรึกษา หรือสถาบันการศึกษาจัดทำ “ดังนั้น การที่ รมว.อุตสาหกรรม และพวก เร่งรีบการอนุมัติ หรืออนุญาตโครงการ หรือกิจกรรมดังกล่าวไป โดยละเมิดคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จึงถือได้ว่ามีเจตนาที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยาย สมาคมฯ และชาวบ้านในฐานะผู้มีส่วนได้เสียไม่อาจนิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้ต่อไป จึงขอให้ทบทวน หรือยุติการดำเนินการใด ๆ ที่นำไปสู่การละเมิดคำพิพากษาดังกล่าวเสีย หากทุกคนที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อจดหมายฉบับนี้ สมาคมฯ และชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องพึ่งอำนาจศาลในการแสวงหาข้อยุติ เพื่อความยุติธรรมต่อไป” นายศรีสุวรรณ ระบุ.

อุทธรณ์คำสั่ง - กรณี ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดี ... โรงแยกก๊าซใหม่ ปตท. เสี่ยง ไม่ตอกเสาเข็มทั้งหมด

เมื่อวานนี้ 24 กันยายน 10.50 น. ที่ศาลปกครองระยอง คุณศรัลย์ ธนากรภักดี ผู้ประสานกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด ได้นำคำขออุทธรณ์คำสั่ง ไปร้องต่อศาล กรณีไม่รับฟ้องคดีโรงแยกก๊าซใหม่ ปตท. เสี่ยง ไม่ตอกเสาเข็มทั้งหมด โดยให้ความเห็นว่า บ้านเมืองนี้ เป็นนิติรัฐ ที่ควรจะแก้ไขปัญหาสาธารณะต่างๆ ด้วยวิธีทางกฎหมาย ทางศาล กรณีสร้างโรงงานไม่แข็งแรง ซึ่งอีกไม่นานประเทศนี้ จะมีโรงงานเสี่ยงหลายร้อยหลายพันโรง ไม่ตอกเสาเข็มฐานราก ลอกเลียนตาม ปตท. จนอีกหน่อยจะไม่ต่างกับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แม้อนุมัติถูกต้องตาม กม. แต่ไม่แข็งแรง รอทรุดพังทับผู้คนและบ้านเรือนใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้มีมากมาย แต่ไม่ค่อยเข้มข้นที่จะตรวจสอบ เสริมสร้างให้แข็งแรง

บางส่วนของ การอุทธรณ์ คดี การอนุมัติและการดำเนินการก่อสร้าง 3 โครงการขนาดใหญ่ ของ ปตท. ที่มีความเสี่ยงสูงจะก่อหายนะภัย ในพื้นที่มาบตาพุด ระยอง ซึ่งการก่อสร้างไม่แข็งแรงมั่นคง โดยไม่ตอกเสาเข็มฐานรากทั้งโรงงาน แม้สร้างบนพื้นที่ปรับถมใหม่ ซึ่งการทรุดพังของโครงสร้างต่างๆ จะทำให้เกิดการรั่วไหลของก๊าซไวไฟหรือสารเคมีอันตราย เพราะมีคลังก๊าซแอลพีจีจำนวนมหาศาล ถ้าควบคุมไม่ได้เกิดไฟไหม้ระเบิดลุกลามไปยังโรงงานอื่นๆ จำนวนมาก จะมีผลกระทบร้ายแรงกับชีวิตประชาชน ชุมชน และสภาวะแวดล้อม ได้นำเสนอฟ้องมายังศาลปกครอง ระยอง และไม่รับคำฟ้อง จึงได้ขออุทธรณ์คำสั่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ และหยุดยั้งต้นเหตุแห่งหายนะภัยที่จะคร่าชีวิตผู้คนประชาชนผู้บริสุทธิ์ มอดไหม้อาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย ธุรกิจทรัพย์สิน ตลาดร้านโรง ชุมชน โรงเรียน วัด และสาธารณะสมบัติอื่นๆ แม้อ้างว่าได้รับการอนุมัติก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก่อสร้างไม่แข็งแรง-ไม่ตรงกับการออกแบบ ทั้งที่ทุกหน่วยงานภาครัฐรับรู้ แต่คงจะดันทุรังไม่ใส่ใจ โดยมีชีวิตของผู้คนประชาชนจำนวนมากเป็นเดิมพัน

ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งโครงสร้างพิเศษสำคัญในโครงการต่างๆ ของ ปตท. จำนวนมาก พบว่าละเลยเรื่องความแข็งแรงมั่นคงในส่วนงานฐานราก ทั้งที่ก่อสร้างบนพื้นที่ปรับถมดินใหม่ และหลายโครงการอยู่บริเวณหมู่บ้านหนองแฟบ ชื่อตามลักษณะภูมิศาสตร์ว่าเป็นหนองน้ำ แต่ในการก่อสร้างกลับไม่ตอกเสาเข็มอ้างว่า ถมดินบดอัดดีแล้ว เป็นการสมยอมของภาครัฐ ที่เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม ที่เร่งรัดเร่งรีบ เพื่อแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ และเพื่อประโยชน์ในส่วนของตน จนมีการเลียนแบบ ไปยังโครงการอื่นๆ มากมาย และในเวลาไม่กี่ปี จะมี หลายร้อย หลายพัน โรงงาน ทำแบบเดียวกันกับ ปตท. สร้างโรงงาน โดยปราศจากความแข็งแรงมั่นคง ถมที่เสร็จขุดหล่อฐานรากโดยไม่ต้องตอกเสาเข็ม โดยอ้างว่า ดินถมแข็งแรงมาก อ้างมีการทดสอบดินแล้ว เพราะทำให้โครงการเสร็จเร็วขึ้น 6-8 เดือน จึงเป็นที่มาว่า ทำไมทางกลุ่มฯ จึงขอให้ การนิคมอุตสาหกรรมฯ และ ปตท. จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามฯ ขึ้นมา เพราะถ้ามีเหตุสลดจากการทรุดพังของฐานราก ผู้ก่อสร้างฐานรากย่อมหนีจากความรู้สึกผิดบาปไปไม่ได้ การเสนอตัวเป็นหนึ่งในคณะตวจสอบ-ติดตามร่วมฯ 3 ฝ่ายนั้น เพราะหมดความมั่นใจในภาครัฐที่รับผิดชอบ และกำหนดไว้เพียง 3 ปี ในระยะแรกและระยะกลางของการตรวจสอบ-ติดตามฯ แต่กระนั้น โรงงาน กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังต้องร่วมตรวจสอบกันต่อไป อีก 10 ปี หรือตลอดอายุการใช้งาน

