วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“กอร์ปศักดิ์” เข้าฉาก...พบประชาชนพื้นที่จังหวัดระยอง

“กอร์ปศักดิ์” ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ติดตามการแก้ไขปัญหา 5 โครงการเร่งด่วนในพื้นที่มาบตาพุด หลังรัฐบาลอนุมัติงบเกือบ 300 ล้านบาท เผยยังไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาของภาคเอกชน พร้อมให้เวลา ปตท. 1 เดือนในการแก้ไขเรื่องแนวกันชน วันนี้ (15 ต.ค. ) ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานอนุกรรมการติดตามรายงานผลกระทบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนชุมชน 33 ชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด และติดตามความก้าวหน้า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.โครงการแก้ไขปัญหาเริ่งด่วนของมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยอง 2. การแก้ไขปัญหาน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค ของประชาชน 3.การจัดทำแนวป้องกัน ของบริษัท พีทีที โพลีเอทิลีน จำกัด นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดระยองของคณะอนุกรรมการฯครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเน้น 3 เรื่องหลัก 5 โครงการเร่งด่วน (จาก 8 โครงการ) ที่รัฐบาลได้อนุมัติเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด ประกอบด้วย 1 โครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2553 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 31 ล้านบาท (งบกลางปี 53) (โครงการที่ 1-3 ) และ 2 การดำเนินงานก่อสร้างระบบประปา 2 โครงการ สรุปสาระได้ ดังนี้ 1.โครงการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยงานแบบต่อเนื่อง และป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม วงเงิน 13 ล้านบาท โดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง โดยสามารถวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 18 ชนิด และป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 2 สถานี เพื่อเสริมประสิทธิภาพระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้สมบูรณ์มากขึ้น และรายงานข้อมูลที่ตรวจวัดได้สู่สาธารณะอย่างทันเหตุการณ์ผ่านป้ายแสดงผล 2.โครงการก่อสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ และติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ วงเงิน 2 ล้านบาท โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นการติดตั้งระบบเตือนภัย และเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ เชื่อมโยงข้อมูลและแสดงผลของคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่ติดตั้งชุดตรวจวัดเข้ากับระบบควบคุมและประมวลผลแบบศูนย์รวม ที่เทศบาลมืองมาบตาพุด เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพใน 4 สถานี ได้แก่ คลองบางเบิด, คลองพะยูน, คลองห้วยใหญ่ และ คลองมาบข่า 3.โครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งดล้อมในชุมชน วงเงิน 16 ล้านบาท โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบทันที ทั้งในระดับเตือนภัยและระดับวิกฤต รวมทั้งการรับแจ้งเหตุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการทั้ง 3 นี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด จะสามารถทราบคุณภาพของอากาศและน้ำได้ทันที และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ 4. การดำเนินงานก่อสร้างระบบประปา 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างขยายเขตจำหน่ายน้ำประปาพื้นที่อำเภอเมืองระยอง วงเงิน 106.41 ล้านบาท โดยการประปาส่วนภูมิภาค โดยเป็นการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง เพื่อแก้ปัญหาบางชุมชนไม่มีน้ำประปาใช้ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองระยอง บริเวณแนวถนน/ ซอย 13 แห่ง ประมาณ 18,000 ครัวเรือน ขณะนี้กำลังก่อสร้าง ผลงาน 2 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ 20 เม.ย. 2554 ส่วนโครงการที่ใช้งบจาก กปภ. สมทบ ผลงานร้อยละ 60 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2553 นี้ ส่วนโครงการ 2 คือ โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด และเทศบาลเมืองบ้านฉาง วงเงิน 185 ล้านบาท โดยการประปาส่วนภูมิภาค เป็นการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำในพื้นที่ของเทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลเมืองบ้านฉาง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในบางพื้นที่ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ จากเทศบาลเมืองมาบตาพุด 31 ชุมชน เทศบาลเมืองบ้านฉาง ชุมชนบริเวณถนน/ซอย 3 แห่ง รวมประมาณ 29,077 ครัวเรือน ขณะนี้กำลังก่อสร้าง ผลงาน 5 % พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ชุมชนคลองน้ำหู ,ชุมชนอิสลาม ,ชุมชนสำนักกะบาก ,ชุมชนวัดมาบตาพุด , ชุมชนมาบข่า-สำนักมาบใน ,ชุมชนตลาดมาตาพุด ,ชุมชนเนินพะยอม , ชุมชนห้วยโป่งใน -สะพานน้ำท่วม คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 20 เม.