วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“สุทธิ อัชฌาศัย” เขียน จม.โต้ “เปลว สีเงิน” หลังถูกกล่าวหา ทำลายชาติ-ถ่วงความเจริญ

“สุทธิ อัชฌาศัย” แกนนำเครือข่ายประชาชนภาค ตอ.เขียนบันทึกโต้ “เปลว สีเงิน” หลังคอลัมนิสต์ไทยโพสต์ หยิบบทความของนักวิชาการตัดแปะโจมตีว่า “ทำลายชาติ-ถ่วงความเจริญ-ดึงต่างชาติทำลายประเทศไทย” ระบุ ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวเพราะรัฐดันทุรังผลักดันอุตสาหกรรมโดยไม่แคร์เสียงเรียกร้องจากชาวบ้าน-ตระบัดสัตย์แก้ไขข้อเสนอตบหน้า ยันประท้วงอย่างสงบ โอดถูกตกเป็นจำเลยสังคม ตั้งคำถามเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิของคนในบ้านเกิดภายใต้กรอบกฎหมายผิด-ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นผิดด้วยหรือ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (3 ต.ค.) นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เขียนบันทึกลงในเฟซบุ๊dส่วนตัวในหัวข้อ “ฝากถึงอาจารย์เปลว สีเงิน ที่เคารพครับ จากกรณีที่ที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 1 ต.ค.2553 ที่ผ่านมา คอลัมน์คนปลายซอย โดย เปลว สีเงิน ได้เขียนบทความในหัวข้อ “เกินพอดีก็ “ไม่ดี” ที่มาบตาพุด” กล่าวหาว่า การเคลื่อนไหวของนายสุทธิ เป็นการกระทำที่สุดโต่ง ถ่วงความเจริญ พร้อมกับหยิบบทความของ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งเจ้าของบทความได้เผยแพร่ในหลายเว็บไซต์มาลงตีพิมพ์อีกด้วย นายสุทธิ กล่าวว่า ตนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจาก เปลว สีเงิน ในข้อหาที่ตนเสียใจ และผิดหวังมากที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะข้อหาทำลายชาติ ถ่วงความเจริญ และข้อหาชักจูงต่างชาติมาทำลายประเทศไทย ทั้งสองข้อหาเป็นข้อหาที่รุนแรงมาก เพราะถือว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้น เป็นไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง โดยมีเจตนารมณ์ต้องการให้เกิดการเติบโตและเกิดความเข้มแข็งของภาคประชาชน เพราะไม่อยากเห็นประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน บันทึกของ นายสุทธิ ได้เท้าความถึงการเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ว่า เกิดจากสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ นายสุทธิ เกิดวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำถูกผันไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรม จึงเริ่มต้นเรียกร้องให้มีการจัดสรรน้ำและกระจายทรัพยากรธรรมชาติให้ทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม จนเป็นประเด็นสาธารณะ เกิดการทบทวนบทบาทของบริษัท จัดการน้ำภาคตะวันออก จำกัด (อีสวอเตอร์) โดยได้งบประมาณด้วยการบริจาคและจากการสนับสนุนด้วยกันเองของสมาชิกใน 8 จังหวัด ไม่ได้รับเงินจากต่างประเทศในการขับเคลื่อนงาน หรือทำกิจกรรมแม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูล พบว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา รายงานของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาในมาบตาพุด มีเป็น 1,000 ฉบับ ระบุว่า เกิดปัญหาผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่แทบทั้งสิ้น แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผย หรือเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจได้ จึงทำให้ตนต้องออกมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องมาบตาพุด โดยเริ่มจากทำสรุปงานวิจัยเหล่านั้นให้เป็นประเด็นอย่างง่าย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจต่อปัญหา โดยข้อมูลที่พบนั้น ระบุว่าคนมาบตาพุดเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลกระทบให้คน จ.ระยอง มีอัตราการเสี่ยงต่อโรคสูงกว่าจังหวัดอื่น ตนจึงได้นำข้อมูลของงานวิจัยทั้งหมดที่ได้สรุปเป็นอย่างง่าย นำเสนอต่อประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง จนมีกลุ่มคนในพื้นที่มาบตาพุด ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะไม่อยากให้ปัญหามลพิษลุกลามสู่ปัญหาสุขภาพ และกระทบต่อชีวิต แต่รัฐบาลไม่ได้ประกาศตามที่เรียกร้อง จึงใช้สิทธิทางศาลด้วยการฟ้องต่อศาลปกครองระยอง ซึ่งได้พิพากษาให้มาบตาพุด และพื้นที่ข้างเคียงเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ รวมถึงเกิดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าไปสู่การควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบ รวมถึงแก้ปัญหามลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลมากขึ้น ชี้ รบ.