เจ้าหน้าที่ข้าราชการพนักงานมีหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 74 เมื่อได้รับรู้ถึงเหตุภัยความเสี่ยงจากโรงงาน ที่แม้ได้รับการอนุมัติก่อสร้างอย่างถูกต้อง แต่ก่อสร้างไม่แข็งแรงนั้น โรงงานเสี่ยงก่อภัยอยู่ใกล้ตลาดอยู่ติดชุมชนที่มีผู้คนประชาชนจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบร้ายแรงรุนแรงกว้างขวางแล้ว แต่ยังไม่ตระหนักถึงเหตุภัย กลับใช้เวลาไปเพื่อการเสาะแสวงหาหลักฐานเอกสารต่างๆ ข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบเท่านั้น - ซึ่งประหนึ่ง เรือเดินสมุทร แม้ออกแบบก่อสร้างทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อมีผู้ทักท้วงทั้งเป็นช่างที่ทำกระดูกเรือ แจ้งบอกแบบมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ปลอดภัยแข็งแรงพอ ใยยังคงปล่อยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องลอยลำออกไปเพื่อเผชิญภัยตามยถากรรม

การคาดการณ์การทรุดพังของฐานรากนั้น มาจากการก่อสร้างฐานรากที่ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นการคาดการณ์ตามปกติวิสัยของวิศวกรโยธาพึงกระทำได้ ตามความรู้ที่มีในวิชาชีพวิศวกรก่อสร้าง ดังนั้นการคาดการณ์เหตุก๊าซรั่วระเบิด ที่มีเหตุจากการทรุดพังของฐานรากต่างๆ ที่ไม่แข็งแรง จึงเป็นการคาดการณ์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

นำเรื่องโรงแยกก๊าซใหม่ ไม่ตอกเสาเข็ม - เสี่ยงทรุดพังระเบิดลุกลาม เข้าร้องเรียน ประธานกรรมาธิการต่างๆ ของ วุฒิสภา ที่บ้านพิษณุโลก

ที่บ้านพิษณุโลก วันที่ 13 กันยายน 53 เวลา 16.30 น. คุณศรัลย์ ธนากรภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด ได้เข้าพบ ประธานกรรมาธิการต่างๆ ของวุฒิสภา เพื่อส่งหนังสือร้องเรียนเรื่องโรงแยกก๊าซใหม่ ปตท. เสี่ยง ก่อหายนะภัย พร้อมชี้แจง และตอบข้อสงสัย ก่อนที่ ประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ จะมีการเข้าพบกับ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน คกก. 4 ฝ่าย เพื่อหารือ-แลกเปลี่ยน ข้อสงสัย กรณีประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรง ของรัฐบาล
โดยคุณศรัลย์ ได้เข้าชี้แจง เรื่องราวต่างๆ และตอบข้อสงสัย โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที กับกรณีการไม่ตอกเสาเข็มของโรงแยกก๊าซที่ 6 ที่มีความเสี่ยงทรุดพังสูง จนอาจระเบิดรุนแรงลุกลาม เพราะมีคลังก๊าซแอลพีจีขนาดใหญ่ และประกอบกับศาลปกครองไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุว่าไม่ใช่ผู้รับความเดือดร้อน และกรณีการทรุดพังระเบิด เป็นเพียงการคาดการณ์ หลังจากนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ที่หน้าบ้านพิษณุโลกว่า เป็นกลุ่มของวิศวกรโยธา ที่ก่อสร้างฐานรากให้กับโรงแยกก๊าซ แม้ไม่ใช่ผู้ออกแบบ แต่ผู้ก่อสร้าง และแบบ-ข้อกำหนดก่อสร้าง ไม่แสดงค่ารับน้ำหนักของดิน และก่อสร้างไปตามแบบ ไม่รู้ว่าโครงสร้างที่จะนำมาตั้งสูงใหญ่อย่างไร เมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงมาก จึงนำเสนอกับหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีการตอบรับ จึงนำไปฟ้องศาลปกครอง.-

หอสูงเหล่านี้ ไม่ได้ตอกเสาเข็ม อ้างว่า ดินแข็งแรงมาก 30 ตัน/ม2

โรงงานอ้างว่าดินแข็งแรงมาก ขออนุมัติและดำเนินการก่อสร้าง ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างว่า มีวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลก มีบริษัทชั้นนำ ในเกาหลีใต้ มาก่อสร้างให้ - ทั้งหมดที่เห็นไม่ตอกเสาเข็ม
เทศบาลเมืองมาบตาพุด อนุมัติให้ก่อสร้างได้ ถูกต้องตามกฎหมาย

หนังสือร้องเรียน ถึงคุณอานันท์ ปันยารชุน และประธานกรรมาธิการต่างๆ

หนังสือขอเข้าพบ นายอานันท์ ปันยารชุน ของ คณะกรรมธิการต่างๆ ของวุฒิสภา
เพื่อหารือ เรื่อง 11 ประเภทโครงการรุนแรง

รายงานการปรับถมดินใหม่ ของ โรงแยกก๊าซ ที่ 6 ปตท. สิงหาคม 2550-มกราคม 2551
บ้านจัดสรร บนพื้นที่ปรับถมใหม่ จำนวนมากทรุดพัง แต่ส่วนใหญ่หาคนรับผิดชอบไม่ได้
จนกลายเป็นภาระของประชาชน ที่รัฐบาลชอบอ้างว่า ประเทศไทย เป็นนิติรัฐ

