วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข่าวจาก ไทยโพสต์ สื่อน้ำดีแต่เน่า - แล้ววันหนึ่ง ความจริงถูกเปิดเผย ตายไปวิญญาณคงถูกตามไล่ล่า

ข่าวจาก ไทยโพสต์ สื่อน้ำดีแต่เน่า

ฝากจำชื่อคนนี้ไว้ ประสาร มฤคพิทักษ์ ที่ไล่ผมออกมาจากห้อง ในบ้านพิษณุโลกที่ผมพยายาม ชี้แจงเรื่อง มาบตาพุดเสี่ยงหายนะภัย ภาคอุตสาหกรรมมักง่าย

"มาบตาพุด" จากคนในแวดวงเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเขาเขียนมาลงตีพิมพ์ เพราะวันก่อนผมแสดงความไม่เห็นด้วยที่เอะอะก็ชุมนุมกันตะพึดตะพือ และได้นำความคิดเห็นของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ตีพิมพ์ประกอบความเห็นลงไปด้วย

ปรากฏว่า ฝ่ายที่ชื่นชอบการชุมนุม และศรัทธาในแนวทางของ "เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก" หลายท่านเขียนมาตอบโต้บ้าง ชี้แจงบ้าง ให้ข้อมูลบ้าง ตัดพ้อบ้าง ด่าทอบ้าง ทำนองว่า เสียแรงที่เคยนับถือ รับจ้างบริษัทในมาบตาพุดมาเขียน ก็ว่ากันไปต่างๆ นานาตามถนัด ผมคงนำตีพิมพ์ไม่ได้หมด จึงเลือกฉบับหนึ่งเป็น "ตัวแทน" ลงตีพิมพ์ ส่วนข้อความจิปาถะจะรวบไปตีพิมพ์ในวันอาทิตย์

เปลว สีเงิน ที่เคารพ

ผมได้อ่านข้อเขียนของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ในคอลัมน์คนปลายซอยของ นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับ 1 ต.ค. 53 เรื่อง “10 ประเด็นที่ขาดเหตุผลในการชุมนุมปิดมาบตาพุดแล้ว ใคร่ขอเสนอข้อมูลและทัศนะแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนี้

ทั้งในฐานะกรรมาธิการของวุฒิสภา 4 คณะที่ได้รับข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กรณีมลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และในฐานะผู้สนใจปัญหาดังกล่าว ผมได้ลงพื้นที่มาบตาพุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 จนถึงวันนี้รวม 6 ครั้งด้วยกัน เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริง ได้พบว่า

1.ชาวบ้านที่นั่นได้รับความเดือดร้อนจริงจากมลพิษในอากาศ ในน้ำ ในดิน เมื่อ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครอง จ.ระยอง มีคำสั่งประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงอีก 5 พื้นที่ใน จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งต่อมารัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศเขตควบคุมมลพิษตามคำสั่งศาล โดยไม่ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์แต่อย่างใด ประกาศดังกล่าวยังมีผลอยู่จน ณ ปัจจุบัน

2.สาธารณสุขจังหวัดระยองและ สนง.สถิติแห่งชาติพบว่า จ.ระยอง มีสถิติประชาชนป่วยเป็นมะเร็งสูงที่สุดในประเทศไทย รองลงมาคือ โรคทางเดินหายใจ หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว อีกหลายคนกำลังตายผ่อนส่ง รอเวลาสิ้นลมหายใจ โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารที่อยู่ใกล้นิคมมาบตาพุด ต้องย้ายโรงเรียนออกนอกพื้นที่ให้ห่างไกลออกไป

รายงานผลศึกษาวิเคราะห์ 35 โครงการในนิคมมาบตาพุดเผยแพร่ใน http://monographs.iarc.fr/ENG/Classification/ ระบุว่า สารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะสารก่อมะเร็งและสารอื่นที่เกี่ยวข้องและก่อผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจมี 34 โครงการ ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท 24 โครงการ ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ 10 โครงการ ส่งผลต่อทารกในครรภ์ 4 โครงการ ส่งผลต่อระบบเลือด 18 โครงการ ส่งผลต่อตับและไต 25 โครงการ ส่งผลต่อผิวหนังและดวงตา 33 โครงการ

3.มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังอืดอาดล่าช้า และไม่เกิดผลที่เป็นจริง เช่น

3.1.แนวกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน ซึ่งเป็นมาตรการบังคับเพื่อกันเขตระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับบ้านเรือนประชาชนยังไม่เกิดขึ้น ตอนสร้างนิคมใหม่ๆ ได้มีการกันแนวเขตกันชนไว้ แต่ต่อมาโรงงานขยายเขตพื้นที่ออกมาจนชนเขตบ้านช่องเรือนชานไปหมดแล้ว

