วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ยื่นศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเพิ่ม 3 ประเด็น เรื่องมาบตาพุด - นายก ให้เร่งแนวกันชน

สมาคมต้านโลกร้อน ยื่นศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเพิ่ม 3 ประเด็นร่วมวงเบรกโครงการมาบตาพุด ชาวบ้านลุยต่อ 4 ต.ค.ยื่นศาลขอคำสั่งถอนมติครม.11 ประเภทกิจการรุนแรง

เมื่อเวลา 10.30 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน พร้อมชาวบ้านมาบตาพุด จ.ระยอง เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ซึ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้กับกิจการโครงการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยยก3 ประเด็นหลักต่อสู้ ประเด็นแรกขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ประเด็นที่ 2 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ หรือกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่อยู่ใรพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง จ.ระยอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยขอให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ ในปัจจุบัน สำหรับโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการที่ผู้ขออนุญาต หรือเจ้าของโครงการ ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2550 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาขอให้ยุติเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ศึกษาอีไอเอให้ครบถ้วนตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประเด็นที่ 3 ขอให้ศาลปกครองสูงสุด ได้โปรดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่นำประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องกำหนดประเภท ขนาดและวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2553 ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2553 มาประกอบในคำพิพากษา นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขั้นตอนพิจารณาคำอุทธรณ์จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอยากให้พิจารณาถึงความเชื่อมโยงของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับโครงการรุนแรง 11 ประเภทกิจการที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับยโครงการที่เข้าข่ายใน 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม วันที่ 4 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ทางกลุ่มชาวบ้านมาบตาพุด จะนัดรวมตัวกันเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอน มติ ครม.เกี่ยวกับโครงการรุนแรง 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และเอาผิดกับ 4 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทส. รวมถึง ครม. และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

นายกฯชี้ปัญหามาบตาพุดแท้จริงคือการเร่งทำแนวกันชน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำกลุ่มประชาชนรวมตัวหน้าศูนย์ราชการระยอง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนประกาศ 11 ประเภทกิจการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดใหม่ พร้อมขู่ปิดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า เข้าใจว่ามีการประสานงานระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับผู้ชุมนุมอยู่ ดังนั้นไม่มีเหตุผลและไม่มีความจำเป็นที่จะทำผิดกฎหมาย อยากเรียนว่าที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอเรื่องกิจการและสิ่งที่รัฐบาลออกประกาศสำหรับมาบตาพุดนั้น ไม่ได้แตกต่างกันในแง่โครงการที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะทราบว่าไม่มีเหตุผลอะไร อยากย้ำว่าปัญหาจริงของมาบตาพุดคือการเร่งทำของเขตแนวกันชน เขตคุ้มครอง และการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับความสามารถของพื้นที่ในการรองรับการขยายตัวในภาพรวม ไม่ใช่ประเภทกิจการ ตนเองยินดีที่จะพูดคุยด้วย แต่ไม่ทราบว่าจะจบด้วยการดีเบตหรือไม่ เพราะจริงๆแล้วการสื่อสารมีอยู่ตลอด จึงอยากทำความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจกันก็ต้องมาพูดคุยกัน ไม่ใช่ไปทำผิดกฎหมาย
ส่วนที่ว่าจะชุมนุมยืดเยื้อ 3 วันนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า มีการประสานงานกันอยู่ตลอด ยืนยันว่าประเภท 11 กิจการถ้านับสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดก็จะเป็น 12 ประเภท และถ้านับว่ามีการปรับเปลี่ยนเพียงแค่รูปแบบของประกาศ เพราะว่าที่เขาไปทำมาก็ยังไม่สามารถประกาศได้ก็บวกเข้าไปอีก 2 เป็น 14 ประเภท เรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันในนัยยะสำคัญ แต่ต้องดูด้วยความรัดกุมในเรื่องต่างๆและต้องเข้มงวดเรื่องของเงื่อนไขมากขึ้น ถ้าศาลปกครองใช้มาตรฐานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จะมีโครงการที่หลุดไปมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เรื่องนี้จะจบได้ก็ต้องทำความเข้าใจกัน
เมื่อถามว่าการพูดคุยมีมานานแล้วแต่ทำไมไม่เข้าใจคิดว่ามีกลุ่มใดแอบแฝงในการเคลื่อนไหวเข้าไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บางกลุ่มเขาอาจเข้าใจยาก ซึ่งก็พยายามทำความเข้าใจอยู่ ส่วนตัวไม่คิดว่ารัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจน เพราะได้พูดในรายละเอียด บางทีประชาชนที่มาแล้วได้ทราบว่าเราพูดเรื่องชลประทานและพูดเรื่องของโครงการน้ำเขาก็ไม่ได้ติดใจ ต้องยอมรับว่าบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมเขาก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงออก
ส่วนที่ว่ารัฐบาลหลอกใช้นายอานันท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่จริง ท่านก็คุยกับตนเองอยู่ และขอเรียนว่าที่กรรมการ 4 ฝ่ายทำออกมาตอนนั้น 18 กิจการ บางส่วนของกลุ่มนี้ก็ต่อต้านอยู่ดี จะเห็นได้ว่ามีการไปยื่นร้องด้วยซ้ำ ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนเห็นตรงกันหมด ดังนั้นต้องมาดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วก็มาแก้ไขร่วมกัน ไม่มีความจำเป็นต้องเผชิญหน้า

"วรรณรัตน์"เคลียร์ "ชัยวุฒิ"แทงกั๊กออกใบอนุญาตโรงแยกก๊าซฯ 6 แล้ว คาดออกใบอนุญาตได้ภายในสัปดาห์หน้า และเดินเครื่องได้ใน 1 เดือน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยให้เหตุผลว่าจะต้องรอให้มีการพิจารณาพร้อมกันในส่วนของโครงการที่เหลือ แต่หลังจากที่ได้มีการประสานงานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันแล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว

โดยขณะนี้ทาง นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้โดยเร็ว คาดว่าจะออกได้ภายในสัปดาห์นี้ และจะเดินเครื่องได้ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ โดยระยะแรกจะยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่

“กระทรวงพลังงานได้ประสานและทำความเข้าใจกับกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว และได้ชี้แจงว่าเรื่องโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และยืนยันว่าการออกใบอนุญาตไม่ได้ล่าช้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่าจะสามารถออกใบอนุญาตให้ได้สัปดาห์นี้ ทำให้โครงการด้านพลังงานเดินหน้าต่อได้ยกเว้นโครงการของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล โครงการเดียวที่เข้าข่ายกิจการรุนแรง โดยยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง”

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจโครงการด้านพลังงานที่ทั่วประเทศที่อยู่นอกเหนือ 76 โครงการในมาบตาพุด เพื่อดูว่ามีโครงการใดบ้างที่เข้าข่ายประเภทกิจการรุนแรง และดูว่าโครงการนั้นจะต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งมีอุปสรรคในการดำเนินการอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็เฝ้าระวังใม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอีกด้วย

สำหรับกรณีที่เครือข่ายชุมชนภาคตะวันออกจะนัดชุมนุมปิดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้เพื่อแสดงท่าทีคัดค้านการประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรง มองว่า เป็นการแสดงออกเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น