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

เตือน! หายนะภัย จากภาคอุตสาหกรรม มักง่าย ซ้ำๆ กับภาคประชาชน

บอร์ดที่เตรียมไป ในการประชุมเครือข่ายภาคประชาชน หลายภูมิภาค ทั่วประเทศ
กลุ่มพิทักษ์อากาศ ออกเตือน ในการประชุมเครือข่าย ภาคประชาชน อีก วันนี้ 10 ก.ย. 53 ที่สตาร์พลาซ่า จ.ระยอง ไม่ได้รับความใส่ใจ สนใจกับแกนนำเครือข่าย เหมือนเคย แถมวันนี้ ยังมีมวลชน มาก่อเสียงรบกวนขณะที่ ให้ข้อคิดเห็น - ได้ชี้แจง ตรงๆ ขณะ สส.สาธิต และ สว.สาย ของ จ.ระยอง มาเยี่ยม ในการประชุมด้วย โดย สว. สาย ให้ข้อคิดเห็นหนักแน่นว่า จะประชุม กรรมาธิการ สิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
ไม่มีใครถ่ายรูปให้ เลยต้องยืนยันด้วยนามบัตร
ถ้าผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปสามารถทำหน้าที่แทนประชาชนได้อย่างดี มีประสิทธิภาพสมกับที่ ประชาชนไว้วางใจ ประชาชนก็จะอยู่ดี มีสุข ประเทศชาติและท้องถิ่น เจริญพัฒนา ปัญหาความเดือดร้อนของ ประชาชนได้รับการเยียวยาแก้ไข
จดหมายร้องขอ ให้ ส.ว.ระยอง-ส.ส. ระยอง ช่วยชีวิตคนมาบตาพุด
ผมชี้แจงเพิ่มว่า สัญญาณร้าย! ส่งมาซ้ำๆ อีกแล้ว หลังจากโดนการปฏิเสธที่จะรับไม้ต่อ โดย...
วันนี้ ตอนเย็น ... หลังจากเครือข่ายประชาชน ปฏิเสธ ที่จะเคลื่อนเรื่องนี้
วันที่ 10 ก.ย. มีเหตุท่อก๊าซระเบิด ในซานฟรานซิสโก http://envir-news.blogspot.com/2010/09/10-53.html
วันที่ 5 ก.ย. ถังน้ำมันระเบิด ที่ศรีราชา http://envir-news.blogspot.com/2010/09/5-53.html
วันที่ 12 ก.ค. น้ำท่วมโรงแยกก๊าซ ปตท. ก่อนหน้า ที่ ปตท. จะเปิดชี้แจง กับชาวบ้านว่าทำไมไม่ตอกเสาเข็ม ในวันที่ 13 ก.ค. - ทั้งๆที่ บนเนินน้ำไม่ท่วม ยังตอกเสาเข็มจำนวนมาก - http://khonmaptaphut.blogspot.com/2010/07/blog-post_22.html
วันที่ 7 มิ.ย. ถังคลอรีน ล้มพัง - ศาลไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน 3 มิ.ย. 53
สัญญาน กับความจริง ที่เริ่มน่าหวาดกลัว
อิทัปปัจจยตา เมื่อประมาณ 10 วันก่อน มีอุบัติเหตุไฟไหม้ในโรงแยกก๊าซที่ 6 และเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีการซ้อมแผนอพยพ แต่ทำกันเฉพาะคนในโรงงาน แล้วชาวบ้าน ล่ะครับ รู้เรื่องนี้มั้ย เพราะปิดเงียบกันหมด ไหนครับสัญญาณเตือนภัย! คุม ... อยู่หรือครับ ในเมื่อกลางทะเล ยังปล่อยให้ระเบิด ทั้งๆที่ ปตท. รู้ ล่วงหน้า มานานกว่า 2 เดือนครึ่ง

ด้วยความเคารพ ในความเป็นประชาชน และชิงชังสาปส่ง กับความไม่มี หิริโอตตัปปะ ของภาครัฐ

วันนี้ ผมขอคุยตรงนี้ ขอเสริมเรื่องที่ลุงน้อย ยังไม่ได้พูด ! คงใช้เวลาประมาณ 7-10 นาที อดทนฟังก่อนนะครับ กับปัญหาเร่งด่วน ของคนมาบตาพุด บางคนคงเคยฟังแล้วและบางคนยังไม่เคยฟัง ขอซ้ำอีกทีแบบมีเหตุมีผล ผิดหรือครับ! ที่ ช่างซ่อมรถ จะบอกว่าลืมใส่ผ้าเบรกใหม่ ให้รถทัวร์ ที่กำลังขับขึ้นภูเขา หรือคิดกันว่า บอกแล้วจะสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คน เพราะเจ้าของรถทัวร์-คนผลิตรถขาย เรียงหน้ากัน ออกมาบอกแล้วว่า มันปลอดภัยดี ถึงตรงนี้ คุณเชื่อใคร? เพราะบังเอิญ ช่างซ่อมรถ ก้ออยู่บนรถทัวร์เสี่ยงคันนั้นด้วย แต่ช่าง 2-3 คน กำลังโดดรถ ไปหางานใหม่ จะย้ายไปอยู่แถวๆ ปลวกแดง คงเพราะผมทำอะไรไม่สำเร็จ ช้าเกินไป ... เพราะรู้มากกลัวมาก! หางานใหม่ ลาออกตาม อีกเป็นสิบ แต่วันนี้ ภาคประชาชน ที่บอกว่า ห่วงใยชีวิต-สุขภาพ คนมาบตาพุด ห่วงสภาวะแวดล้อม มาบตาพุด ขอให้ใจเย็นๆ รอ เจ้าของรถทัวร์ บริษัทรถทัวร์ คนขายรถทัวร์ ผู้ชำนาญการต่างๆ ออกมาชี้แจงก่อน ทั้งที่ชี้แจงมา 2-3 รอบแล้ว แต่คราวนี้ จะเอาทีวีมาถ่าย มาช่วยกันยืนยัน ว่า รถมันปลอดภัยดี ทั้งๆที่ช่างซ่อมรถย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไม่ได้ใส่ผ้าเบรกใหม่ให้ แถมตอนนี้ ยังโดดรถหนีตายอีก! เพราะบอกแล้ว ไม่มีใครฟัง หยุดยั้งไม่ได้ ...

