วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เตือนประกาศ11กิจการรุนแรง ส่อขัดธรน.เสี่ยงประชาชนฟ้อง

นักวิชาการ เตือนคกก.สวล.ออกประกาศ 11 กิจการอุตสาหกรรม ไม่ผ่านประชาพิจารณ์คนในพื้นที่ ส่อขัดรธน. อาจถูกภาคประชาชนฟ้องได้ จี้รัฐ เร่งแก้ปัญหา ก่อนมลพิษท่วมระยอง เผยสถิติใหม่ ชาวระยองคว้าป่วยมะเร็งสูงอันดับ 1 ของประเทศ แถมพบสารก่อมะเร็งสูงต่อเนื่อง หอยแมลงภู่ กบ ดีเอ็นเอเปลี่ยน ส.ว.ประสาร จี้ยืน 18 โครงการมาบตาพุดที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง รศ.ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล กรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติที่จะออกประกาศประเภทอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน 11 ประเภท ลดลงจากข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายฯ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่เสนอไว้ 18 ประเภท ว่า รัฐธรรมนูญไทย ที่ไม่มีมาตราใดบัญญัติให้อำนาจหน่วยงานของรัฐ ประกาศประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนได้ โดยที่ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และหากภาครัฐไม่เร่งรีบแก้ไข อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกประชาชนฟ้องศาลปกครองตามวรรค 3 ของมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญไทยได้ ซึ่งการออกประกาศประเภทอุตสาหกรรมฯ เป็นประกาศที่บังคับใช้ทั่วประเทศ เป็นการพิจารณาในภาพรวม จึงไม่สามารถนำมาใช้กับโครงการที่จะสร้างในเขตควบคุมมลพิษในจ.ระยองได้ทั้งหมด “การพิจารณาอนุมัติให้โครงการในมาบตาพุดที่กำลังทำศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน(E/HIA) เพื่อยื่นขออนุมัติจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อยู่ในขณะนี้ ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของรายงานผลการศึกษา E/HIA ให้มาก โดยต้องทำให้ครบถ้วนตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และมุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยง มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ชัดเจน” รศ.ดร. เรณู กล่าว รศ.ดร. เรณู กล่าวต่อว่า การที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม(ทส.) ประกาศพื้นที่ 6 แห่งในจ.ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะศาลได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วว่ามีสารพิษและมลพิษ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เปิดเผยข้อมูลสถิติมะเร็งของประเทศ พบว่าจ.ระยองมีสถิติมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า สารพิษที่มีฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ยังมีอยู่มากในมาบตาพุดและพื้นที่อุตสาหกรรมในจ.ระยอง รศ.ดร. เรณู กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า พบสารก่อมะเร็งในอากาศสูงเกินมาตรฐาน ตั้งแต่ปี 2548-จนถึงปัจจุบัน เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) 1,3-บิวทาไดอีน, เบนซีน และ 1,2- ไดคลอโรอีทเธน ส่วนในน้ำทะเลและตะกอนดินใต้ท้องทะเลพบโลหะหนัก เช่น สารหนู แคดเมียม และปรอท สูงเกินมาตรฐาน สิ่งที่บ่งชี้ถึงอันตรายจากสุขภาพชัดเจน คือ ตรวจพบโลหะหนักในบ่อน้ำตื้นร้อยละ 50 และตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ร้อยละ 18 และผลการตรวจสุขภาพประชาชนพบว่าร้อยละ 34.8 พบโลหะหนักในเลือด และพบอนุพันธ์ของสารเบนซีนร้อยละ 3.67 นอกจากนี้จากการตรวจหอยแมลงภู่ และกบ ในพื้นที่มาบตาพุดเปรียบเทียบกับแหล่งอ้างอิงอื่น พบว่าหอยแมลงภู่และกบ มีสารพันธุกรรม แตกหักสูงกว่าแหล่งอ้างอิงอื่น 4.85 และร้อยละ 72.24 เท่าตามลำดับ จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงผลกระทบของสารพิษจากอุตสาหกรรมต่อชุมชนอย่างชัดเจน
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือต่อที่ประชุมว่า จากกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.)เห็นชอบกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานได้มีมติให้ 11 โครงการมาบตาพุด จาก 18 โครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้ 18 โครงการที่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกผลักออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง โดยนัยยะสำคัญการเขี่ยออกจาก 7 โครงการออกไป จะกลายเป็นการนำเอาเกณฑ์ที่เหลือ 11 โครงการ ไปเป็นข้ออ้างในการการปลดล็อคให้ 76 โครงการ ที่ศาลปกครองสั่งระงับโครงการเป็นการชั่วคราวใช่หรือไม่ เพราะในนี้จะมีโรงแยกก๊าซโรงที่ 6 ที่มาบตาพุด อยู่ในข่ายเข้าเกณฑ์ 7 โครงการที่ปลดล็อคออกไป คงจำได้ว่ารัฐมนตรีท่านหนึ่งได้เสนอ โครงการวอเตอร์กริด คือโครงข่ายชลประทานขนาดใหญ่ในอีสาน มีงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต ซึ่งใน 7 โครงการคือ ชลประทาน ผันน้ำจะครอบคลุมตรงนี้ด้วย ซึ่งหมายความว่าไปเอื้อประโยชน์ให้ด้วย ซึ่งเป็นเมกกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเกิดขึ้นก็จะล้มเหลว เหมือนที่เคยทำมาในอดีต "ผมอยากให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ได้พิจารณาและทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้ง 4 ภาค และมีการโต้เถียงทางวิชาการกันอย่างเข้มข้นให้พิจารณาและยืน 18 โครงการที่มีความรุนแรง" นายประสาร กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สื่อมวลชนไทย เลือกข้าง - อยู่กับประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี อดอยากปากแห้ง