3.2.มาบตาพุดถูกจัดให้เป็นพื้นที่เสียสละ คือเลือกให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงการลงทุนนับแสนล้านเข้ามาในประเทศ แต่ชาวบ้านกลับต้องแบกรับภาระเรื่องควันพิษ น้ำเสีย ดินพินาศ ประชาชนผู้เสียสละยังต้องเสียสละต่อไปโดยไม่มีหลักประกันความปลอดภัยใดๆ เลย

3.3.พื้นที่มาบตาพุดมีสภาพมลพิษล้นเกินกว่าจะแบกรับอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป แม้ว่าแต่ละโรงงานอาจปล่อยมลพิษออกมาในระดับที่นักวิชาการบอกว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อรวมนับร้อยโรงงานขึ้นไป ลองคิดดูซิว่าจะเกินมาตรฐานหรือไม่ ในความเป็นจริงนั้นโรงงานหลายแห่งแอบปล่อยมลพิษเวลาหลังเที่ยงคืน เพื่อให้พ้นจากระบบตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี รมว.ก.อุตสาหกรรม รมว.ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรไปนอนสัมผัสไอพิษที่มาบตาพุดสักหนึ่งคืนจะดีไหม จะพบว่าสิ่งที่ พร.โสภณ พรโชคชัย ระบุว่า ในมาบตาพุดมีประชากรที่เจ็บป่วยเล็กน้อยในการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียง 9.83% เท่านั้นควรเชื่อได้แค่ไหน ทำไมตัวเลขที่อ้างมานั้นจึงต่างกันราวฟ้าดินเมื่อเอามาเทียบกับผลการศึกษาแบบเกาะติดลงลึกในพื้นที่มาบตาพุดยาวนานกว่า 3 ปี ของ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผลการศึกษาของสาธารณสุข จ.ระยอง ซึ่งสาธารณชนสามารถติดตามตรวจสอบได้

สำคัญกว่านั้นคือชาวบ้านในมาบตาพุดได้สัมผัสดิน น้ำ อากาศ ที่เน่าเสีย ด้วยเนื้อตัวที่เป็นจริงโดยตรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ณ วันนี้ ประชาชนยังไม่มีหลักประกันใดๆ จากรัฐบาลเลย ว่าจะมีการอนุมัติโครงการใหม่หรือไม่ จะมีการขยายโรงงานอีกหรือไม่ ถ้าอนุมัติจะต้องเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์หรืออุตสาหกรรมสะอาดเท่านั้นหรือไม่ หรือว่าชาวบ้านจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับปัญหาซึ่งคนอื่นเป็นคนสร้างให้ แต่ชาวบ้านเป็นผู้รับเคราะห์กรรมไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน

4.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ที่ตัดเอา 7 ประเภทกิจการที่มีความรุนแรงออกไปจาก 18 ประเภท ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายนำเสนอนั้น ยังไม่มีความกระจ่างใดๆ จาก สวล. ทั้งๆ ที่ คก. 4 ฝ่ายได้ร้องขอคำอธิบายเหตุผลไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

ในความเป็นจริง หากไปดู 11 ประเภทความรุนแรงนั้น ยังได้พบว่า คก.สวล.ได้ปรับเพิ่มขนาดที่เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ สวล. ได้ปรับเพิ่มตัวเลขขนาดการผลิตจาก 1,000 เมกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าหนองแซง สระบุรี (1,600 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าแก่งคอย สระบุรี (1,400 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าราชบุรี (2,800) เมกะวัตต์ หลุดออกไปจากตะกร้ากิจการที่มีความรุนแรง เพราะไม่มีโรงไฟฟ้าใดในประเทศไทยที่มีกำลังผลิตเกิน 3,000 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกันกับการถมทะเลที่ สวล. ขยายขนาดจากเดิม 50 ไร่ เป็น 300 ไร่ ทำให้การถมทะเลที่ท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล (ถมทะเล 297 ไร่) และการถมทะเลที่ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี (โรงงานเหล็กต้นน้ำ ถมทะเล 245 ไร่) ก็หลุดออกไปจากตะกร้าของประเภทกิจการที่มีความรุนแรง ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 (2)

ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่เป็นปัญหา ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทวงถามในฐานะเป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริง

5.การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ไม่ใช่การต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหลับหูหลับตา ไม่ใช่จะขับไล่ไสส่ง ไม่ใช่คิดอยากเผาโรงงาน ปรารถนาที่แท้จริงคือ การเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมและภาครัฐมีความเข้มงวดกวดขันในการเคารพสิทธิของชุมชนตามมาตรา 67 (2) ของรัฐธรรมนูญ โรงงานไหนปฏิบัติได้ ก็อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์