และอีกนั่นแหระ รถทัวร์คันนี้ มันจอดรอเช็คสภาพ มาอยู่ตั้งนาน ... แต่ไม่มีใคร คนไหนใส่ใจสนใจ ทั้งที่ร้องบอกแล้ว ตะโกนบอกแล้วซ้ำๆ ย้ำถึงเหตุที่จะเิกิด แต่ไม่คิดจะตรวจสอบ-แก้ไขกัน

ถึงเวลานี้ รถติดเครื่องรอ กำลังจะออก แต่ ... ผู้คน/สังคม เฉยกันหมด ... กำลังรอ ให้รถวิ่งขึ้นเขา เบรคแตก-ตกเขา-ตายยกคัน! กันก่อน ประหลาดดี! เลือดเย็น...จนน่าใจหาย น่าอนาถ น่าประหลาดใจ

ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่ง ชาวต่างชาติ และผู้คนจำนวนมาก รีบตะเกียกตะกายขึ้น กลัวไปไม่ทัน ภาครัฐ/เจ้าของรถ บอกนี่ไง ความเชื่อมั่น! กำลัง...ดันทุรังกันไปตายเอาดาบหน้า บนเครื่องบินโดนเขียนขู่ว่า มีระเบิด ยังต้องรีบลงจอด แล้วตรวจสอบ เมื่อมีข้อมูลที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย

แต่เรื่องโรงแยกก๊าซ ใหม่ ของ ปตท. โรงแยกก๊าซที่ 6 ที่วันนี้ น่าจะเป็นหนึ่ง ใน 18 ประเภทกิจกรรมหรือโครงการ เสนอโดย คกก.4 ฝ่าย ที่จะส่งผลกระทบรุนแรง เพราะการทรุดพังจากการไม่ตอกเสาเข็มทั้งหมด อาจเกดระเบิดลุกลามร้ายแรง แต่ก้อไม่อยู่ในนั้น ทั้งๆที่หลายภาคส่วนรับรู้เรื่องนี้มากันนานมากแล้ว คงเพราะเป็น ปตท. แล้วการพูดประเด็นนี้ มันเรื่องใหญ่มาก ที่บอกว่า มันกระทบเศรษฐกิจ กระทบหลายภาคส่วนจำนวนมาก ที่ยังต้องเกื้อกูล! อยู่กับ ปตท. คงเป็นแบบนั้น

วันนี้ ... กลุ่มวิศวกรที่ก่อสร้างฐานราก โรงแยกก๊าซใหม่ ปตท. ออกมาบอกว่า มันจะทรุดจะพัง วิศวกรกลุ่มนี้ ถามว่ามีมวลชนมั้ย คงไม่มีหรอกครับ มีหลายคนบอก ก้อกำลังรอ ปตท. ชี้แจง ก้อในเมื่อคนที่สร้าง คนที่ทำ บอกว่าที่ทำไว้ มันเสี่ยงมาก เพราะรู้ว่าที่ทำ ทำกันไว้แบบไหน ถึงวันนี้ เราจะรอถามใคร ถามเจ้าของโรงงาน ที่มักง่าย รอถาม คนที่ต้องรับผิดชอบตรวจสอบแต่เฉยชา เช่นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แล้วจะรอถามใคร เข้าใจนะครับว่า เป็นโครงการ หัวหอก ที่จะส่งผลกระทบมาก

ถึงวันนี้ภาคประชาชน เกรงว่า ความล่าช้าของโรงงานเสี่ยงหายนะ จะมีผลกระทบ กระทบอะไรครับ คนมาบตาพุด นอนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ภาคประชาชน บอกหยุดก่อนรอก่อน เพราะที่พูดกระทบ ปตท. ที่สนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆจำนวนมาก เอื้อค่าโฆษณาให้สื่อมวลชนทั้งหมดของประเทศนี้ ถ้ามีปัญหา ที่จะหยุดโครงการนี้ โรงแยกก๊าซ ปตท. จะเสียหายมาก ถามวันนี้ เราทำอะไรอยู่ ห่วงอะไร ห่วงโรงงานมันจะเดินหน้าไม่ได้ หรือห่วงอะไร มีบางคนบอกว่า ถ้าพูดแบบนี้ ก้อต้องตรวจสอบทั้งหมดใหม่ เรื่องความไม่แข็งแรง ก้อมันแบบนั้นจริงๆ ที่รั่ว 2 ครั้ง ตอน คกก.4ฝ่ายมา มาบตาพุด มันเรื่องความแข็งแรง ถังคลอรีนทรุดพัง มีผู้ป่วยหลายร้อย วันนี้ ทำไม ต้องกลัวว่า โรงงานจะต้องถูกตรวจสอบ ถูกไม่ไว้วางใจ

ผมมาตรงนี้ ผิดที่มั้ย จริงๆวันนี้ วางแผนกันไว้ว่า จะไป ยูเอ็น ไปสถานทูตต่างๆ ทำไมรู้มั้ยครับ เพราะ ปตท.ใหญ่มาก แล้วกลุ่มวิศวกรแบบผม ไม่มีมวลชน ไปกดดัน แม้ทุกภาคส่วนรับรู้กันหมดแล้ว คกก.4 ฝ่ายรู้เรื่องนี้ มานานกว่า 5 เดือน รวมทั้งกรรมมาธิการต่างๆ ทั้ง สส. สว. ขนาดเจโทร ยังตอบมาว่า เรื่องนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องจัดการให้เหมาะสม รัฐบาลไทยหมกเม็ด ถามว่า คนชาติอื่นๆ เค้าจะเชื่อถือหรือ และตรงนี้ ภาคประชาชน รับรู้เรื่องแล้ว เฉยชาเย็นชาอีก เพราะเป็น ปตท. หรืออย่างไร ... ผมหยุดแค่นี้ พูดไปมากเรื่องมากความ ขัดใจ ผู้คนจำนวนมาก เพราะผมรู้ ถึงความอึดอัดของหลายฝ่าย เพราะเรื่องนี้ กระทบตรงหัวใจ ของ ปตท. ผมถามว่า...ถึงเวลานี้ เรากล้าหยุด ปตท.มั้ย ทุนอุตสาหกรรมอภิมหาใหญ่ ที่มีอิทธิพล ต่อทุกวงการ ถามอีกทีครับ ว่า กล้าหยุดมั้ย (เสียงเบาจัง) ผมเชื่อแบบนั้นว่า กล้า แต่ถึงอย่างไร ผมเชื่อว่า เขามีอิทธิพลมากครับ แต่...ถึงวันนี้ ปตท.ต้องหยุด-เพื่อตรวจสอบ ซ่อมสร้าง จนไม่มีความเสี่ยง เห็นด้วยมั้ยครับ!

