วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“หัสวุฒิ” รับคดีมาบตาพุด - กลุ่มพิทักษ์ รอฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ เห็นกับคนมาบตาพุด ที่เสี่ยงตายหรือไม่

ปธ.ศาลปกคองสูงสุด คนใหม่ ฟิตเตรียมปรับงานเชิงรุก แก้ไขปัญหาคดีล่าช้า พร้อมส่งเสริม คกก.วิชาการช่วยงานพิจารณาคดีของตุลาการ และสร้างตุลาการผู้ชำนาญการ ยอมรับคดีมาบตาพุด - 3จี สร้างแรงกดดันศาล แต่ต้องนิ่งยึดหลักกฎหมาย เตรียมตั้งโฆษกศาลแจงรายละเอียดคดีสร้างความเข้าใจประชาชน
วันนี้ (4 ต.ค.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวภายหลังมอบนโยบายให้กับคณะตุลาการ พนักงานคดี และคณะผู้บริหารศาลปกครอง ว่า จุดยืนของศาลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยังคงเน้นในการดูแลประโยชน์ส่วนรวมและสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีปัญหาการพิจารณาคดีล่าช้า ผลของคดีไม่ทันต่อการเยียวยาผู้เสียหาย แต่ก็อยากให้ประชาชน และสังคมเชื่อมั่นว่า เราจะเร่งรัดบริหารจัดการคดีให้เสร็จเร็วอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ซึ่งเวลานี้ก็กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หากผ่านการพิจารณาของสภาก็จะมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลคดีบางประเภท เช่น คดีที่มีผลกระทบ และหากศาลมีคำพิพากษาช้า จะทำให้การเยียวยาไม่ได้ประโยชน์ ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะดำเนินการของศาลนั้นจะมีลักษณะอย่างไรก็ขอสงวนไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าการพิจารณาคดีแต่ละคดีจะมีกรอบเวลาจะต้องไม่เกิน 2 ปี อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ เรามีการทำงานภายในเพื่อเร่งรัดคดีในลักษณะเป็นการตั้งคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะมีหน้าที่ในการไปค้นคว้าศึกษาเรื่องต่างๆ แล้วนำกลับมาวิเคราะห์ก่อนนำไปถกเถียงกันในที่ประชุมคณะทำงาน ซึ่งตนจะใช้คณะกรรมการวิชาการนี้ในการสนับสนุนการพิจารณาคดีของตุลาการ แต่จะไม่เป็นการไปแทรกแซงดุลพินิจของตุลาการเจ้าของสำนวน หรือองค์คณะ ที่ย่อมมีดุลพินิจเป็นอิสระ เพียงแต่ทำให้ตุลาการไม่สามารถอ้างว่าที่คดีล่าช้า เพราะไม่มีเวลาไปสืบค้นข้อมูล อีกทั้งยังจะเหมือนเราสร้างกระจกขึ้นไว้ส่องหน้าตัวเอง เพราะเมื่อตุลาการนำข้อมูลของฝ่ายวิชาการไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิพากษา แล้วผลที่ออกมาหากแตกต่างจากการทำงานของคณะกรรมการวิชาการ ถ้ามีคำอธิบายที่ไม่สมเหตุสมผลก็ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นข้อถกเถียงในแวดวงตุลาการด้วยกัน ซึ่งก็เชื่อว่าจะให้ลดข้อครหาว่าที่อาจมีการพูดกันว่าบางคดีมีที่มีทุนทรัพย์สูงมีวิ่งเต้นเพื่อล้มคดี นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ประโยชน์ของคณะกรรมการวิชาการ จะเป็นที่สร้างตุลาการผู้ชำนาญการ เพราะแม้ว่าตุลาการที่มีอยู่จะมีความชำนาญเพราะด้านมาจากหน่วยงานเดิม แต่การมาทำหน้าที่ตุลาการต้องเขียนสำนวนสืบค้นข้อมูล ข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการวิชาการก็จะเข้ามามีส่วนช่วยในการส่งเสริมเรื่องของการเขียนคำวินิจฉัยคดี โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการอยู่แล้ว 3 คณะคือคณะกรรมการวิชาการเกี่ยวกับบริหารงานบุคคล คณะกรรมการวิชาการเกี่ยวกับการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และคณะกรรมการวิชาการเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม และจะมีการตั้งเพิ่มอีก 1 คณะคือคณะกรรมการวิชการเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีและการบังคับคดี “อย่างคดีมาบตาพุด และ คดี 3จี เป็นคดีที่มีแรงกดดันมาก ศาลเป็นคนกลางที่ต้องชี้ว่าการบริหารงานของฝ่ายรัฐถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ บางคดีเราเหมือนกับอยู่ระหว่างเขาควาย สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องทำอย่างไรให้ดีที่สุดถูกต้องตรงไปตรงมาบนพื้นฐานกฎหมาย เราไม่อาจตัดสินคดีไปตามกระแสได้เลย ตอนคดีมาบตาพุด มีกรรมาธิการสภาบางคนมาถามว่า ศาลปกครองแบกเรื่องนี้ไว้เต็มบ่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริง ศาลไม่ได้เป็นผู้ที่จะแก้ปัญหา แต่มีหน้าที่ตรวจสอบว่า สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำถูกหรือผิด ถ้าไม่ถูกฝ่ายบริหารก็ต้องแก้ไข กรณี 3 จีก็เหมือนกัน มีคอลัมน์นิสต์บางคน ไปเขียนว่าศาลละทิ้งปรัชญาของศาลที่จะรักษาประโยชน์ สาธารณะไปเสียแล้ว อยากจะบอกว่าแม้ภารกิจของ กทช.จะต้องรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ แต่ประโยชน์สาธารณะจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่มีขอบเขต ไม่มีฐานอำนาจ ต้องยอมรับว่า ศาลก็ได้รับแรงกดดัน แต่เราต้องนิ่งยึดหลักตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ สุจริต อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย จำทำอยู่กรให้น่าเชื่อถือในสังคมให้มากขึ้น” นายหัสวุฒิ กล่าว นายหัสวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การตัดสินของศาลปกครองมีคนที่อาจไม่เข้าใจในคำพิพากาษา และอาจเป็นเหตุทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน ตนกำลังที่จะตั้งโฆษก พร้อมทีมงานของศาลปกครองขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่อธิบายประเด็นการตัดสินของศาลให้สาธารณชนเข้าใจในคำตัดสินของศาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น