ย. 2554 ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11ต.ค. 2553 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาของประชาชน จังหวัดระยอง เพื่อจัดทำข้อมูลความต้องการใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคของประชาชน และแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในระหว่างที่การดำเนินการก่อสร้างระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาคยังไม่แล้วเสร็จ มีองค์ประกอบ 30 คน โดยมู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นประธาน คณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ อบจ.ระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด ,เทศบาลเมืองบ้านฉาง,หอการค้าระยอง ,สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง, ผู้แทนชุมชนในพื้นที่เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด , เทศบาลเมืองบ้านฉาง รวม 15 ชุมชน ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประชุมหารือ แล้ว คณะของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปดูพื้นที่การจัดทำแนวป้องกัน ของ บริษัท พีทีที โพลีเอทิลิน จำกัด ระหว่างโรงงานกับชุมชน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีปัญหาอุปสรรคไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดทำแนวป้องกัน นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวหลังจากได้ดูพื้นที่ว่ารู้สึกไม่พอใจกับการดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว เนื่องจากจากต้นไม้ที่นำลงปลูถกนั้นเล็กเกินไป ซึ่งกว่าจะเจริญเติบโตแข็งแรงพอที่จะใช้ประโยชน์ คาดว่าน่าจะเวลาถึง 3 ปี ซึ่งนานเกินไปกับแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่นนี้ ทั้งที่บริษัทมีเงินทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 1แสนล้านบาทต่อปี จึงขอให้มีการแก้ไขโดยการนำต้นไม้ที่โตกว่านี้ มาลงปลูก ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณกว่าเดิม แต่จะเห็นผลและสามารถใช้ประโยชน์ได้รวดเร็วกว่า โยจะใช้เวลาในการปรับปรุง 1 เดือน แล้วจะกลับมาติดตามผลอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน นี้ ด้านนายจินดา เรือศรี ชาวบ้านหนองแฟบ ในตำบลมาบตาพุด ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริษัท พีทีที เมนเทนแนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด กล่าวว่า ปัญหาโรงงานดังกล่าวยังสร้างปัญหาและผลกระทบต่อตนและประชาชนบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และไม่มีวี่แววจะยุติหรือลดลงแต่อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่น เสียงดัง โดยบางครั้งได้แจ้งไปยังผู้บริหารหรือตัวแทน ก็ได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงที่ไม่เหมาะสมหรือถูกต้องเท่าที่ควร โดยเฉพาะจะอ้างว่า บริษัท เป็นบริษัทระดับชาติ และลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่งการพูดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยแม้จะลงทุนอย่างมหาศาลแต่ยังสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนและชุมชน ก็ถือวาเป็นโรงงานที่ใช้ไม่ได้เช่นกัน ในความเป็นจริง ตนต้องการจะย้ายจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเช่นกัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถช่วยเหลือโดยการซื้อที่ดินของตนไป จะได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่หากไม่ดำเนินการใดก็ควรจะแก้ไขปัญหาให้ได้จริงๆ
ด้านนายสุชิน พูลหิรัญ กำนันตำบลบ้านฉาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการถมทะเลของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า ส่วนปัญหาบริเวณชายทะเลหาดพะยูน ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะนั้น ขณะนี้ ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันน้ำทะเลได้กัดเซาะชายหาดใกล้จะหมดแล้ว โดยที่ผ่านมาชายหาดมีความก้าวกว่า 10 เมตร ปัจจับนเหลือเพียง 1-2 เมตรเท่านั้น โดยโครงการต่างๆที่รัฐบาลสร้างขึ้น ได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนหายไปหมดแล้ว เช่น ศาลาที่พักอาศัย 5 หลัง , ถนนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สาขาระยอง) ที่สร้างไว้ก็ถูกน้ำกัดเซาะหายไปเช่นกัน ดังนั้นหากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ชายหาดพะยูนจะไม่มีเหลืออีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น