มาบตาพุด ที่นายกบอกต้องให้เร่งรัดจัดหา เรื่องเครื่องมือเตือนภัย ปลายเหตุมั้ยครับ ตรงนี้ รู้ว่ามีภัย แทนที่ ควรกำจัดภัยซะก่อน เสียเวลาอีกสักนิด ช้าไปอีกสักหน่อย ที่จะทำให้อะไรๆ มันแข็งแรง

อิทัปปัจจยตา เมื่อประมาณ 10 วันก่อน มีอุบัติเหตุไฟไหม้ในโรงแยกก๊าซที่ 6 และเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีการซ้อมแผนอพยพ แต่ทำกันเฉพาะคนในโรงงาน แล้วชาวบ้าน ล่ะครับ รู้เรื่องนี้มั้ย เพราะปิดเงียบกันหมด ไหนครับสัญญาณเตือนภัย! คุม ... อยู่หรือครับ ในเมื่อกลางทะเล ยังปล่อยให้ระเบิด ทั้งๆที่ ปตท. รู้ ล่วงหน้า มานานกว่า 2 เดือนครึ่ง

ชีวิตคนมาบตาพุด ไม่ใช่เงินเบี้ย ในบ่อน ที่รัฐบาลจะยอมเท หมดทั้งตำบล เพื่อความสถาพรด้านเศรษฐกิจ ได้เสียตรงนี้ ชีวิตคนนะครับ ไม่ใช่ผักไม่ใช่หญ้า และถึงวันนี้ ต้องถามรัฐบาลว่าการกินผักกินหญ้าบาปมั้ย เพราะผักหญ้าก้อมีชีวิต ถาม ... เพื่อตรวจสอบความเป็นมนุษย์ ทำไมเลือดเย็น! มองเห็นคนมาบตาพุดไม่ต่างกับเบี้ยกับหอยบนโต๊ะพนัน

และผมก้อไม่รู้ว่า ภาคประชาชนตรงนี้ สนใจเฉพาะเรื่อง สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ เท่านั้นหรือไม่ หรือแบบบางคนให้ความเห็นว่า ควรต้องไปหาที่อยู่ใหม่อื่นอยู่ แบบโรงงานชอบพูด แบบประชาชนคนรักโรงงาน ชอบพูดชอบบอก ว่าถ้าตรงนี้ไม่ดี มันอันตราย มันเสี่ยง ก้อย้ายไปอยู่ที่อื่นซะ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐประกาศ 11 โครงการรุนแรงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดย ...ศรีสุวรรณ จรรยา

โดย ...ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน thaisgwa@gmail.com เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 53 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ตามการชงเรื่องขึ้นมาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีมติเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 53 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นประธานฯ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คงนำเสนอโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ให้กับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ทราบและพิจารณาว่าควรจะเห็นชอบประเภทโครงการรุนแรงต่าง ๆ ตามที่นายอภิสิทธิ์ เสนอขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 36 คน แต่มีกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เป็นรัฐมนตรีโดยตำแหน่งประมาณ 11 คนนั่งประชุมร่วมอยู่ด้วยคงไม่มีใครกล้าคัดค้าน โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกอบด้วย 1)การถมทะเลหรือทะเลสาบตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป 2)เหมืองแร่ต่าง ๆ 3)นิคมอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม 4)โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง 5)โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ (ยกเว้นเหล็กและอลูมิเนียม) 6)การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตภาพรังสี 7)โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตราย 8)การก่อสร้าง ขยาย หรือเพิ่มทางวิ่งเครื่องบินความยาว 3,000 เมตรขึ้นไป 9)ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่า 300 เมตรขึ้นไป 10)เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป และ 11)โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 100 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 150 เมกกะวัตต์ขึ้นไป หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 3,000 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โครงการหรือกิจการดังกล่าวข้างต้นที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ถือได้ว่าเป็นการตบหน้าข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี ฯพณฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานอย่างชัดแจ้ง เปรียบเสมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าไม่มีผิด เพราะก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมา เพื่อให้ไปแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองให้ลุล่วง โดยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อให้ไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศทั้ง 4-5 ภูมิภาค เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปของเสียงส่วนใหญ่ว่าโครงการหรือกิจการประเภทรุนแรงนั้นควรมีโครงการประเภทใดบ้าง ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ทำงานตามอำนาจหน้าที่ ต้องเสียเงิน เสียงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนนับ 10 ล้านบาท เสียเวลาไปกับการทุ่งเทการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติที่เห็นพ้องร่วมกันของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จนในที่สุดคณะอนุกรรมการได้ข้อคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศมามากกว่า 25 โครงการประเภทรุนแรง แต่เมื่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณาเหตุผล ข้อมูลเชิงวิชาการ จากนักวิชาการและนักปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วมีข้อสรุปยุติร่วมกันว่าโครงการที่เข้าข่ายเป็นโครงการประเภทรุนแรงเบื้องต้นน่าจะมี 18 ประเภทโครงการด้วยกัน คือ 1)การถมทะเลหรือทะเลสาบ นอกชายฝั่งเดิม 2)เหมืองแร่ต่าง ๆ ทุกประเภท 3)นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรม 4)โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นขนาด 100 ตันต่อวันขึ้นไป ขั้นกลางขนาด 700 ตันต่อวันขึ้นไป หรือขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป 5)โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ ทุกขนาด 6)การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสีทุกขนาด 7)โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด 8)สนามบินหรือการขยายทางวิ่งที่มีความยาว 1,100 เมตรขึ้นไป 9)ท่าเทียบเรือ ที่มีความยาวหน้าท่า 300 เมตรขึ้นไป 10)เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำขนาด 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป หรือพื้นที่กักเก็บตั้งแต่ 15 ตร.กม.ขึ้นไป 11)โรงฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 150 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด 12)โครงการในพื้นที่แหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณสถานโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เจตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13)สิ่งก่อสร้างนอกชายฝั่งเดิมเพื่อกันคลื่นในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาชีพท้องถิ่น 14)เตาเผาขยะติดเชื้อ 15)การชลประทานขนาดพื้นที่รองรับ 80,000 ไร่ขึ้นไป 16)การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำและลุ่มน้ำระหว่างประเทศ 17)สิ่งก่อสร้างกั้นขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลัก 25 ลุ่มน้ำ และ 18)การสูบน้ำเกลือใต้ดินทุกขนาด จะสังเกตเห็นว่าหลายโครงการหรือกิจการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีตัดโครงการทิ้งไปโดยไม่มีเหตุผล หรือให้เหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ มาอ้างอธิบาย และหลายโครงการก็ได้เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เคยมีโครงการประเภทนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย เช่น การขยายทางวิ่งสนามบินจาก 1,100 เมตร เป็น 3,000 เมตร โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะจากทุกขนาด เป็นตั้งแต่ 5,000 ตันต่อวันขึ้นไป และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจาก 700 เมกกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกกะวัตต์ การถมทะเลทุกขนาด ขยายเป็นตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป เป็นต้น ที่สำคัญโครงการอื่น ๆ ที่ถูกตัดทิ้งไปนั้นคณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ทางการปกครองเลย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะในอดีต คชก.เคยตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผิดพลาดมาก็มากมาย แต่ไม่เคยมี คชก.คนใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ที่ผิดพลาดเช่นนั้นของตนเองหรือพรรคพวกเลย แต่ ณ วันนี้ คณะรัฐมนตรีกลับยังมอบอำนาจการตัดสินใจว่าโครงการอื่นใดที่รัฐยังไม่ประกาศ ให้เป็นดุลยพินิจของ คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั่งประชุมกันในห้องสี่เหลี่ยม แล้วทึกทักเอาว่าโครงการไหนบ้างเป็นโครงการรุนแรง โดยไม่ฟังเสียงมติของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 87 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังเสียงของประชาชนแล้ว ย่อมถือได้ว่านายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการไปโดยนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ดังนั้น เป็นความชอบธรรมของประชาชนทั่วประเทศและผู้มีส่วนได้เสีย ที่เคยเสียเวลาไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทั้ง 4-5 ภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถใช้สิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ 11 โครงการหรือกิจการที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบไปแล้วนั้น เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ปาหี่ 11+7 ประเภทกิจกรรมหรือโครงการ ที่ส่งผลกระทบรุนแรง