ตระบัดสัตย์ปรับแก้ข้อเสนอไม่ถาม “อานันท์” นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษอยู่ ยังไม่สามารถชี้วัดได้ว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงได้หรือไม่ ซึ่งระหว่างการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ รัฐบาลกลับมีแผนที่จะขยายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมิได้คำนึงถึงว่าพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงนั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมถึงไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แต่อย่างใด จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม 76 โครงการ เพื่อต้องการให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งระงับโครงการทั้งหมดไว้ก่อน และให้ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองทุกประการ ด้าน พวกตนเห็นว่า ถ้าปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญโดยลำพัง อาจจะทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับ และเกิดความขัดแย้งต่อไป จึงเสนอทางออกด้วยการให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออกร่วมกัน รัฐบาลก็ตอบรับและนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย โดยตนเสนอนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางและมีความสามารถสูง หลังจากนั้น คณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็เริ่มทำงานด้วยดีมาโดยตลอด และได้นำข้อเสนอที่เป็นข้อยุติจากกรรมการ 4 ฝ่าย เสนอไปยังรัฐบาล ทั้งนี้ ช่วงแรกรัฐบาลได้รับข้อยุติที่กรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา และออกมาเป็นประกาศกระทรวงในเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ด้วยดีมาโดยตลอด มิได้มีการปรับแก้แต่อย่างใด แต่พอมาถึงเรื่องประกาศประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ รัฐบาลกลับมีการปรับแก้โดยรัฐบาลเอง รวมถึงไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก่อนที่จะมีการปรับแก้แต่อย่างใด จนทำให้นายอานันท์ต้องออกมาถามรัฐบาลถึงสาเหตุที่ต้องมีการแก้ไขและร้องขอให้รัฐบาลชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ยังไม่ได้มีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใดทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอยู่ประมาณ 6 เดือน มีความขัดแย้งทางความคิดบ้าง แต่ท้ายที่สุดกรรมการสี่ฝ่ายก็มีข้อยุติออกมาตามที่หลายท่านได้รับทราบ ซึ่งรัฐบาลได้นำข้อเสนอหลายข้อของกรรมการสี่ฝ่ายไปใช้โดยไม่ปรับแก้ แต่มีเพียงข้อเดียวที่รัฐบาลปรับแก้ คือโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ปรับแก้เยอะมาก มีทั้งการตัด เพิ่ม และเปลี่ยนแปลงขนาด ถูกต้อง ชอบธรรมไหมครับ เมื่อได้ตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อมาทำงานเพื่อแก้ปัญหาแล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการฯ นั้นไปปฏิบัติ” นายสุทธิ ระบุ โต้ไม่ได้ทำลายชาติ-ถ่วงความเจริญอย่างที่ “เปลว สีเงิน” กล่าวหา อย่างไรก็ตาม นายสุทธิกล่าวถึงสาเหตุที่ตนออกมาเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้านประกาศ 11 ประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบรุนแรงฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากคำพิพากษาของศาล แต่สิ่งที่เห็นต่างจากรัฐบาล และเป็นเหตุผลที่ต้องลุกขึ้นมาแสดงออกอีกครั้ง เพราะว่ารัฐบาลได้ออกประกาศประเภทโครงการรุนแรงฯ ขนาดใหญ่เกินกว่าที่ชุมชนจะรับได้ หรือมั่นใจได้ว่าขนาดที่รัฐบาลกำหนดมานั้น จะมีความปลอดภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชีวิตคน สุขภาพและชุมชน โดยตนและชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้รัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง เพื่อให้เกิดการทบทวนการออกประกาศประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบรุนแรงฯ ใหม่ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ เพื่อดำรงรักษาความถูกต้อง ความชอบธรรม และความดีงามที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ตนและเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จึงได้จึงได้ร่วมกันเคลื่อนไหว ด้วยการชุมนุมโดยสงบ ปฏิบัติตามกฎหมายตามสิทธิที่พึงจะกระทำได้ หวังเพื่อต้องการให้รัฐบาลมีการทบทวนการออกประกาศประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ เสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนทั่วประเทศมีโอกาสใช้สิทธิปกป้องชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองต่อไป และการชุมนุมในช่วงวันที่ 30 ก.ย.