วันนี้ (1 ต.ค.) กลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำโดย นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่าย ได้ร่วมตัวประท้วงเป็นวันที่ 2 เพื่อเรียกร้องถึงการออกประกาศโครงการรุนแรงฯ 11 โครงการ หลังจากนั้นกลุ่มเครือข่ายฯ ได้เคลื่อนขบวนเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายพุฒิพงษ์ บุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตัวแทนรัฐบาลบริเวณหน้าการนิคมอุตสาหกรรม โดยก่อนจะเดินทางไปถึงการนิคมฯได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดบริเวณสี่แยกสะเดา เพื่อไม่ให้กลุ่มเครือข่ายฯ เดินทางไปยังการนิคมฯ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีการประทะแต่อย่างไร โดยต่างได้ยื่นข้อต่อรองเรียกร้องเป็นเวลานานกว่า 20 นาที
จากนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทนต่อกระแสเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงไม่ไหว จึงปล่อยให้ผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดไว้ คือ จะต้องตรวจค้นกลุ่มผู้ชุมนุมทุกคนที่จะเดินทางเข้าไปยังการนิคมฯ ทุกคน ซึ่งผู้ชุมนุมก็ได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดจนสามารถเดินทางไปถึงบริเวณหน้าการนิคมฯ เพื่อยื่นหนังสือดังกล่าว
สำหรับการยื่นหนังสือได้มีกลุ่มตัวแทนจากหลากหลายพื้นที่ได้ยื่นหนังสือผ่านนายพุฒิพงษ์ เช่น กรณีปัญหาที่มาบตาพุด, ปัญหาการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม IRPC ที่อำเภอวังจันทร์, ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่จังหวัดตราด, ปัญหาโรงถลุงเหล็กที่จังหวัดจันทบุรี, ปัญหาโรงกำจัดขยะที่บ่อวิน, ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงถลุงเหล็ก ที่ภาคใต้ โดยทุกๆเรื่อง ได้รับไปเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า การเรียกร้องในครั้งนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และการที่ตนเดินทางมารับเรื่องครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐบาล เพื่อนำไปประสานถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบและนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงจะต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข
การแก้ไขปัญหานั้น โดยจะต้องเชิญผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไปให้ข้อมูลและรายละเอียด และจะต้องพูดคุยถึงปัญหา ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังต่างประเทศ โดยคาดว่าภายในระยะเวลา 1 เดือนนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคงจะคลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น โดยหลังจากรับเรื่องจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกแล้ว ได้เดินทางไปรับหนังสือจากกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จังหวัดระยองอีก 1 เรื่อง
นายสุทธิ กล่าวว่า ในวันนี้ (1 ต.ค.) ประมาณ 18.00 น.เราจะประกาศยุติการชุมนุม หลังจากที่ 2 ฝ่ายให้เวลาในการกลับไปเตรียมข้อมูล และเวลาในการที่จะกลับมานั่งโต๊ะเจรจากัน ภายใน 2 สัปดาห์ โดยในเบื่องต้นเท่าที่ได้รับฟังจากตัวแทนรัฐบาลก็ถือว่าพอใจในระดับหนึ่งหากสามารถดำเนินการได้จริง คาดว่าใน2 สัปดาห์ข้างหน้าคงจะมีเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่หากการเจรจาไม่เกิด หรือไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น ก็ถือว่า รัฐบาลหลอกลวงประชาชน และพวกเราคงจะต้องมีการดำเนินการทุกวิถีทางต่อไป ส่วนในขณะเดียวกันทางของกฎหมายเราก็จะดำเนินการควบคู่กันไปคือในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ทางกลุ่มฯจะไปยื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
ด้าน นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จังหวัดระยอง กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้ 1.เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนประเภทโครงการของอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ต่อกลุ่มชาวประมง ที่สำคัญจะต้องมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน
2ให้เรือขนส่งสินค้าจอดเรือในบริเวณจุดทิ้งสมอ ที่ 6 เมตรขึ้นไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำประมงพื้นบ้าน และให้ฟื้นฟู ดูแล อนุรักษ์พื้นที่ ที่ได้รับความเสียหายจากการทำนิคม
สำหรับข้อเรียกร้องนั้นทางกลุ่มเรือประมง จะให้ระยะเวลารัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเวลา 3 สัปดาห์ และหากข้อเรียกร้องไม่ดำเนินการนั้น ทางกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก พร้อมจะนำเรือทั้งหมดมาปิดน่านน้ำระยะ เพื่อไม่ให้เรือสินค้าหรือเรือใดๆ เข้าเทียบท่าได้แม้แต่ลำเดียว
ด้านนายประเมิน สุขวารี ผู้นำชุมชนปากน้ำ 1 กล่าวถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านนั้น ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงฟ้าถ่านหิน ซึ่งสร้างปัญหาและผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางโรงไฟฟ้าได้ปล่อยน้ำหล่อเย็นลงสู่ทะเลทำให้น้ำบริเวณนั้นมีกลิ่นเหม็น และมีสารเคมีไหลลงสู่ทะเล โดยจะเห็นได้จากสีของน้ำทะเลเป็นสีขาวขุ่น
นอกจากนั้น บริเวณใต้ท้องทะเล จะมีคราบของดินตะกอนมีความหนาเกือบ 1 เมตร ส่งผลกระทบต่อปะการังและสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำบริเวณแนวชายฝั่งสูญหาย ทำให้เรือประมงต้องออกไปจับปลาห่างจากชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น