ปาหี่ 11+7 ประเภทกิจกรรมหรือโครงการ ที่ส่งผลกระทบรุนแรง

ความจริงแล้ว เรื่องต่างๆ ที่เป็นข้อกฎหมาย แม้ถึงมีจริงๆ ก้อไม่สามารถควบคุมได้ เพราะประเทศไทย ไม่ได้เป็นนิติรัฐ วันนี้ ... เรามีภาคอุตสาหกรรม ยำยีสภาวะแวดล้อม แล้วมีผู้อ้างว่าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กระทืบซ้ำ อีกหรือไม่คงต้องคอยดูกันต่อไป

18 ประเภทกิจกรรมหรือโครงการ ภาคอุตสาหกรรมรม ที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่ออกมาจาก คกก. 4 ฝ่าย ที่เอื้อสุดโต่งกับภาคอุตสาหกรรมนั้น ถึงวันที่ศาลพิพากษาตัดสินเสร็จ กลับกลายเป็นฝ่ายผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมทันที ตลกครับ จัดมากันเป็นฉากๆ เล่นกันเนียนๆ แบบมีผู้กำกับ รัฐบาลอ้างว่าเอาไปดูก่อน ขยับปรับแต่ง ส่งต่อ เหลือ 11 รุนแรงที่เอื้อสุดๆ แล้วที่ไม่เกี่ยวภาคอุตสาหกรรมมากนักเฉไฉตัดออก เพื่อรอการเรียกร้อง เช่นโครงการดูดน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งปกติรัฐบาลไม่ให้ทำอยู่แล้ว สำหรับขนาดใหญ่ ก้อตัดออกไปเลย ตรงนี้ ขุดบ่อล่อปลาบึกใหญ่ เอาไว้ให้เรียกร้องต่อรอง เพื่อให้ ไอ้ 11 ที่เฉไฉ มันผ่านไปง่ายๆ แบบมีฉันทานุมัติ ก้อเท่านั้น

สั้นๆ ง่ายๆ ถึงตอนนี้ ถ้าได้ครบ 18 โครงการเสี่ยง จบเลยครับ ฝ่ายผู้ใส่ใจสนใจสิ่งแวดล้อมชนะแล้ว โอ้ แผนตื้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ ประชาชนเค้ารู้ทัน แต่จริงๆแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากรู้ เบื่อกับปัญหาระงับโครงการมาบตาพุด อ้างว่าฉุดรั้งเศรษฐกิจ แบบสื่อทุกสายแจง ไม่มีใครสนใจว่ามาบตาพุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม จบได้แล้วประเทศจะได้เดินหน้าต่อ นี่ไง แบไต๋ ... สังคมไทย แบบแบแล้วแบะก้อไม่มีใครใส่ใจ เหมือนที่เราไม่สนใจ เขมร ลาว พม่า หรือ ประเทศไหนๆ ในกลุ่มอาเซี่ยนทำ อะไรๆประมาณนั้น

มาบตาพุด ที่ซึ่งคนในพื้นที่ อยากให้มีก๊าซรั่ว จะได้แห่ไปรับค่ารักษา จนมีผู้บาดเจ็บเกินจริง ว่าตกลง 700 หรือ 300 คน ที่เจ็บป่วยจากก๊าซคลอรีนรั่ว เห็นมีแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ออกมาบอกว่าเหม็นสุดทน เสียงดังจนประสาทเสีย แล้วก้อเด็กๆ ที่ไร้เดียงสา บอกว่า เหม็นจนชิน พอก๊าซรั่ว ครูบอกให้ไปอยู่ในห้องคอม มีคนอ๊วกแตก เยอะ อะไรแบบนั้น เสียงเหล่านี้ ยังจะดังไม่จบ เพียงแต่ไม่มีข่าวนำเสนอ แม้วันนี้ 11+7 แล้วจบ เสียงที่เงียบหายในข่าว ยังคงดังอยู่ตลอดในพื้นที่มาบตาพุด แม้จะมีรอยยิ้ม อาการหัวร่อร่า ชูมือว่าได้ชัยชนะ ของผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้ว