Thaipost 30-Aug.-2010
ผ่านมากว่า 230 วันแล้วกับการพยายามแก้ปัญหาการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง นับตั้งแต่วันที่ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับกิจการชั่วคราวที่อยู่ในมาบตาพุดทั้ง 76 โครงการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2552
ถึงวันนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รำไร หลังจากการประชุมของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2553 ได้มีมติเห็นด้วยกับร่างประกาศประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง โดย ร่างประกาศประเภทกิจการรุนแรงที่บอร์ดสิ่งแวดล้อมเห็นด้วยเบื้องต้นและมีความชัดเจนจำนวน 11 กิจการ จากทั้งหมด 18 กิจการ ตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอมา และมี อีก 2 กิจการ ที่ต้องให้คณะผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาแล้วนำมาเสนอใหม่เป็นรายโครงการ ส่วน อีก 5 โครงการ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า รอดพ้นจากการเป็นกิจการรุนแรง แต่ อีก 3 กิจการ ที่เหลือ แม้ว่าจะไม่ถูกจัดเป็นประเภทกิจการรุนแรง แต่ก็ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หลังจากบอร์ดสิ่งแวดล้อมมีมติออกมาเช่นนี้ ถือเป็นการ "สร้างความหวัง" ให้กับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี เพราะเท่ากับว่าการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่น่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะ 76 โครงการที่ติดอยู่ในมาบตาพุด เพราะสามารถนำเอาร่างมติผลการประชุมของบอร์ดสิ่งแวดล้อมที่เคาะประเภทกิจการรุนแรงออกมาแล้ว ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อศาลปกครองกลางในการขอ "ปลดล็อก" คำสั่งคุ้มครองระงับกิจการชั่วคราว แต่ดูเหมือนปัญหามาบตาพุดจะยังไม่ยอมจบลงง่ายๆ เพราะทางเครือข่ายเอ็นจีโอที่นำโดย นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับ 11 ลิสต์กิจการรุนแรงที่ออกมา เนื่องจากเห็นว่าหลายกิจการที่กำหนดเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป เพราะไม่มีการกำหนดในเรื่องของพื้นที่ และบางโครงการก็มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น โดยขู่ว่าจะมีการนัดชุมนุมเครือข่ายทั่วประเทศ เช่นเดียวกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่เป็นแกนนำในการยื่นฟ้องศาลปกครองคดีมาบตาพุด ก็เตรียมยื่นฟ้องศาลฯ ให้ยกเลิกมติการกำหนด 11 กิจการรุนแรง เพราะถือว่าเป็นการบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่ของภาคประชาชนที่มีมติและเห็นชอบ 18 กิจการตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ เสนอ โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้อัยการที่เป็นตัวแทน 8 หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้อง นำร่างมติประกาศประเภทกิจการรุนแรงตามที่บอร์ดสิ่งแวดล้อมเห็นชอบ 11 กิจการ ยื่นเป็นข้อมูลใหม่ให้ศาลปกครองกลางพิจารณาไต่สวนเพื่อสืบโจทย์และพยาน โดยศาลได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.2553 นี้ แต่เชื่อว่าไม่ว่าคำตัดสินใจของศาลจะออกมาลักษณะใด ทั้งผู้ถูกฟ้องและผู้ฟ้อง ก็จะต้องใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์แน่ ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งและคำวินิจฉัยออกมาแล้ว 5 ครั้ง ให้โครงการดำเนินการต่อได้ 40 โครงการ แบ่งเป็น 1.ศาลปกครองยกเว้นคำสั่งคุ้มครอง 11 โครงการ 2.ศาลปกครองวินิจฉัยว่าได้ใบอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญ 1 โครงการ 3.ศาลปกครองมีคำสั่งให้หน่วยงานอนุมัติตรวจสอบโครงการที่ไม่เข้าข่ายอีไอเอ 14 โครงการ 4.ศาลปกครองมีคำสั่งผ่อนผันให้ก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักร 9 โครงการ 5.ศาลปกครองมีคำสั่งผ่อนผันให้ก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักรเพิ่มเติม 5 โครงการ สำหรับโครงการที่เหลืออีก 36 โครงการ แบ่งเป็น 1.โครงการที่ผู้ประกอบการชะลอการดำเนินการ 7 โครงการ 2.โครงการที่ยื่นขอผ่อนผันและเตรียมหาทางช่วยเหลือ 29 โครงการ โดยเนื้อหาของตุลาการที่ได้แถลงความเห็นทางคดีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. มีเนื้อหาที่ระบุว่าโครงการทั้งหมดยังไม่เข้าข่ายประเภทโครงการที่มีความรุนแรง จึงสมควรยกฟ้อง ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวเสมือนเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ด้านภาคเอกชนโดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็แสดงความโล่งใจในระดับหนึ่ง และเชื่อมั่นว่าผลการตัดสินของศาลปกครองกลางในวันที่ 2 ก.ย.นี้ น่าจะออกมาในแนวทางที่เป็นบวก เพราะมั่นใจว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ดูแลทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชุมชนเต็มที่ และไม่ว่าโครงการจะเข้าข่ายกิจการรุนแรงหรือไม่ ก็ยินดีที่จะทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำรายงานเอชไอเอยังเป็นของใหม่สำหรับเอกชน ระยะแรกอาจจะติดขัดบ้าง แต่ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนก็รอมานานเกือบปีแล้ว "ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถฟ้องร้องได้หากเห็นว่ากิจการใดมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เชื่อว่าภาพรวมเอกชนคงไม่ต้องการปัญหาตามมา แม้ไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรงก็คงจะทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพประกอบในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ส่วนกิจการใดที่คลุมเคลืออาจจะต้องผ่านกระบวนการวินิจฉัย ซึ่งเท่าที่พิจารณากิจการที่จะเข้าข่ายรุนแรงมีไม่มาก" นายพยุงศักดิ์กล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลปกครองกลางมีคำตัดสินออกมาชัดเจนแล้ว ภาคเอกชนโดย ส.อ.ท.จะทำหนังสือชี้แจงไปยังเครือข่ายต่างประเทศเพื่อชี้แจงเรื่องความชัดเจนในการแก้ปัญหามาบตาพุด รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศแก่นักลงทุนต่างชาติด้วย เพราะที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามาบตาพุดเป็นพิเศษ เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะกลางและยาว แต่ที่มีการลงทุนอยู่แล้วก็คงถอดไม่ได้ แต่ถ้าไม่จบก็อาจต้องไปขยายการลงทุนที่อื่นแทนไทย ขณะที่ นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศประเภทกิจการรุนแรงออกมา ก็จะทำให้ภาพการลงทุนไทยชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติก็ยิ้มออกมาได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องรออีกระยะให้ภาพชัดเจนกว่านี้ แต่โดยรวมหากปัญหามาบตาพุดชัดเจน ก็จะทำให้การลงทุนของไทยน่าจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้น "ตอนนี้คงต้องรอคำพิจารณาจากศาลปกครองกลางออกมาก่อนว่าจะออกมาแนวทางใด ซึ่งหากมีความชัดเจนก็คาดว่าน่าจะมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจ 2-3 โครงการ รวมมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้ ซึ่งในส่วนของบีโอไอต่อจากนี้ก็จะนำความชัดเจนที่ได้ไปชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติได้" นางอรรชกากล่าว นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมคงต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองกลางเกี่ยวกับคดีมาบตาพุดออกมาก่อนว่าจะออกมาอย่างไร โดยได้มีการเตรียมพร้อมเป็นการภายในกับในกระทรวงพอสมควรถึงแนวทางปฏิบัติหลังวันที่ 2 ก.ย. ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงเตรียมศึกษาข้อกฎหมายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับคำพิพากษาไว้แล้ว โดยกระทรวงได้เตรียมดำเนินการ 2 เรื่อง คือ เตรียมยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องประเภทกิจการรุนแรง 8 กิจการทันทีเมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการ ที่ต้องรอการลงราชกิจจานุเบกษาก่อน คาดว่าจะใช้เวลาภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเร่งตรวจสอบว่าโครงการที่ได้ใบอนุญาตหลังรัฐธรรมนูญมีกี่โครงการที่เข้าข่ายกิจการรุนแรง "ความชัดเจนของโครงการมาบตาพุดจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นการลงทุน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะเดินทางไปโรดโชว์ที่จีนวันที่ 1-5 ก.ย.53 และจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นวันที่ 14-18 ก.ย.นี้ จะถือโอกาสนี้ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ปัญหามาบตาพุดให้นักลงทุนต่างชาติรับทราบ" นายชัยวุฒิกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลของการตัดสินคดีของศาลปกครองฯ จะออกมาในแนวทางใด สิ่งที่ภาครัฐคาดหวังก็คือ หากออกมาเป็นบวก โครงการที่ไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรงและทำเอชไอเอและอีไอเอแล้ว สามารถเดินหน้าได้ทันที ส่วนโครงการที่เข้าข่ายกิจการรุนแรง ก็รอการจัดทำเฮชไอเอและอีไอเอเสร็จตามเงื่อนไข ก็จะดำเนินการกิจการได้เช่นกัน แต่ถ้าผลที่ออกมาเป็นลบ ทุกอย่างกลับไปเริ่มใหม่ รัฐบาลก็คงมีงานใหญ่ เพราะต้องหาสารพัดวิธีมามัดใจและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนเพื่อรักษาการลงทุนในไทยไม่ให้ถอยหลังเข้าคลอง และเชื่อว่าผู้ฟ้องร้องคงยังไม่เห็นด้วยกับประเภทกิจการรุนแรงที่ออกมา และคงไม่มีนักลงทุนชาติไหนที่จะทนอยู่ความไม่ชัดเจนแบบนี้ได้แน่.
มาบตาพุด : อย่าให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย
ข่าวเนชั่น - 30 ส.ค. 53

การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

ออกประกาศกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 11 ประเภท ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และ สุขภาพ (เอชไอเอ) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ก่อน กำลังจะกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นอีกเมื่อเครือข่ายชุมชนภาคตะวันออกที่มี นายสุทธิ อัชฌาศัย เป็นแกนนำ ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวและมีแผนจะออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล เช่นเดียวกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่มี ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นหัวหอกที่มีแผนจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศกิจการรุนแรงดังกล่าว

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า กลุ่มมวลชนและกลุ่มเอ็นจีโอ กำลังต้องการให้รัฐบาลทำอะไรมากไปกว่านี้ เพราะจุดเริ่มต้นของปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดก็มาจากการฟ้องศาลปกครองของสมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อมที่ระบุว่า ภาครัฐไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 จนเป็นที่มาของคำสั่งระงับโครงการลงทุน จำนวน 76 โครงการ ในมาบตาพุด และกลายเป็นปมประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาพรวมของประเทศไปโดยปริยาย เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจกับการลงทุนในไทย

สิ่งที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและกลุ่มเครือข่ายชุมชนฯ ต้องการ คือ การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ไม่ใช่เหรอ ?? ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงภาคประชาชน และเอ็นจีโอ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ประเภทกิจการรุนแรง การตั้งองค์กรอิสระชั่วคราว

แต่เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ นำหลักเกณฑ์ประเภทกิจการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เสนอมาพิจารณาและประกาศออกเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา กลับไม่เป็นที่พอใจของภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นก็อยู่ในกรรมการ 4 ฝ่าย ที่เป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์กิจการรุนแรงเสนอบอร์ดสิ่งแวดล้อม สุดท้ายแม้กรรมการบางคนจะอ้างว่า 11 ประเภทกิจการที่ออกมาแตกต่างจากที่เสนอไป แต่โดยหลักใหญ่ๆ ก็ยังคงเป็นกิจการที่กรรมการ 4 ฝ่าย เสนออยู่นั่นเอง

ที่สำคัญเรื่องนี้ภาคเอกชน ก็เกือบจะยอมศิโรราบพร้อมปฏิบัติตามสิ่งที่ภาคประชาชนและเอ็นจีโอเรียกร้อง แม้ว่าบางเรื่องจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้วก็ตาม เช่น การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และพร้อมจะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) เพิ่มเติมเข้าไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่เป็นความผิดของภาครัฐที่ไม่ยอมออกประกาศหลักเกณฑ์ตามมาตรา 67 ทั้งเรื่อง เอชไอเอ และ องค์กรอิสระ

