“ปณิธาน” เผย นายกฯ เรียกหารือผลศึกษา 18 กิจการ ที่มีผลกระทบรุนแรงในพื้นที่มาบตาพุด บ่ายวันนี้ ขณะที่ ก.อุตฯ แจงหลังประกาศรายชื่อกิจการรุนแรง มีไม่เกิน 20 โครงการ มูลค่า 5 หมื่นล้าน ห่วงโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับเดินหน้าโครงการ แต่ทำดีอีไอเอ-เอชไอเอ เสร็จแล้ว แต่สุดท้ายยังติดปัญหาส่งให้ คชก.ไม่ได้ เตรียมหารือ ส.อ.ท.11 ส.ค.นี้
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการศึกษาและเติมเต็มทางเทคนิคเพื่อลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง มาประชุมหารือที่รัฐสภา ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าผลศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 18 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรง และคาดว่า การประกาศจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้
“เราคาดหวังว่า ความชัดเจนของ 18 ประเภทโครงการน่าจะชัดเจนภายในเดือนนี้ น่าจะมีการนำมารายงานภายในวันนี้ รวมทั้งความคืบหน้าที่ได้มอบหมายให้ทางสภาพัฒน์และทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่นายกฯมอบให้ไปดู ก็คงจะมีการรายงานภายในวันนี้ด้วย”
โดยวานนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีโรงงานที่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และได้รับอนุญาตหลังประกาศรัฐธรรมนูญปี 50 จำนวน 216 ราย เงินลงทุนรวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่หากดูตามประเภท 18 กิจการ ก็คาดว่า จะมีโครงการที่เข้าข่ายมีผลกระทบรุนแรงไม่ถึง 20 แห่ง คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโครงการประเภทพลังงาน อุตสาหกรรม เหมืองแร่ ปิโตรเคมีและคมนาคม
“ขณะนี้ก็มีหลายบริษัทที่ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ไปบ้างแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีการประกาศเกณฑ์มาตรฐานให้ชัดเจนว่าโครงการใดบ้างที่เข้าข่ายกิจการรุนแรงก็จะทำให้กระบวนการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก”
โครงการดังกล่าวยังไม่ถือว่าเข้าข่ายกิจการรุนแรง เพราะต้องรอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศประเภทกิจการรุนแรงออกมาก่อน ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และขณะนี้เหลือเวลา 1 เดือน ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด จึงเชื่อว่า ภายใน 1 เดือน การกำหนดหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญจะได้ข้อยุติ และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องคอยตอบคำถามนักลงทุนทุกวัน และรับปากว่า จะได้ข้อยุติแล้ว แต่หากไม่ได้ข้อยุติตามกำหนดจะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำงานลำบากมากขึ้นในการเรียกความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้โครงการที่ถูกศาลปกครองระงับการทำอีไอเอและรายงานผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ) ซึ่งโครงการที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับเกือบทั้งหมดเริ่มดำเนินการแล้ว และมีโครงการที่จัดทำเสร็จแล้ว 4-5 โครงการ โดยโครงการลงทุนของบริษัท ดาว เคมิคอล 1 โครงการ ได้ยื่นอีไอเอ และเอชไอเอ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม กังวลเกี่ยวกับโครงการที่ทำอีไอเอ และเอชไอเอ เสร็จแล้ว เพราะเมื่อหลักเกณฑ์ของประเภทกิจการรุนแรงยังไม่ออกมาส่งผลให้ สผ.ไม่สามารถส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) พิจารณาอีไอเอ และเอชไอเอ ได้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมไว้หลายกรณี โดยได้ศึกษาข้อมูลและผลกระทบ ว่า หากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกิจการรุนแรงตามข้อเสนอคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแล้ว จะมีผลต่อโครงการที่ได้อีไอเอหลังรัฐธรรมนูญอย่างไร และหากภายใน 1 เดือน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังไม่ประกาศกิจการรุนแรงก็จะใช้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกิจการรุนแรงเอง
“ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ภาคเอกชนติดตามทางถามกับกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งในขณะนี้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว อาทิ การทำอีไอเอ และเอชไอเอ ก็ต้องนั่งรอคอยอย่างไม่มีกำหนด และส่งผลให้ไม่สามารถตอบบริษัทแม่ในต่างประเทศได้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยส่งผลให้ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม นำประกาศกิจการรุนแรงของกระทรวงอุตสาหกรรม 8 กิจการมาใช้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า ประกาศดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”
รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมทางออกไว้หลายทาง ซึ่งจะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มาหารือเรื่องนี้เพิ่มเติมในวันที่ 11 สิงหาคม 2553 นี้
|
วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ไฟมาบตาพุดลนก้น รบ.สั่งชี้แจงผลศึกษา 18 กิจการรุนแรง - รวมโรงแยกก๊าซ ใหม่ ของ ปตท มั้ย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น