วันที่ 5 ธันวา 52 คกก. 4 ฝ่าย มา มาบตาพุด ก๊าซรั่วรับแล้วไล่ส่ง ปิดวิก 6มิถุนายน 53 พอวันที่ 7 มิถุนายน ถังเก็บคลอรีน ล้มพัง ไล่ส่ง จนมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน อาการโดยสรุป คือน้ำยาลบหมึก หกราดบนโต๊ะ งงเลยตรงนี้ อะไรหว่าน้ำยาลบหมึก สมัยที่ยังใช้ปากกาหมึกซึมนั่นล่ะ จะมีน้ำยาลบหมึก พอหยดลงไป หมึกที่เขียนก้อจางหายไปแบบนั้น อาการเวียนหัวคลื่นใส้ อาเจียน ในรายที่รุนแรงมาก อาจถ่ายมาก เหนื่อยหอบหายใจไม่ออก ตรงนี้ล่ะ คือบทสรุปของ คกก.4 ฝ่ายทั้งคณะ น่าคลื่นเหียน อาเจียน เพราะ 2 ครั้งที่เกิด บังเอิญเกิดจากความแข็งแรงของวัสดุ แข็งแรงมากไปไม่ดี ยอมให้ยืดหยุ่นได้ก้อทรุดก้อพัง ตรงนี้ถ้าไม่อธิบาย คงไม่ได้ ครั้งแรกเหตุจากการส่งรับก๊าซ จากเรือ ตรงนี้ท่อต่อข้อต่อต้องมีความยืดหยุ่นให้ตัวได้ แต่กับแข็งเปี๊ยะรัดแน่น พอโยกคลอนย่อมหักพังแตก ครั้งที่สอง มาจาก ไอ้ของที่ไม่ควรพัง แล้วมันพังเพราะฐานรองรับมันไม่แข็งแรงเพียงพอ บ้างบอกว่า ฐานคอนกรีตทรุดเพราะดินทรุด บ้างก้อว่า ขาเหล็กเป็นสนิม เพราะคลอรีนกัดกร่อน มันอะไรก้อช่างตรงถังคลอรีนล้มมันแข็งแรงไม่เพียงพอ เลยสรุปว่า แข็งมาก อ่อนมาก ย่อมไม่ดี ถ้าไม่ใช่เป็นความต้องการจริง ฮาตรืม!!! 2เหตุการณ์ไล่ส่ง คกก. 4 ฝ่าย มาจากความแข็งมากและไม่แข็งพอเพียง ตรงนี้ มันก้อบอกอีกถึง พฤติกรรม ในการผ่านเรื่องต่างๆ (เอาแบบสั้นๆง่ายๆ)

วันที่ 26 มีนาคม ผมไปร่วมประชุมรับฟังประชาพิจารณ์ ของอนุฯรับฟัง ของ คกก.4 ฝ่าย ในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันกับช่วงที่สุนัขสุดเลิฟ เลี้ยงมา 13 ปี กำลังนอนป่วยหนักพะงาบๆ เป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหา ผมไปเพื่อบอกว่า กิจกรรมหรือโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง คือ

1. การทดสอบระบบ ที่ไม่มีมาตรการที่รัดกุม

2. การก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง เช่นการไม่ตอกเสาเข็มฐานรากโครงสร้างพิเศษสำคัญต่างๆ เพราะถ้าอาศัยแค่ดินแข็งยอมให้ทรุดได้ ยามดินอ่อน ย่อมส่งผลกระทบ เช่นโรงแยกก๊าซ ใหม่ของ ปตท. ที่มีความเสี่ยงทรุดพัง

อธิบายไม่ทันจบ โดนไล่ให้เลิกพูด ให้ไปแจ้งความที่อื่น อันที่จริงก่อนพูดผมก้อถามแล้วนะว่า ในห้องประชุมรับฟังเรื่องนิคมอุตฯ และเรื่องปิโตรเคมี-โรงแยกก๊าซ มีคนมาบตาพุด กี่คน พอยกมือ มี ผม 1 และอีกหนึ่งอยู่บ้านฉาง ทั้งที่มีคนมากกว่าร้อย ประธานบอก ว่าบอกตั้งแต่ต้นว่าไม่ให้พูด แล้วยังจะพูดอีก ตอนสุดท้ายบอกให้ไปแจ้งความที่อื่น สุนัขสุดเลิฟของผมจากไป 27มีนาคม หลังจากไปเที่ยวชายทะเล แบบสุนัขสูงวัยที่มีความสดชื่น เฮ้อ!

วันที่ 2 เมษายน ผมไปอีก เพื่อจะไปบอกว่า การก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง เช่นการไม่ตอกเสาเข็มฐานรากโครงสร้างพิเศษสำคัญต่างๆ เพราะถ้าอาศัยแค่ดินแข็งยอมให้ทรุดได้ ยามดินอ่อน ย่อมส่งผลกระทบ เช่นโรงแยกก๊าซ ใหม่ของ ปตท. ที่มีความเสี่ยงทรุดพัง วันนั้นพบ ประธาน คกก. 4 ฝ่าย เพราะผมนั่งแถวหน้า นั่งห่างจากผมประมาณ 6 เมตร ผมได้โอกาส เลยเอากรณีศึกษาไปส่งด้วย กับมือ อธิบายซ้ำๆ และคงเป็นอีกวัน ที่มีคนฟังแต่ไม่มีใครใส่ใจ เพราะเรื่องของผมถูกตัดออกจากกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง อ้างว่ามีการควบคุมแล้วจากหน่วยงานอื่น และกินความกว้างเกินไป ที่บอกว่า การก่อสร้างฐานรากโครงสร้างพิเศษสำคัญต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมอันตราย (ก๊าซไวไฟและสารเคมีอันตรายต่างๆ) จะต้องทำให้แข็งแรง อยู่บนเสาเข็ม ไม่ปล่อยให้มีโอกาสทรุดพังได้ อือ! ... พอ 2 เดือน ให้หลัง คกก.4 ฝ่าย มาเที่ยวมาบตาพุดอีก 7 มิถุนายน 53 ถังคลอรีน มันเลยทรุดพังประชดไล่ส่งซะเลย เป็นแบบนั้น... ตรงนี้ผมไม่สรุป ให้คิดกันเอง