"เมื่อเขาทำผิด ภาครัฐก็ลงโทษทั้งปรับ ถอนใบอนุญาต ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อภาคธุรกิจยอมทำในสิ่งที่มวลชนและเอ็นจีโอเรียกร้องทุกอย่างแล้ว ก็ควรจะอะลุ่มอล่วย ให้เขาเดินหน้าธุรกิจต่อได้ เพียงแต่ต้องตรวจสอบได้ เพื่อให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้ ไม่ใช่เอะอะไร ก็นำมวลชนมาชุมนุมก่อม็อบกดดันรัฐบาล ทั้งๆ ที่กฎหมายก็มีอยู่...เราไม่ควรปล่อยให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย"

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4240 ประชาชาติธุรกิจ ข้อยุติมาบตาพุด แค่บทเรียนที่ว่างเปล่า ? บทบรรณาธิการ ดูเหมือนข้อยุติกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ยืดเยื้อมานานนับปี อาจเข้าสู่โค้งสุดท้ายที่จะได้ข้อสรุปเสียที หลังจากล่าสุด ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาสั่งคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกรวม 43 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพวก กรณีกระทำการมิชอบในการออกใบอนุญาตให้ 76 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงใน จ.ระยอง ในวันที่ 2 ก.ย. 53 เวลา 13.30 น. และก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ด สวล.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็เพิ่งจะมีมติอนุมัติร่างกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โดยเห็นชอบให้ 11 กิจการเป็นกิจการรุนแรง จากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดได้เสนอมาจำนวน 18 กิจการ อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากปฏิกิริยาของทั้งฝ่ายเอกชน ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน ทั้งที่ได้รับผลกระทบโครงการต่าง ๆ ชะงักงันไปในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่กิจการ เข้าข่าย 11 ประเภทที่ถือเป็นกิจการอันส่งผลกระทบรุนแรง และในฝ่ายของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ต่างก็ยังไม่พอใจกับข้อสรุปที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่หมดภารกิจที่จะต้องตอบคำถาม สร้างความชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นในประเด็นที่มีการพิจารณาปรับลดประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงจาก 18 ประเภทให้เหลือเพียง 11 ประเภทนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างโปร่งใสแล้วหรือไม่ มีการโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องหรือกลุ่มผลประโยชน์ดังที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า ขณะเดียวกันในด้านของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ จะมีคำชี้แจงหรือรับประกันได้เต็มปาก หรือไม่ว่า ปัญหาข้อขัดแย้งและภาวะคลุมเครือชะงักงันของการลงทุนจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และพื้นที่อื่น ๆ ที่จะเกิดโครงการลงทุนอุตสาหกรรมที่อาจเข้าข่าย "กิจการรุนแรง" ถึงที่สุดแล้วประเด็นหลักมิได้ขึ้นอยู่กับว่า จะมีการประนี ประนอมให้เกิดการลงทุนได้มากขึ้นเท่าไร เป็นมูลค่าสูงขนาดไหน เช่นเดียวกันกับที่ทางออกหรือข้อยุติย่อมไม่อาจตอบ สนองทุกข้อเสนอหรือความต้องการทั้งหมดของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นหลักของการหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อที่ จะก้าวออกมาให้พ้นปัญหาความขัดแย้งและภาวะชะงักงันนั้น ทุกฝ่ายน่าจะยึดหลักยอมรับกฎกติกาที่หาข้อยุติสำหรับทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกสิ่งพร้อมที่จะเดินหน้าได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากท้ายที่สุดแม้จะมีมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมออกมาแล้ว หรือมีคำพิพากษาศาลปกครองกลางออกมาในต้นเดือนกันยายนแล้ว แต่ละฝ่ายยังยืนกรานที่จะต่อสู้ ฟ้องร้องคดีต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ก็คงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะออกมาพูดได้เต็มปากว่า ปัญหากรณีมาบตาพุดยุติแล้ว และคงหวังได้ยากที่จะเห็นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในเมื่อต่างฝ่ายต่างยึดเอาความต้องการของตนเป็นที่ตั้ง

'อภิสิทธิ์'วอนสมาคมโลกร้อนอย่าเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลปัญหามาบตาพุด ยันรัฐบาลให้ความสำคัญมาตราฐานสิ่งแวดล้อมสูงกว่าหลายประเทศ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาคมโลกร้อนเตรียมออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่พอใจการประกาศกิจการรุนแรงของรัฐบาล ไม่ครอบคลุมว่า เรื่องนี้ต้องชี้แจงกัน ซึ่งจริงๆแล้วตนได้ให้คนในรัฐบาลติดต่อประสานงานกับภาคประชาชนตลอดเวลา ตรงไหนที่ยังมีปัญหาติดใจก็สามารถที่จะสอบถามกันมาได้ - เสี่ยงทรุดพังระเบิด แบบโรงแยกก๊าซ ใหม่ ปตท. นี่นะมาตรฐานสากล

เมื่อถามว่าคิดว่าจะสามรถขยับประกาศเพิ่มที่ที่เรียกร้องได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่มีการยื่นเพิ่มเติมเข้ามาตนได้มอบให้ทางคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้ชำนาญการดูอยู่ นั่นคือส่วนที่กรรมการ 4 ฝ่ายเขาไม่ได้เห็นด้วย เพราะส่วนที่กรรมการ 4 ฝ่ายเห็นด้วยนั้นได้มีการพิจาณาไปหมดแล้ว

เมื่อถามว่าหากมวลชนใช้วิธีการกดดันอีกครั้งรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่น่าจะทำอย่างนั้น เพราะรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก มาตรการหลายอย่างที่เราไปดำเนินการที่มาบตาพุดขณะนี้ เราเอาจริง เอาจัง แต่สิ่งสำคัญกว่าเรื่องของกิจการคือมาช่วยกันติดตามการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไปมากกว่า เวลานี้มาตรฐานเรื่องการทำงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานในเรื่องนี้ของเราตนเองกล้ายืนยันได้เลยว่าสูงกว่าหลายต่อหลายประเทศ ปัญหามีอย่างเดียวคือมีมาตรการออกมาแล้ว ไม่ปฏิบัติตามและการบังคับใช้กฎหมายยังย่อหย่อนและระบบของการทำงานเวลาเกิดเหตุเป็นปัญหา มีเรื่องเดียวที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมคือความสามารถของพื้นที่ในการรองรับเรื่องของมลพิษในภาพรวม ซึ่งตรงนี้กำลังดำเนินการอยู่ คือทุกโครงการดำเนินการอยู่ มีการผลักดันและประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เราได้มีการเข้มงวดกวดขันและอนุมัติงบประมาณไปเรื่องการป้องกันและการบรรเทาผลกระทบพร้อมทั้งทำระบบข้อมูล ระบบเตือนภัย

เมื่อถามว่ามีการประเมินหรือไม่ มาตรฐานที่สูงขึ้นจะกระทบกับการลงทุนที่เข้ามามากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอยืนยันว่า มาตรฐานสูงไม่กระทบมาก ภาคธุรกิจสิ่งที่เขาต้องการมากสุดคือความแน่นอนมากกว่า เมื่อเขารู้ว่ากติกาเป็นอย่างไร เขาก็ตัดสินใจ เพราะเห็นว่า มาตรฐานเราควรเป็นอย่างไร ทางเราเองก็กำหนดตามอย่างนั้น ทั้งนี้ผลกระทบที่มีต่อการลงทุนที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน คือเขาได้ใบอนุญาตไปแล้วแต่ปรากฏว่า ศาลตัดสินว่า ใบอนุญาตใช้ไม่ได้ อย่างนี้มันกระทบกับการวางแผนของเขา แต่ต่อจากนี้ไปเขารู้แล้วว่า เขาจะมาลงทุนกิจการนี้ เขามีขั้นตอนนานขึ้น อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคงไม่เป็นปัญหา เพราะเขาจะสามารถทำงานได้

ปตท.ยัวะข่าว รบ.อินโดฯ เรียกค่าเสียหายน้ำมันรั่ว ขู่เล่นงานทาง กม.