ผมไม่ขอตอบโต้เป็นรายประเด็นตามที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย พยายามทำลายความชอบธรรมของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยใช้คำว่า กลุ่มนี้ชอบอ้าง...ซึ่งหลายประเด็นแฝงไว้ด้วยอคติ เหนือกว่า 10 ประเด็นที่ยกมา ควรตั้งคำถามว่า มลพิษมาบตาพุดยังบั่นทอนชีวิตผู้คนอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ ชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและชุมชนใช่หรือไม่ อำนาจรัฐและอำนาจทุนยังคุกคามชุมชนโดยไม่อาจให้หลักประกันแก่ประชาชนอย่างน่าเชื่อถือใช่หรือไม่ แม้ศาลปกครองจะสั่งระงับการดำเนินการ 76 โครงการเมื่อปลายปีที่แล้ว ธุรกิจอุตสาหกรรมในเครือบริษัทที่ถูกศาลสั่งระงับ โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ปตท. ยังเติบโตและทำกำไรมหาศาลใช่หรือไม่

การยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อการมีชีวิตอยู่ เพื่อรักษาดิน น้ำ อากาศ อันธรรมชาติได้รังสรรค์ไว้ให้เอื้อประโยชน์แก่มนุษย์ทุกรูปนาม จึงควรที่จะได้รับความเคารพ แทนที่จะได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนอย่างไร้เยื่อใยแห่งมนุษยธรรม

ด้วยความเคารพยิ่ง

ประสาร มฤคพิทักษ์

ครับ..ก็ขอได้รับความเคารพในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนจากผมด้วยละกัน ไอ้ผมมันก็แบบนี้แหละ เป็นคนอย่างที่เขาอยากให้เป็น-ไม่เป็น ก็เลยต้องเป็นอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านที่ตรงใจเขา เขาก็ว่าผมมีอุดมการณ์เหมือนเขา แต่ถ้าวันไหนไม่ตรงใจเขา เขาก็ว่าผมไม่มีอุดมการณ์ รับจ้างคนอื่นมาเขียน ถ้าถามว่า "แล้วจริงมั้ย?" ผมก็ขอตอบว่า...

ก็สุดแต่ใต้เท้าจะคิดเห็น!

ตามไปดูด้านล่าง ... นึกว่าจะช่วยประชาชน เลยตามไปจนเจอตัว ที่บ้านพิษณุโลก พร้อมกับ ปธ.กรรมาธิการของวุฒิสภาหลายท่าน ส่งเอกสารเรื่องโรงแยกก๊าซที่ 6 ปตท. เสี่ยงให้ ทำท่าแทบจะโยนทิ้ง ตรงนั้น พร้อมเดินมากระซิบให้ขอให้ออกนอกห้อง 2-3 รอบ ...

วันที่ 30 สิงหาคม 2553 16:12

ส.ว.จี้ให้กก.4ฝ่าย ยืน18โครงการมาบตาพุด

ส.ว.เผยให้คณะกรรมการ4ฝ่าย ยืน18โครงการมาบตาพุดที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง หวั่นเอาโครงการออกเท่ากับปลดล็อคที่ศาลปกครองสั่งระงับ

รัฐสภา-การประชุมวุฒิสภาที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือต่อที่ประชุมว่าจากกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เป็นประธาน ได้เห็นชอบกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานได้มีมติให้ 11 โครงการมาบตาพุดจาก 18 โครงการ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งจะทำให้18โครงการที่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกผลักออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบ้านเมือง

โดยนัยยะสำคัญการเอาโครงการออกเท่ากับเอื้อต่อการปลดล็อคให้ 76โครงการที่ศาลปกครองสั่งระงับโครงการเป็นการชั่วคราวใช่หรือไม่ เพราะในนี้จะมีโรงแยกแก๊สโรงที่ 6 ซึ่งจะถูกปลดล็อคด้วย รวมทั้งโครงการของรัฐมนตรีท่านหนึ่ง คือโครงการวอเตอร์กริด งบประมาณ 2แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต ซึ่งใน 7โครงการคือชลประทาน ผันน้ำจะครอบคลุมตรงนี้ด้วย ซึ่งหมายความว่าไปเอื้อประโยชน์ให้ด้วย ซึ่งเป็นเมกกะโปรเจ็คที่เกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเกิดขึ้นก็จะล้มเหลว เหมือนที่เคยทำมาในอดีต

"ผมอยากให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้พิจารณาและทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้ง 4 ภาค และมีการโต้เถียงทางวิชาการกันอย่างเข้มข้น อยากเรียกร้องให้พิจารณา และยืน18โครงการที่มีความรุนแรง"

1 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องมาบตาพุด
    เพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญาและการถกกันบนพื้นฐานสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกเพื่อชาติและประชาชน เชิญอ่านเรื่องนี้นะครับ
    http://www.facebook.com/note.php?note_id=440528558796

    ตอบลบ