ทุกสรรพสิ่ง เกิด ตั้งอยู่ ทรุดลง ย่อมมีเหตุมีปัจจัย ตามกฎทางพุทธ เรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือกฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือกฎสูงสุดของความไม่แน่นอนเที่ยงแท้ นั่นเอง ดังนั้น เหตุทรุดพังย่อมมาจากปัจจัยต่างๆ ที่แข็งแรงไม่เพียงพอของฐานที่รองรับ โดยที่มีปัจจัยอื่นๆมาประกอบหรือส่งผลกระทบ

ไม่สรุป - เพราะคิดว่าน่าจะสรุปได้เอง

ปาหี่

คำแปล [n.] acrobatics

ตัวอย่างประโยค ปาหี่ คือการแสดงพลกรรมเพื่ออวดสรรพคุณของกอเอี๊ยะ ขี้ผึ้งวิเศษบำบัดฟกช้ำ

หมายเหตุ การแสดงกลหรือกายกรรมของนักแสดงเร่ร่อน

ครม.อนุมัติ11กิจการ กรมชลฯเจอแจ็กพอต เข้าข่าย"ม.67วรรค2"

ครม.อนุมัติ 11 กิจการรุนแรง "สุวิทย์" ลงนามประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้วันถัดไป สผ.ระบุมี 10-12 โครงการโดนหางเลข เปิดรายชื่อ 2 โครงการแรกที่เจอแจ็กพอต "อ่างเก็บน้ำคลองหลวง-ห้วยโสมง" ต้องกลับมาทำ HIA ด้าน กฟผ.เผยไม่กระทบ เหตุโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมที่กำลังก่อสร้างกำลังผลิตไม่ถึง 3,000 MV

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอจำนวน 11 กิจการ โดยทั้ง 11 กิจการจะต้องดำเนินการมาตรา 67(2) รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบสุขภาพ (HIA) การรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้องค์การอิสระให้ความเห็น

ทั้งนี้ 11 กิจกรรมโครงการส่งผลกระทบรุนแรง ที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย

  1. กิจการถมทะลหรือทะเล สาบนอกเขตชายฝั่งเดิม ตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป ยกเว้นการฟื้นฟูสภาพชายหาด
  2. เหมือง ต่าง ๆ ได้แก่ เหมืองใต้ดิน-เหมืองแร่ตะกั่ว/ สังกะสี/ทองคำทุกขนาด, เหมืองถ่านหินขนาด 2.4 ล้านตัน/ปี และเหมืองแร่ในทะเลทุกขนาด
  3. นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือขยายเพื่อรองรับโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงแร่เหล็กมากกว่า 1 โรง ทุกขนาด
  4. โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น ทุกขนาด หรือการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป โรงงานปิโตรเคมีขั้นกลางขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 และขนาดกำลังผลิต 700 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิตรวมแล้วมากกว่า 700 ตัน/วันขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A
  5. โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ โดยโรงถลุงแร่เหล็กขนาด 5,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านโค้กทุกขนาด, โรงถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี กำลังการผลิต 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่ตะกั่วทุกขนาด, โรงหลอมโรงโลหะ (ยกเว้นเหล็กและอะลูมิเนียม) ขนาด 50 ตัน/วัน และโรงหลอมตะกั่ว ขนาด 10 ตัน/วันขึ้นไป
  6. กิจการผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี เดิมทุกขนาด
  7. โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด
  8. โครงการระบบขนส่งทางอากาศ ที่การก่อสร้างหรือขยายทางวิ่งตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป
  9. ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีการขนถ่ายวัตถุอันตรายที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ตั้งแต่ 25,000 ตัน/เดือนขึ้นไป ยกเว้นท่าเทียบเรือโดยสาร หรือท่าเทียบเรือสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค หรือท่าเทียบเรือสำราญ
  10. เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ลบ.ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตร ขึ้นไป และ
  11. โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป, โรงไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ความร้อนร่วม 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด

ด้านนางสาวสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ร่างประกาศดังกล่าว นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามแล้ว เหลือขั้นตอนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากการตรวจข้อมูลเบื้องต้นสำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ และเข้าข่าย 11 กิจการข้างต้นมีอยู่ประมาณ 10-12 โครงการ ครอบคลุมทั้งโครงการด้านอุตสาหกรรม, โรงไฟฟ้า และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายมี 2 โครงการคือ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง จ.ชลบุรี ได้รับความเห็นชอบ EIA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้รับความเห็นชอบ EIA เมื่อเดือนกันยายน 2552 ซึ่งต้องให้โครงการ ดังกล่าวกลับมาดำเนินตามเงื่อนไข มาตรา 67(2) ให้ครบ สำหรับ 76 โครงการในมาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะหลุดจาก 11 กิจการรุนแรงหรือไม่ ก็ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีหลักของศาลปกครองกลางวันที่ 2 กันยายนนี้อีกครั้งหนึ่ง

"ตอนนี้ที่หารือกับกรมชลประทานเบื้องต้น กรมชลประทานแจ้งว่า ได้ศึกษาและจัดเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดทำ HIA แล้ว ก็คงจะไม่มีปัญหา ส่วนโครงการอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้า ต้องประสานไปยังหน่วยงานอนุญาตให้กลับมาดำเนินการตามเงื่อนไขมาตรา 67(2) ด้วย" นางสาว สุชญากล่าว

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ 11 ประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงในช่วงระยะสั้นนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตไม่ถึง 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าใหญ่ในอนาคตที่ กฟผ.จะต้องก่อสร้าง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน นั้นอาจจะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งภาพรวมจะใช้เวลาดำเนินการประเมิน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี แต่จะไม่กระทบต่อเวลาการเริ่มผลิตเข้าสู่ระบบแน่นอน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกจะเข้าระบบในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือในปี 2562