บิ๊ก ปตท.ยัวะข่าว รบ.อินโดฯ เรียกค่าเสียหายน้ำมันรั่ว ขู่เล่นงานทาง กม.
ค่าเสียหายต่อสภาวะแวดล้อม ที่ถูกประเมินสูงถึง 3 หมื่นล้าน ที่ระเบิดตรงนั้นมันอยู่กลางทะเล
บิ๊ก ปตท.สผ. ฉุนถูกมือดีปล่อยข่าว รบ.อินโดฯ เรียกค่าเสียหายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยกรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลจากเหตุการณ์แหล่งมอนทาราไฟไหม้ ลั่นใช้ กม.เล่นงาน พร้อมตั้งข้อสังเกต ในระยะนี้ มักมีผู้ที่ให้ข้อมูลที่สับสน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเสียหาย นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลอินโดนีเซีฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมากจากเหตุการณ์น้ำมันแหล่งมอนทารารั่วลงทะเล โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย หรือพีทีทีอีพี เอเอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้รับหนังสือเรียกร้องจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อขอค่าชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์มอนทาราแล้ว และพบว่าหนังสือดังกล่าวไม่มีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้มีผู้ให้ข้อมูลที่สับสน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ปตท.สผ. ซึ่งบริษัทอาจพิจารณาเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ให้ข่าวที่ทำให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ ด้านนักวิเคราะห์แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น ปตท.สผ. หลังรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องความเสียหายเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นก่อนหักภาษี 10.42 บาท ทั้งนี้ การฟ้องร้องดังกล่าวยังไม่รวมถึงความเสียหายที่รัฐบาลออสเตรเลียจะดำเนินการกับ ปตท.สผ.ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนใน ปตท.สผ. เพิ่มสูงขึ้น

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก - นัดรวมตัว ฟังคำสั่งศาลปกครอง 2 ก.ย. 53

ระยอง - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จัดเวทีวิเคราะห์และทบทวน 11 โครงการรุนแรง เตรียมยื่นนายกรัฐมนตรีอย่ารีบร้อนประกาศ เพราะข้อมูลทางวิชาการยังไม่นิ่ง
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและภาคีภาคประชาชน จัดประชุมวิเคราะห์และทบทวน 11 ประเภทโครงการรุนแรง โดย นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ และ นางภารณี สวัสดิ์รักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ร่วมเสวนา ท่ามกลางประชาชนในเขตภาคตะวันออกร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่เคยฟ้องคดีร่วมกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนหลายคดี อาทิ คดีฟ้องโรงไฟฟ้าสระบุรี โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนพนมสารคาม คดีป่าพรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมาบตาพุด จ.ระยอง ฯลฯ ให้มารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองกลางในวันที่ 2 กันยายน 2553 นี้ เพราะคำพิพากษาศาลปกครองกลางในวันดังกล่าวจะมีผลต่อทุกคดีที่ฟ้องร้อง ไม่ว่าจะฟ้องในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หรือฟ้องในนามสภาทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางคดี ทุกคดีมีความเกี่ยวพันกับการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ทั้งสิ้น และหากคำพิพากษาออกมาเหมือนเช่นเดียวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด จะถือเป็นบรรทัดฐานที่จะนำไปสู่การเฝ้าระวัง คุ้มครองสิทธิชาวบ้านทุกโครงการทั่วประเทศ แต่หากคำพิพากษาไปในแนวเดียวกันกับตุลาการผู้แถลงคดี จะทำให้เห็นและสามารถฟ้องประชาชนที่ไปรับฟังคำพิพากษาในวันนั้นได้ว่า ความยุติธรรมหรือเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ที่ชาวบ้านทั่วประเทศได้ร่วมกันประชามติสามารถบังคับได้จริงหรือไม่ ส่วน 11 ประเภทโครงการรุนแรง วันนี้ คงได้มีผู้ร่วมฟ้องคดีจำนวนหนึ่งในภาคตะวันออก เท่านั้น และจะไปขอใบรับมอบอำนาจจากพี่น้องประชาชนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้เคยไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพราะทุกภูมิภาคถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ร่วมให้ความเห็นในการกำหนดประเภทโครงการรุนแรงมาแล้ว เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ได้เอาข้อเสนอของชาวบ้านที่ให้ข้อคิดเห็นมา มาเป็นมติของโครงการในทางที่ถูกต้องถือว่าเป็นการลงมติที่มิชอบ ขัดต่อกฎหมาย ไม่ตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองปี 2542 มาตรา 9(1) ซึ่งประชาชนในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เคยให้ความเห็นในเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จึงมีอำนาจฟ้องได้ทันที และคดีนี้จะเป็นอีกคดีหนึ่งทางประวัติศาสตร์ว่า คำสั่งโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ศาลปกครองเท่านั้นที่จะให้คำตัดสินสุดท้ายว่าเป็นเช่นไร นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า วันที่ 31 สิงหาคมนี้จะไปยื่นหนังสือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณียังไม่สมควรประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยังไม่นิ่ง เมื่อข้อมูลทางวิชาการไม่นิ่งพอประกาศออกมาแล้ว ก็จะมีผู้ไม่เห็นด้วย ภาคต่างๆ ก็ออกมาร้องเรียนแสดงไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก คือ ข้อมูลทางวิชาการต้องนิ่งก่อน และการกำหนดประเภทพื้นที่ก็ต้องนิ่งด้วยเช่นกัน ว่าพื้นที่ไหนสมควรที่จะถูกกำหนดว่าโรงงานที่จะตั้งเป็นโครงการรุนแรงหรือไม่รุนแรง ต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อน หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ยื่นหนังสือทักท้วง ก็เตรียมยื่นฟ้องศาลให้มีการยกเลิกการประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง และพร้อมจะปราศัยกับรัฐบาลกรณีปัญหามาบตาพุด และอาจมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั้งประเทศหรือที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาและสถานที่
ป้ายแบบไหน - ควรถือไปด้วย ไปฟังคำสั่งศาล - โครงการที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงของรัฐบาล แต่เสี่ยงมหันตภัยใหญ่หลวงของ คนมาบตาพุด