และ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นไปโดยสงบ ไม่มีการปิดถนน หรือมีการปิดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแต่อย่างใด แต่กลับอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วยดีมาโดยตลอด ทั้ง 2 วัน รัฐบาลก็ได้ส่งตัวแทนรัฐบาลมารับข้อเสนอและมีการพูดคุยกันด้วยดี ขาดแต่เพียงเวทีที่จะได้มีโอกาสในการทำความเข้าใจร่วมกัน และตัวแทนรัฐบาลก็ได้รับข้อเสนอและจะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อหาข้อยุติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ร่วมกันระหว่างตัวแทนประชาชน กับตัวแทนรัฐบาล ภายใน 2 อาทิตย์ รวมถึงรับปากเรื่องปัญหาที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล ว่าจะมีการเร่งรีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องผังเมือง และปัญหาเรื่องของการควบคุมกำกับดูแลมลพิษ นี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เรียนถึง “เปลว สีเงิน” อย่างตรงไปตรงมา “ผมไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศชาติ หรือถ่วงความเจริญให้ประเทศแต่อย่างใด แต่กลับมีความต้องการยกระดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนทางอุตสาหกรรมให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงเกิดการเอาจริงเอาจังจากภาครัฐและภาคเอกชนในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ประโยชน์สุขทั้งหมดจะเกิดขึ้นกับประชาชน ผมไม่ได้ชักชวนชาวต่างชาติมาทำลายประเทศไทยแต่อย่างใด ผมรู้จักกับคุณธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว และเคยถูกจับร่วมกับคุณธาราที่ประเทศอินโดนีเซียมาก่อน “กรณีที่ คุณธารา บัวคำศรี พาเรือเรนโบว์ มาลอยลำในบริเวณอ่าวไทยนั้น คุณธารา แจ้งผมว่า เพื่อต้องการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทย ว่า มีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาระยอง คุณธาราก็ได้นำเรือไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงครามและก็มาสู่จังหวัดระยองด้วยความสัตย์จริง ผมก็ไม่เห็นว่าในเรือเรนโบว์นั้น มีชาวฝรั่งต่างชาติอยู่เลยแม้แต่คนเดียว กลับมีแต่คนไทยทั้งหมด และก็ไม่เห็นว่าเรือเรนโบว์ทำอันตรายใดๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ผมจึงไม่รู้ว่า ผมไปชักชวนฝรั่งมาทำลายประเทศไทยอย่างไร” นายสุทธิ ระบุ นายสุทธิ ระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนกลุ่มประมงเรือเล็กที่ออกมาล่องเรือบริเวณท่าเรือที่นิคมอุตสาหกรรม นั้น เพราะประสบปัญหาเรือขนถ่ายสินค้าด้านเคมีทิ้งน้ำเสียลงทะเลโดยไม่มีการบำบัด, โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล, ปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงลงสู่ทะเล, ทิ้งขี้เถ้า-ตะกอน-กากของเสียลงสู่ทะเลมาโดยตลอด ทำให้ความสมบูรณ์ใต้ทะเลถูกทำลาย มีแต่กากของเสีย สัตว์น้ำเริ่มหนีชายฝั่งระยองพวกเขาต้องวิ่งเรือไกลขึ้น มีต้นทุนมากขึ้น แต่ยังไม่มีรัฐบาลใดให้ความช่วยเหลือพวกเขาเลยแม้แต่นิดเดียว โอดมารดาเครียดจัด หลัง “เปลว สีเงิน” ทำตัวศาลเตี้ย ในช่วงท้าย นายสุทธิ ยังกล่าวถึงคอลัมนิสต์ชื่อดัง “เปลว สีเงิน” ระบุว่า ตนเป็นลูกสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้กินภาษีประชาชน ไม่เคยประพฤติตัวเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่สังคม ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้หวังงที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองแต่อย่างใด ตนเป็นแค่เพียงผู้นำชุมชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความหวังสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมของสังคมไทยอย่างแท้จริง “ผมผิดด้วยหรือครับ ผมไม่รู้จักกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย มาก่อน ผมไม่เคยมีปัญหากับเขา ผมไม่เคยมีปัญหากับอาจารย์เปลว สีเงิน ผมไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ใคร นอกจากวิพากษ์วิจารณ์การลงทุนทางอุตสาหกรรมที่ไม่มีมาตรฐานของประเทศไทย และวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตร เพราะผมถือว่าทุนนิยมถ้าใช้ไม่ถูกทาง จะเป็นการทำลายสังคมในทุกรูปแบบ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิต ผมอยากย้ำท่านอาจารย์เปลว สีเงินว่า อาจารย์เปลว สีเงินสามารถตรวจสอบพฤติกรรมของผมได้ตลอดเวลา สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผมได้ถ้าผมทำในสิ่งที่ผิดจริงๆ สามารถนำพฤติกรรมของผมในสิ่งที่ผิดบอกต่อสาธารณชนได้ ผมจะไม่รู้สึกเสียใจแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดที่ผมทำมา ผมยังไม่ทราบว่า ผมทำผิดเรื่องอะไร” นายสุทธิ ระบุ นายสุทธิ ยังกล่าวขอความเป็นธรรม โดยระบุว่ามารดาและครอบครัวของตนเครียดมาก จากงานเขียนของเปลว สีเงิน และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คอลัมนิสต์ไทยโพสต์พิพากษาตนให้สังคมมองในแง่ไม่ดีไปแล้ว ทั้งๆ ที่ตนไม่มีโอกาสชี้แจงความจริงสู่สังคมแต่อย่างใด และตนก็จะรู้สึกเสียใจอย่างถึงที่สุด ว่าคนที่พิพากษาประหารชีวิตคือคนต้นแบบที่ได้ติดตามผลงานมาโดยตลอด “การออกมาต่อสู้ในนามภาคประชาชนที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ เพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล และเป็นการต่อสู้ในกรอบของกฎหมายที่เราสามารถกระทำได้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของคนอื่น มันผิดด้วยหรือครับ เราไม่มีทั้งอำนาจรัฐ และอำนาจทุนอยู่ในมือ มีแต่เพียงร่างกายและจิตใจอันบริสุทธิ์ หวังเพื่อให้แก้ปัญหาที่พวกเราประสบอยู่ เราทำลายชาติใช่ไหมครับ?” นายสุทธิ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น