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมพวก ยื่นคำแถลงปิดคดีมาบตาพุดต่อศาลปกครองกลาง
วันนี้ (26 ส.ค.) ยันชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง ระยอง เดือดร้อนเสียหายแสนสาหัสจากปัญหามลพิษอุตสาหกรรมท่วมเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่การลงทุนไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ระงับกิจการชั่วคราว เพราะนายกรัฐมนตรีโอ่เศรษฐกิจโตถึง 10% ส่วนบริษัทลงทุนผลกำไรเบ่งบานถ้วนหน้า
วันนี้ (26 ส.ค.) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวก ผู้ฟ้องคดี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพวก ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลปกครองกลาง สำหรับคำแถลงปิดคดีของผู้ฟ้องคดี มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ที่ศาลปกครองกลาง ห้องพิจารณาคดีที่ ๘ และศาลได้ส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนมาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ผู้ฟ้องคดีขอส่งคำแถลงรวมให้ศาลทราบเพื่อประกอบการวินิจฉัย พิพากษาคดีของศาล ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ผู้ฟ้องคดีใคร่ขอยืนยันต่อศาลว่าผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบนิคมต่าง ๆ ๕ นิคมในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งข้อมูล รายละเอียด งานวิจัย บทความ รายงานการประชุม สถิติ รูปภาพเชิงประจักษ์ ข้อมูลข่าวสารรายงานข้อเท็จจริงจากสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏในเอกสารคำฟ้อง คำคัดค้านคำให้การ และคำแถลงต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง คำคัดค้านคำให้การ และคำแถลง ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งได้ส่งให้ศาลได้ทราบและพิจารณาแล้ว ข้อ ๒ หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ความแจ้งแล้วนั้น เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเดือดร้อนและความเสียหายยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลบ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อสารมวลชน และไม่ปรากฏเป็นข่าวอีกมากมาย เช่น - วันที่ ๕ ถึง ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เกิดก๊าซรั่วจากเรือขนส่งสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือมาบตาพุด ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับผลกระทบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีอาการแสบตา ตาพร่า เจ้าหน้าที่การนิคมฯ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลกว่า ๒๐ ราย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ไปแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นายประสาน มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กรุงเทพมหานครและคณะก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๑) - วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เกิดเหตุการณ์ ๒ เหตุซ้อนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เหตุที่หนึ่ง เกิดกลิ่นก๊าซโชยคละคลุ้งมาบตาพุด-ควันดำปกคลุมท้องฟ้าเหนือโรงงานไออาร์พีซี เหตุที่สอง เกิดเหตุก๊าซรั่วบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ ๕ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จนต้องอพยพคนงานก่อสร้าง รวมทั้งพนักงานโรงงานสยามแผ่นเหล็กวิลาศ และพนักงานโรงงานใกล้เคียงออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันอันตรายกันจ้าละหวั่น ทั้งนี้ คนงานก่อสร้างใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ที่ได้รับกลิ่นเหม็นก๊าซ ต่างมีอาการแสบคอ วิงเวียนศีรษะ และแน่นหน้าอก ต้องนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด ๖ คน (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๒) - วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เกิดเหตุการณ์ขึ้นในโรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ ๕ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ต้องหยุดระบบการผลิตทันที ทำให้ระบบบำบัดต้องหยุดทำงานไปด้วย และมีผงฝุ่นสีเทาตกค้างในระบบการผลิต เป็นเหตุให้ต้องระบายออกทางปล่อง ทำให้เกิดกลุ่มควันสีเทาฟุ้งกระจายจับท้องฟ้า ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงไปพบประชาชนที่บริเวณวัดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๓) - วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลออกมาจากบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออกในมาบตาพุด ทำให้พนักงานบริษัท คนงาน ต้องถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า ๒๕๙ คน ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองกลาง ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เพราะเข้าใจว่าเป็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือลดมลพิษ (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๔) - วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เกิดเหตุควันพิษรั่วไหลออกมาจากโรงงานบริษัท อูเบะกรุ๊ป (ไทยแลนด์ จำกัด) พื้นที่ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทำให้คนงานผู้รับเหมาก่อสร้าง 9 รายสูดดมควันพิษ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพฯระยอง (ปรากฏตามเอกสารแนบ ๕) ศาลที่เคารพ เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวที่ยกมาอธิบายให้ศาลเห็นเป็นตัวอย่างนั้น ณ ปัจจุบันนี้หน่วยงานของรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดี ก็ยังไม่สามารถจับกุม หรือส่งเรื่องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรายใดได้ หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่า ต้นเหตุหรือแหล่งกำเนิดมลพิษที่แท้จริงมาจากโรงงานใด ที่ใด แต่ทางกลับกันกลับพยายามให้ข้อมูลที่สับสนว่า การดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีมีมาตรฐาน เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐหรือสากลกำหนด มีการตรวจสอบ ตรวจวัดอากาศ ตรวจวัดมลพิษอยู่เสมอ ด้วยเครื่องมือ ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและราคาแพง แต่ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรมโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ก็คือ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินงานได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการหรือในหลักเกณฑ์ทางกฎหมายหรือเงื่อนไขที่กำหนด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือดูแลแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สุดท้ายคนงาน พนักงาน ชาวบ้าน ประชาชน ก็ต้องตกมาเป็นผู้รับกรรมในขณะที่ตนมิได้ก่อขึ้นหรือกระทำขึ้น หากแต่เป็นเพราะผู้ถูกฟ้องคดี หน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดต่างหากมีอำนาจที่จะดำเนินการหรือจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่ทำหรือทำแต่ก็ไม่เคยเห็นผลสำเร็จหรือเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ศาลที่เคารพ เหตุการณ์เหล่านี้มิใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่เป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำให้การหรือคำแถลงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหลาย ที่มักอ้างว่าได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นอีก ประจักษ์พยานเหล่านี้คือ ตรรกะ (Logic) ที่แท้จริงโดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ที่มิต้องเสแสร้ง เป็นคำตอบที่แท้จริง จึงใคร่ขอเสนอให้ศาลได้พิจารณาเป็นข้อเท็จจริง ฯลฯ ข้อ ๓ ศาลที่เคารพ วันนี้ศักยภาพของการรองรับมลพิษของพื้นที่มาบตาพุด (Over Carrying Capacity) นั้นเต็มแล้ว ไม่เพียงพอที่จะรองรับการขยายหรือก่อสร้างเพิ่มเติมของโครงการหรือกิจกรรมของโรงงานทุกประเภทได้ เปรียบเสมือนดั่งน้ำที่มีอยู่ปริ่มล้นแก้ว หากเพียงแต่ใส่เศษหิน ดิน ทรายลงไปเพียงน้อยนิด น้ำหรือมลพิษ ก็จะล้นแพร่กระจาย มากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ทุกขณะเวลา แม้หน่วยงานรัฐและผู้ถูกฟ้องคดี โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและคณะทำงาน ให้เข้าไปศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายต่อหลายชุด เริ่มตั้งแต่หลังจากที่มีปรากฎการณ์การแพร่กระจายของก๊าซรั่ว (VOCs) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๑ จนต้องย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารทั้งโรงเรียน ออกไปสร้างในที่แห่งใหม่หลังศาลปกครองระยอง คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวก็ไม่สามารถออกมาแถลงรายงานสรุปผลให้สาธารณะชนทราบได้ ก็เพราะเกรงว่าจะเป็นหลักฐานที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไปได้ รวมทั้งล่าสุดคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายฯ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ ก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ เข้าไปศึกษาหาศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว จนสามารถสรุปผลส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และดำเนินการตามข้อแนะนำ แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็หาได้ใส่ใจต่อข้อมูล ข้อแนะนำเหล่านั้นไม่ แต่กลับที่จะสนใจหรือทำทุกวิถีทางที่จะสนองประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนหรือไม่สนใจรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่เคยให้คำมั่นต่อรัฐสภา เมื่อคราวแถลงนโยบายเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑เลย โดยเฉพาะพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง ๗๖ โรงงานที่ผู้ฟ้องคดีได้นำเสนอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลได้มีเมตตามีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีมาแล้วอย่างออกหน้าออกตา ข้อมูลสรุปรายงานผลการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่มลพิษ ปัจจุบันนี้อยู่ในการครอบครองของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอศาลได้โปรดมีหนังสือหรือคำสั่งเรียกเอกสารรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะมาพิจารณาด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อคดีนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อ ๔ ศาลที่เคารพ ผู้ฟ้องคดีต่างเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ผู้ฟ้องคดีต่างรู้ดีว่ากำลังต่อสู้คดีกับอำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐ บุคลากรของรัฐ ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมาเปิดเผย ให้ข้อมูล หรือให้ปากคำต่อศาลก็ย่อมที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้มิได้เกินไปกว่าความคาดหมายของสังคมเลย ดังกรณีตัวอย่าง ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดนั้นเกินศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับได้แล้ว จนศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาในคดีแดงที่ ๓๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ มาแล้วโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ยอมรับและประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา ความดังกล่าว ก็น่าที่จะเป็นนัยยะที่ควรรู้หรือต้องรู้ของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังในการที่จะอนุมัติหรืออนุญาตให้มีการขยายหรือก่อสร้างเพิ่มเติมโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อนก่อนการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวได้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะเคยมีแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสียดำเนินงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ แล้วก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะบังคับให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรม ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศไม่ แต่กลับมายกเลิกเสียเมื่อผู้ประกอบการออกมาท้วงติง นั่นแสดงให้เห็นพฤติการณ์ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเลย หรือถ้าใส่ใจก็เป็นเพียงเล่ห์กล ที่กระทำการอย่างใดก็ได้ภายใต้อำนาจรัฐฝ่ายบริหารทางปกครอง ที่คิดว่าอยู่เหนือประชาชนเท่านั้น ศาลที่เคารพ กรณีเหล่านี้ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านต่างยืนยันแล้วว่าพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง Over Carrying Capacity แล้วดังปรากฏข้อมูลที่ส่งให้ศาลแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่บุคลากรและหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การให้คุณให้โทษของผู้ถูกฟ้องคดี ยังพยายามบิดเบือนหลักการอันเป็นตรรกะของธรรมชาติเสมอ ดังกรณีตัวอย่าง นโยบายการลดมลพิษ ๘๐ : ๒๐ ที่อ้างว่าจะช่วยลดมลพิษได้ในอนาคต ที่ว่า โรงงานเดิมต้องลดมลพิษให้ได้ ๒๐ % ก่อน จึงจะอนุญาตให้ก่อสร้างหรือขยายโรงงานต่อไปได้ ซึ่งก็จะไปเพิ่มมลพิษเข้าไปใหม่อีก ๘๐ % ซึ่งยิ่งขยายยิ่งก่อสร้างจะช่วยลดมลพิษได้อย่างไร มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นโครงการหรือกิจกรรมของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรม หากมีการอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้ ก็ยิ่งจะทำให้มลพิษที่ล้นพื้นที่อยู่แล้วมีปัญหาการแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น ความเดือดร้อนและเสียหายของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านก็จะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ศาลที่เคารพ กฎหมายได้มีช่องทางหรือทางออกสำหรับการพัฒนาไว้แล้ว นั่นคือ การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ต่อไป เพื่อที่ประชาชนจะได้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดความรู้ความเข้าใจ และรับทราบถึงมาตรการ เงื่อนไข หรือวิธีการในการที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ภายใต้ความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือ CSR - Corporate Socials Responsibility หรือ CG - Corporate Governance of the organization ผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๗๖ โครงการหรือกิจกรรมต่างได้รับความเห็นชอบในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิเสธ หรือการพยายามใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการไปกำหนดเงื่อนไข หรือมีมติใด ๆ ทางปกครองเพื่อช่วยเหลือ เพื่ออุ้มชูผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมนำไปสู่การขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ ๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ดังกรณี มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้อำนาจทางปกครองประกาศประเภทโครงการรุนแรงออกมา ๑๑ ประเภทโครงการ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายฯ ที่เสนอโครงการรุนแรงฯ ไปทั้งสิ้น ๑๘ โครงการ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ก็ได้เคยมีหนังสือทักท้วงไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ แล้ว ก็หาได้ใส่ใจต่อคำทักท้วงดังกล่าวไม่ (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๖) ชอบแต่จะใช้อำนาจทางปกครองเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้เสีย ให้ไม่ต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๗ วรรคสอง โดยชัดแจ้ง ข้อ ๕ ศาลที่เคารพ นับแต่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ แล้วนั้น หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียต่างออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชนมากมายเพื่อกดดันสังคมว่า คำสั่งของศาลมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องสูญเสียรายได้กันเป็นหมื่น เป็นแสนล้าน แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ณ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า คำสั่งของศาลไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังคำให้สัมภาษณ์หรือการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๙๐ ปีกระทรวงพาณิชย์ ที่ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พาณิชย์ร่วมภาคธุรกิจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย"ว่า ภาคการส่งออกถือว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกสูงกว่า ๑๐ % และเชื่อมั่นว่าจะทำให้จีดีพีทั้งปี ๒๕๕๓ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า ๗ % (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ) ในขณะเดียวกันเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อมูลดังกล่าวเช่นกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีแรกมีการขยายตัวอยู่ที่ ๑๐.๖ % ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในรอบครึ่งปีแรกที่สูงสุด... (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๗ ) นอกจากนั้น นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เช่นกันว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน ๕๓๔ บริษัท หรือ ๙๔ %ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ๕๖๖ บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ๒๗ กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ แล้ว โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมกำไรสุทธิงวด ๖ เดือน จำนวน ๒๙๒,๙๘๑ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีกำไรรวม ๒๑๘,๒๔๐ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ๓๔ % ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส ๒ ปี ๒๕๕๓ บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวม ๑๒๙,๖๖๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้น๑ % จากงวดเดียวกันของปีก่อน (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๘ ) ศาลที่เคารพ ณ วันนี้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมตื่นตัวแล้ว ภายใต้สิทธิและหน้าที่ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ประชาชนชาวไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน ต่างมีศักดิ์มีศรีของความเป็นมนุษย์เป็นคน ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองเสมอหน้ากัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้าน โดยชัดแจ้ง โดยปริยายแล้ว มิต้องคำนึงถึงสิ่งใดนอกเสียจากสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตกราบเรียนมายังศาล เพื่อโปรดเมตตาพิจารณาพิพากษาไปตามคำขอของผู้ฟ้องคดีด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ลงชื่อผู้ยื่นคำแถลง นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑,นายวีระ ชมพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓,นายเกียรติภูมิ นิลสุข ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐,นางสาวอมรรัตน์ โรจนบุรานนท์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๐, นายสำนวน ประพิณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐,นายธนวัฒน์ ตาสัก ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๕, นายโชคชัย แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๔๐, นางวนิดา แซ่ก๊วย ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๔๓ และนางสาวรัตนา ผาแก้ว ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดี

2 เมษา ชี้ชะตา คนมาบตาพุด

ศาลปกครองกลางที่มีนายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน อ.มาตาพุด จ.รอยอง จำนวน 43 ราย ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน ขอให้เพิกถอนการออกใบอนุญาต ให้กับ76 โครงการ และกิจการของเอกชนในงานอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง จ.ระยอง เนื่องจากเห็นว่าการออกใบอนุญาตดังกล่าว ไม่ได้มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550

ทั้งนี้ ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แถลงด้วยวาจา ซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงต่อศาลยืนยันว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐ ในการออกใบอนุญาตให้กับเอกชนเข้าดำเนินกิจการและทำให้เกิดมลพิษ แม้ภายหลังศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่าโครงการหรือกิจการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีการปล่อยมลพิษกระทบต่อทางเดินหายใจของประชาชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้มีการจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้ประกอบเหล่านั้น แต่กลับให้ขอมูลที่สับสนต่อประชาชนว่า การดำเนินการของผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 เป็นไปตามมาตรฐานสากล และผู้ประกอบการยังชอบให้ข่าวกดดันศาลว่ายังให้ข้อมูล

นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา กำหนดประเภทโครงการรุนแรงควรมีแค่ 11 โครงการนั้น เป็นการกำหนดที่ไม่มีเหตุผลและยังเป็นการลดจำนวนโครงการที่มีผลกระทบ ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เสนอควรจะมีทั้งสิ้น 18 โครงการ สะท้อนว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นหน่วยงานรัฐใช้อำนาจทางปกครองช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายกำหนดดังนั้นถ้าศาลมีคำสั่งปล่อยให้ 76 โครงการดำเนินการต่อไปได้ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มมลพิษที่มีอยู่แล้วให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น และผู้รับกรรมคือประชาชนที่ต้องมารับกรรมในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ด้านนายบัญญัติ วิสุทธิมรรค พนักงานอัยการตัวแทนผู้ถูกฟ้อง แถลงว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้จัดประเภทโครงการที่มีความรุนแรงไว้ 11 ประเภทก็เพราะที่เหลือเป็นโครงการบริหารนำระหว่างประเทศและของรัฐที่ให้เอกชนไปทำ ซึ่งถ้านำ 7 โครงการที่ทางคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เสนอมารวมด้วย จะทำให้โครงการจำนวนมากใน 76 โครงการหลุดจากประเภทรุนแรง ดังนั้นตรงกันข้ามการกำหนดเพียง 11 โครงการ จะทำให้ใน 76 โครงการติดอยู่ในประเภทรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า โครงการทั้ง 76 โครงการ ไม่ใช่โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ล้วนเป็นโครงการที่รักษาสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แม้บางโครงการจะเป็นการขออนุญาตขยายและเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินการในเขตนิคมก็เห็นว่า จากรายงานผลการศึกษาต่างๆ ระบุชัดว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่เกินกว่าศักยภาพในการรองรับมลพิษของนิคมอุตสาหกรรมฯ

หลังจากนั้นองค์คณะได้ให้นายวิจิตต์ รักถิ่น ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตนที่ไม่มีผลผูกพันต่อองค์คณะ ว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า 76 โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่ต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 303 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรกให้ครม.ดำเนินการหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการจัดทำกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเพราะฉะนั้นการพิจารณาจาของศาลจึงต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยต้องคำนึงถึงการคุมครองสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่และเสรีภาพในการประกอบกิจการที่ต้องแข่งขันอย่างเสรีที่ที่มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 ได้ให้สถาบันการศึกษาทำการศึกษาผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตามรายงานไม่พบว่ามีค่าของผลกระทบในเรื่องต่างๆ สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว หน่วยราชการได้มีการเผยแพร่โดยทั่วไป ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานที่จะมาหลักล้างทำให้ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องมีความน่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่า 76 โครงการเป็นโครงการที่มีผลกระทบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องให้ทั้ง 76 โครงการดำเนินการโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตามมาตรา 67 แต่ได้มีการประเมินศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด และเมื่อฟังได้ว่าการเห็นชอบอนุมัติออกใบอนุญาตเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับผู้ฟ้องคดี20-30 ขอถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกฟ้องได้มีการแก้ไขเยียวยาแล้ว กรณีจึงเห็นสมควรให้ยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่าทั้ง 76 โครงการ ก่อมลพิษรุนแรงในพื้นที่จนเกินกว่าศักยภาพการบริหารจัดการของกรมควบคุมมลพิษ ข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องนำเสนอยังไม่พอฟังได้ว่า มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง จึงสมควรพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ถ้าต่อมา ครม.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 เรื่องสิทธิชุมชนแล้วเสร็จแล้วปรากฏว่า 76 โครงการ ไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าข้อเท็จจริงมีผลให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้

ทั้งนี้ องค์คณะได้พักการพิจารณา 10 นาที และได้มีการประชุมโดยกำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายนนี้ เวลา 13.30 น.

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังตุลาการศาลปกครองผู้แถลงคดีอ่านความเห็นส่วนตัวในคดีนี้ ว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความคิดเห็นยกคำร้องในคดีนี้ก็ถือเป็นความเห็นของท่าน ซึ่งตุลาการเจ้าของคดีอาจมีความเห็นไม่ตรงกันกับตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายคดีที่ตุลาการเจ้าของคดีมีความเห็นแย้งกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังมั่นใจและเชื่อในข้อมูลที่ยื่นฟ้องต่อศาล เพราะหลักฐานที่ยื่นไปให้ตุลาการพิจารณาทั้ง 76 โครงการ ค่อนข้างมีความชัดเจน เนื่องจากทั้ง 76 โครงการ นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงตลอด 25 ปี ถึงแม้ทั้ง 76 โครงการจะเป็นโครงการใหม่หรือโครงการที่ขยายเพิ่ม ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อดูในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย รวมทั้งคำตัดสินของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดก็จะเห็นได้ว่าศาลจะเน้นในเรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้งในการพิจารณาคดีมาโดยตลอด จึงไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวล

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า มั่นใจว่ามีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลาง เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และยังมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม คือ กรณีการเกิดอุบัติเหตุแก๊สรั่วของโรงงานต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด

อีกทั้งไม่เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า การชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุดทั้ง 64 โครงการมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี ระบุชัดว่า จีดีพีของไทยในครึ่งแรกของปี 53 ขยายตัวถึงกว่า 10% สอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จะขยายตัวร้อยละ 7-8

นอกจากนี้ สมาคมฯ จะยื่นคัดค้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบให้ออกประกาศโครงการหรือกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ 11 ประเภท ซึ่งบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่ของภาคประชาชนที่ยอมรับประกาศกิจการรุนแรง 18 ประเภท ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 3 ที่ไม่รับฟังความเห็นจากภาคประชาชน โดยจะรวบรวมหนังสือมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศมาประกอบการคัดค้านภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลางวันนี้จะเป็นการรับฟังข้อมูลครั้งสุดท้ายของทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง โดยเป็นการแถลงปิดคดีของตุลาการเจ้าของสำนวน คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาออกมาชัดเจน

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การออกประกาศประเภทกิจการรุนแรงของหน่วยงานรัฐไม่มีความสอดคล้องกับที่มาและหลักเกณฑ์ เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดประเภทกิจการรุนแรงถึง 4 ฉบับ นับตั้งแต่สมัยที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดกิจการรุนแรง 19 ประเภท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด 8 ประเภท, คณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำหนด 18 ประเภท และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนด 11 ประเภท

พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การออกประกาศกิจการรุนแรงใหม่ โดยให้ 3 องค์กรหลักเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกำหนดชัดเจนว่าจะต้องประกาศภายใต้กฎกระทรวงใด ซึ่งในวันที่ 29 ส.ค.นี้ จะประชุมสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ และหากพบว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณาออกประกาศกิจการรุนแรงที่เอื้อต่อภาคเอกชน ทางเครือข่ายฯ ก็จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบต่อไป

นายสุทธิ กล่าวว่า ต้องการให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเข้าไปร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าไม่มีความโปร่งใส

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) กล่าวว่า โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดของเครือบมจ.ปตท.(PTT) ยังมีอีก 1 โครงการที่เข้าข่าย 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และ ปตท.ยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนตามแผนงานต่อไป โดยไม่มีแนวคิดจะล้มเลิกการลงทุน แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทก็มีเริ่มจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ(HIA) ควบคู่กับการต่อสู้คดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากมีข้อกำหนดร่างกฎเกณฑ์การจัดทำ HIA จากทางภาครัฐออกมา บริษัทก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามร่างข้อกำหนด แต่คงต้องรอดูคำพิพากษาของศาลอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เนื่องจากน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในแต่ละโครงการออกมาด้วย

สำหรับโครงการโรงแยกก๊าซ 6 และโครงการที่แล้วเสร็จนั้น ขณะนี้ ปตท.พร้อมเดินหน้า แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นกับคำตัดสินของศาลด้วย

นายชายน้อย กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ถือว่าเป็นการพิจารณาที่มีความรอบคอบรวดเร็ว และเป็นแนวทางที่ดีที่จะส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นใจการลงทุนของประเทศ ซึ่งความชัดเจนของคดีนี้จะช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง

เรียนเชิญสื่อมวลชนทำข่าว

แถลงท่าทีการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 น.

ณ ห้องประชุมศรีสุวรรณ โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและองค์กรภาคีภาคประชาชน

ผู้นัดหมายและผู้แถลง

โทร.081-8646558

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

เลขที่ 113 ถนนยมจินดา

ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000

โทรศัพท์ 038-613928, 081-8646558

โทรสาร 038-613928

The Eastern People' Network

113 Yomjinda Rd.,

Thapradu, Muang,

Rayong 21000

Thailand

Tel: 038-613928, 081-8646558

Fax: 038-613928

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศาลปกครอง นัดไต่สวนครั้งสุดท้ายคดีมาบตาพุด 26 ส.ค. นายกสมาคมโลกร้อน เตรียมข้อมูลแถลงปิดคดี

นายกสมาคมโลกร้อนระบุศาลปกครอง นัดไต่สวนครั้งสุดท้ายคดีมาบตาพุด 26 ส.ค. เตรียมข้อมูลแถลงปิดคดี แจงกก.สิ่งแวดล้อมประกาศกำหนด11โครงการรุนแรง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งร่วมกับชาวบ้านมาบตาพุด จ.ระยอง 43 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ เวลา 13.00 น. ศาลปกครองกลางได้แจ้งหมายมายังผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้องคดี รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เพื่อให้ไปไต่สวนพิจารณาคดีครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้จัดเตรียมข้อมูลไว้เพื่อปิดคดีในวันดังกล่าวแล้ว พร้อมจะชี้ให้ศาลเห็นว่าปัญหาความเดือดร้อนและเสียหายของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด - บ้านฉาง และใกล้เคียงในอดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร

พร้อมทั้งจะแฉพฤติการณ์ของหน่วยงานรัฐและรัฐบาลให้ศาลเห็นว่า ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเลยและละเมิดกฎหมายอย่างไร อีกทั้ง 76 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง เหมาะสมที่จะเป็นโครงการประเภทรุนแรงตามที่ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยมีคำสั่งไว้แล้วอย่างไร รวมทั้งการชี้ให้ถือบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2552 ไว้แล้วเมื่อวันที่ 18 มี.ค.52

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติกำหนดโครงการประเภทรุนแรงจำนวน 11 โครงการ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยชัดแจ้ง เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ถือแนวทางของเสียงส่วนใหญ่ของภาคประชาชนทั่วประเทศที่มีมติให้มีโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงเบื้องต้นตามรัฐธรรมนูญจำนวน 18 โครงการหรือมากกว่า ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้สรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีมาแล้ว มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าวจึงถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายและความต้องการของประชาชน สมาคมฯ จึงจะร่วมมือกับชาวบ้านทั่วประเทศ เพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกมติ หรือคำสั่งดังกล่าวต่อไป

"การรุกรี้รุกรนเร่งรีบสรุปโครงการโดยไม่นำพาเสียงของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย ถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพียงเพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นข้ออ้างในศาลเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงการไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองเท่านั้น" นายศรีสุวรรณ

นายกฯตีกรอบแก้ปัญหาโครงการลงทุนมาบตาพุดจบภายใน 2 เดือน หลังนักลงทุนญี่ปุ่นขยาด

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างการชี้แจงผลการประชุมหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ ระหว่าง 22-27 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้กำหนดกรอบสำหรับการแก้ไขปัญหามาบตาพุดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นขอทราบความคืบหน้าปัญหามาบตาพุด ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าไทยเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น แต่ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนไทยด้วยเช่นกันดังนั้นจึงต้องมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ไทยสนับสนุนข้อเสนอการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบ ASEAN+6 หรือ CEPEA ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในการประชุมเอเปคที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.2553 ฝ่ายไทยได้ชี้แจงให้ทราบว่าไทยได้ให้ความสำคัญต่อการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และขอขอบคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดทำข้อเสนอแผนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบ ASEAN+6 มาเป็นแนวทางการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากไทยเห็นว่าแผนดังกล่าวมีจุดเด่นเรื่องกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับโครงสร้างเดิมที่อาเซียนมีอยู่แล้ว ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

***

กลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น ขอให้นำเรื่อง โรงแยกก๊าซเสี่ยง ปตท. เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการศาลปกครองไต่สวนนัดสุดท้ายด้วย เพราะเรื่องราวได้เคยยื่นเป็นเอกสารเพิ่มเติม ขณะศาลปกครองกลางมาเผชิญสืบที่ มาบตาพุด เมื่อ 22 ก.พ. 53

กรณีการแถลงข่าวของ ปตท. เรื่องโรงแยกก๊าซใหม่ ไม่ตอกเสาเข็มฐานรากทั้งหมด และการขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

ข่าวจากกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด ระยอง : 16.30 น - 23 สิงหาคม 2553

กรณีการแถลงข่าวของ ปตท. เรื่องโรงแยกก๊าซใหม่ ไม่ตอกเสาเข็มฐานรากทั้งหมด และการขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

สืบเนื่องถึงข้อเท็จจริงกรณีที่ ปตท.อ้างว่า โครงการได้มีการตรวจสอบติดตามมาตั้งแต่ขบวนการก่อสร้าง จนถึงปัจจุบัน และไม่พบการทรุดตัวที่ผิดปกติ แต่อย่างใดนั้น พร้อมกับการอ้างถึงการดำเนินการโครงการโดยมีมาตรฐานสูง มีการตรวจสอบและการควบคุมการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดอย่างละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอนนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริง จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการกระทำให้ลักษณะหลอกลวงประชาชน และนักลงทุน

เพราะจากการติดตามเรื่องการตรวจสอบนี้ มาตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2552 ถึง มกราคม 2553 พบว่า ในส่วนของโรงแยกก๊าซอีเทน ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะกำลังทดสอบระบบจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของ โรงแยกก๊าซที่ 6 เพิ่งเริ่มต้นให้มีการติดตามข้อมูลเดิมจากการส่งมอบงาน ทั้งที่งานส่วนใหญ่แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2551 และพบอีกว่ามีการทรุดตัวจำนวนมากในเดือน พฤษภาคม 2552 แล้วมีการซ่อมสร้างใหม่ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบติดตามอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งค่าทรุดตัวที่ยอมรับได้ ในข้อกำหนดของการออกแบบนั้นน้อยมาก คือ ทรุดได้เพียง 10-15 มม. (หนาเท่าฝายาหม่องเท่านั้น) ซึ่งถ้ามีการทรุดตัวมากกว่านี้ อาจจะส่งผลกระทบไปยังข้อต่อต่างๆหรือทำให้เกิดการฉีกขาด รั่วพังของระบบท่อหรือเครื่องจักรได้

การอ้างว่า ปตท.ได้ออกแบบและก่อสร้างตามหลักมาตรฐานทางวิศวกรรมที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ภายใต้การตรวจสอบควบคุมโดยบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลกอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน

ในแบบก่อสร้างและข้อกำหนดงานดินในงานฐานรากตื้นต่างๆ ของโรงแยกก๊าซ ปตท. ไม่มีการกำหนดหรือระบุค่ารับน้ำหนักปลอดภัยของดินที่ใช้ในการออกแบบ แต่มีระบุค่าความแข็งแรงของวัสดุอื่น เช่น เหล็กเสริม คอนกรีต และคอนกรีตหยาบไว้อย่างชัดเจน ทั้งที่สาระสำคัญของฐานรากตื้นไม่มีเสาเข็มนั้น ขึ้นอยู่กับค่าการรับน้ำหนักได้ของดินเป็นสำคัญ และต้องใช้ในการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างฐานรากตื้น และค่ารับน้ำหนักของดินสูงมากๆนี้ไม่มีการอ้างถึงเลยโดยตลอดในช่วงมีการก่อสร้าง

เสมือน การสร้างคอนโดสูง 10 ชั้นโดยไม่ตอกเสาเข็ม คนสร้างขายบอกว่าแข็งแรง แต่คนซื้อกล้าเข้าไปอยู่มั้ย?!”

จึงได้นำเรื่องข้อเท็จจริงนี้มาขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์โดยมีคำสั่งให้ หยุดการดำเนินการต่างๆ ของโรงแยกก๊าซ ที่ 6 และโรงแยกก๊าซอีเทน ของ ปตท. เพื่อให้มีขบวนการตรวจสอบการทรุดตัวของโครงสร้างต่างๆ ให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา และหยุดยั้งความเสี่ยงสูงมากที่มาจากปัญหาฝนตกหนักพายุลมแรงในช่วงนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุสลดที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และเพื่อจะได้เป็นข้อมูลความจริงที่ชัดเจนถี่ถ้วน ประกอบการวินิจฉัยฯ

และในวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 10.50น. ได้ยื่นหนังสือฯต่อ ท่านอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ขณะที่เดินทางมาเปิดงานศาลปกครองพบประชาชน ที่ห้องสุนทรภู่ โรงแรมสตาร์ ระยอง เพื่อให้ทราบเรื่องราวต่างๆ ด้วย

ศรัลย์ ธนากรภักดี

ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น

Mobile 081-3574725 WebBlog: http://airfresh-society.blogspot.com/

ด่วน! เตรียมการเคลื่อนไหวคัดค้านกิจการรุนแรงฯ โดยเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

เรียนเชิญสื่อมวลชนทำข่าว

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

แถลงข่าวเตรียมการเคลื่อนไหวคัดค้านการประกาศประเภทโครงการรุนแรง

วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 เวลา 11.00 น.

ณ สำนักงานสำนักงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

ประเด็นดังต่อไปนี้

1. เครือข่ายฯ เตรียมการเคลื่อนไหวคัดค้านการระกาศประเภทกิจการรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากว่ามีบางประเภทไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิชุมชน

2. นัดหมายรวมพล เตรียมการเคลื่อนไหวใหญ่ในทุกรูปแบบ

3. เตรียมนัดประชุมใหญ่เครือข่ายฯ ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2553 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมศรีสุวรรณ โรงแรมสตาร์

นายสุทธิ อัชฌาศัย

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

ผู้แถลงและผู้นัดหมาย

โทรศัพท์ 081-8646558

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

เลขที่ 113 ถนนยมจินดา

ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000

โทรศัพท์ 038-613928, 081-8646558

โทรสาร 038-613928

The Eastern People' Network

113 Yomjinda Rd.,

Thapradu, Muang,

Rayong 21000

Thailand

Tel: 038-613928, 081-8646558

Fax: 038-613928

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ญี่ปุ่น งง!!! ... มาตรฐานสากลรัฐบาลไทย โรงงานมาบตาพุดจำนวนมาก ไม่ตอกเสาเข็ม

23 สค. 2553 14:58 น.
นายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวหลังหารือกับนายคัทสึยะ โอคาดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่า ได้มีการหารือความร่วมมือทวิภาคี 2 ประเทศ ทบทวนสถานะความสัมพันธ์ หลังจากที่ห่างหายการหารือนานถึง 6 ปี เนื่องจากติดปัญหาการเมืองภายในของทั้ง 2 ประเทศ
โดยในการหารือรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้สอบถามและติดตามคดีการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เนื่องจากเป็นคดีที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญ โดยตนได้ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวนคดี หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ
นายกษิต กล่าวอีกว่า ยังทำความเข้าใจถึงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีบริษัทของญี่ปุ่นลงทุนจำนวนหนึ่ง โดยตนได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ที่โครงการจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมยอมรับว่า โครงการที่ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางการเงิน และขอให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจไทยที่ต้องปฎิบัติตามเพื่อให้เป็นตามมาตรฐานสากล

ลองอ่านจดหมายจาก เจโทร ว่าคิดอย่างไรกับโรงแยกก๊าซ เสี่ยง ปตท. ไมตอกเสาเข็ม

August 6, 2010

Dear Khon Maptaphut, Rayong, Thailand, Thank you for your email dated 22 July in Thai. Please understand that it took time to translate your email into Japanese. Moreover, we also got your email dated 3 August in English As you may know, Japan has a lot of natural disasters like earthquakes and typhoon. In addition, 70% of Japan land is mountainous. Our population of around 120 million make living at limited flat area with next to a lot of factories. Therefore, under these natural conditions and living environment, we have very strict regulations and high standards for structural safety, such as Building Standard Act in Japan. We regard it as most important to have necessary procedures, period for construction and strict regulations for our safety. We are proud that Japanese people as well as business community are most sensitive to safety issue. We assure you that we are committed to indicated rules and regulations, and we do not compromise any safety standards. In your email, you have delivered your concern to PM Abhisit and other ministers. We, Japanese and Japanese business community who enjoy staying in our great Thailand, strongly hope that Thai government will make proper actions on this issue. Lastly, Japanese as well as Japanese business community are ones who highly respect and strictly observe the laws. Therefore, for this issue, we always ask the Thai Government to let us know the rules and regulations which we should obey. Sincerely, Munenori Yamada President, JETRO Bangkok

(แม้ว่าตอบ จม. ล่าช้าคงอ้างว่าแปลไทยเป็นญี่ปุ่น แต่เรื่องนี้ ส่งกับมือนายกรัฐมนตรีไทย อดีตนายก รมต. และผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เรื่องกับเงียบหายนานกว่า 7 เดือน ทั้งๆที่มีเมล์ มีกระทู้ถามถึง อยู่เนือง หลายๆทาง แต่หามีใครใส่ใจกับปัญหานี้ รวมทั้ง สื่อมวลชนไทยทั้งหลาย ที่ไม่นำพาใส่ใจด้วย)

แปลเป็นภาษาไทย ได้ใจความดังนี้ -

ขอขอบคุณสำหรับอีเมลของคุณลงวันที่ 22 กรกฎาคม ในภาษาไทย โปรดเข้าใจว่า ได้ใช้เวลาในการแปลอีเมล์เป็นภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้เรายังได้อีเมล์ของคุณ วันที่ 3สิงหาคมในภาษาอังกฤษ

ดังที่คุณทราบ ว่าประเทศญี่ปุ่น มีภัยธรรมชาติจำนวนมากเช่นแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่น นอกจากนี้ 70% ของพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นภูเขา ประชากรของเราประมาณ120 ล้านให้อยู่ในพื้นที่ราบที่จำกัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ของธรรมชาติ กับเรื่องชีวิต-สิ่งแวดล้อม เราจึงมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากและมีมาตรฐานสูง ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารเช่นพระราชบัญญัติในประเทศญี่ปุ่น ด้วย

เราถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการมีขั้นตอนในการปฏิบัติ ด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับการก่อสร้างและความปลอดภัยของเรา คนญี่ปุ่นและสมาคมธุรกิจญี่ปุ่น ให้ความสำคัญที่สุด ในเรื่องปัญหาความปลอดภัย เรามั่นใจว่าเรามุ่งมั่นที่จะรักษากฎระเบียบและ เราไม่ยอมละเลยกับมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ

ในอีเมลของคุณ คุณได้ส่งให้ นายกอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีหลายท่าน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไปแล้วนั้น เราชุมชนธุรกิจญี่ปุ่นและญี่ปุ่นที่ได้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างดีและมีความสุข เราหวังอย่างสูงยิ่งว่า รัฐบาลไทยจะการดำเนินการกับปัญหานี้ อย่างเหมาะสมต่อไป

สุดท้ายนี้ คนญี่ปุ่นและสมาคมนักธุรกิจญี่ปุ่น เป็นคนที่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนั้นสำหรับปัญหานี้ ขอให้รัฐบาลไทยแจ้งให้เราทราบกฎระเบียบข้อบังคับที่เราควรปฏิบัติตามต่อไป

Munenori Yamada

ประธานคณะกรรมการบริหาร

เจโทร (กรุงเทพ)

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น