๐ ประชุมกันกี่ครั้งกี่หน ก้อยังทิ้งภัยให้คนมาบตาพุด ๐
โกหก ตลบตะแลงกันไปวันๆ
ไม่ว่ากรณีเหตุโรงงานระเบิดและสารเคมีรั่ว ทำคนตาย 12 ราย บาดเจ็บร้อยกว่าราย ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อเดือน พ.ค.2555 หรือกรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและปล่อยน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรมบางปู สมุทรปราการ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ส่งสัญญาณถึงเวลาที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานซึ่งเปรียบเสมือนจำเลยร่วมของเหตุการณ์ จำต้องกลับไปทบทวนและชำระสะสางแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมอุตสาหกรรมอย่างลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง
มองในแง่รัฐหรือหน่วยงานราชการ อยากเห็น กนอ.เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และความปลอดภัยในภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และสามารถร่วมมือประสานความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม จึงควรต้องมีแผนแม่บทที่ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไม่พึงประสงค์ เพื่อใช้เป็นมาตรการและแนวทางในการดำเนินงาน
ด้วยเหตุนี้ กนอ.จึงได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “แผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ.2555–2559” ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม และนำไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่จะสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนอย่างที่หลายคนถวิลหา
ขณะนี้อยู่ในขั้นเผยแพร่และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง เพื่อนำไปปรับปรุงตัวร่างของแผนฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ดร.พีระ เจริญพร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญซึ่งร่วมจัดทำร่างแผนแม่บทดังกล่าว บอกว่า กรอบแนวคิดในการยกร่างแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อมฯ ปี 2555-2559 อาศัยเนื้อหาทั้งจากรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 11 (ปี 2555-2559) ทิศทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2555-2558 และกระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอก เป็นต้น
เขาบอกว่า จากการออกรวบรวมข้อมูล และข้อคิดเห็นจากฝ่ายผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ข้อคิดเห็นจาก ชุมชนรอบนิคมฯ หน่วยงานภาครัฐ พนักงานและผู้บริหาร กนอ. และ จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ทำให้พบเหตุแห่งปัญหาหลายประการ
เช่น กนอ.ไม่ควบคุมหรือบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงต่อชุมชน ทำให้บางโรงงานใช้โอกาสในช่วงกลางคืน สร้างมลภาวะทางเสียง เมื่อชุมชนแจ้งให้ กนอ.ทราบ ก็ไม่มีการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้อย่างทันท่วงที
หรือกรณีบางวันมีกลิ่นลอยเข้าไปในชุมชน ซึ่งชุมชนไม่อาจทราบได้ว่า ปริมาณกลิ่นที่รั่วไหลออกมาจะมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
กรณีงานด้านความปลอดภัย มักจะทำกันยามเมื่อเกิดเหตุมากกว่าจะเน้นที่การป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหา และการตรวจสอบโรงงาน มักจะเป็นการตรวจสอบแค่ทางเอกสารหรือตามเช็ก ลิสต์ เป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังขาดฐานข้อมูลของสารเคมีและกากของเสีย รวมทั้งเมื่อเกิดการฝ่าฝืน กนอ.ไม่กล้าลงโทษโรงงานที่ทำผิดอย่างจริงจัง โครงการนำร่องของ กนอ.บางโครงการเกิดขึ้นแล้วก็หายหัว ทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง
ยังมีปัญหากรณีการขนย้ายกากอุตสาหกรรม ซึ่งขาดการกวดขันอย่างจริงจัง อีกทั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือใช้ข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นช่าง และวิศวกร หรือ รปภ.ที่คอยดูแลทางเข้า-ออกของนิคมฯ ซึ่งไม่มีความรู้และเข้าใจในด้านสารเคมีเพียงพอที่จะตรวจสอบ
รวมทั้งข้อจำกัดกรณีการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในแง่คุณภาพหรือความถี่ในการซ้อมแผนฉุกเฉิน ระบบแจ้งเตือนภัยที่ล่าช้า และข้อจำกัดของระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ยังขาดความพร้อมในอุปกรณ์ตรวจวัด ทำให้ยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มักโทษและอ้างว่าอุปกรณ์ชำรุดอยู่เสมอ
ดร.พีระบอกว่า วิธีแก้ไขในแผนแม่บทฯจึงเสนอให้มีการตรวจสอบโรงงานบ่อยๆ เช่น ตรวจสอบทุก 3 เดือน และต้องตรวจสอบในหลายจุด โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้โรงงานประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการต่อใบอนุญาต ร่นระยะเวลาการต่อใบอนุญาตจาก 5 ปี เหลือเพียง 1 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ กนอ.ควรจัดหาเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แยกสายตามความชำนาญ เช่น ด้านน้ำ อากาศ สารเคมี และด้านกากของเสีย โดยให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นมีการสอบวัดมาตรฐานความรู้ เช่น จป. หรือผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษ เป็นต้น
นอกจากนี้ กนอ.ควรเปิดเผยและชี้แจงว่า แต่ละโรงงานในนิคมฯ มีสารเคมีอะไรบ้าง และเป็นอันตรายแบบไหน เป็นต้น
การที่บทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นทั้งผู้ส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้กำกับดูแล อาจทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน จึงควรกำหนดให้มีบุคคลที่ 3 หรือคนกลางจากภายนอก (Third party audit) เข้าร่วมตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในนิคมฯ
นอกจากนี้ ควรมีการใช้ระบบเพิ่มประสิทธิภาพความประหยัดมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมและลดมลพิษของโรงงานมีการจัดเก็บภาษีมลพิษ เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชน ด้วยการสื่อสารทำความเข้าใจ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรม
บูรณาการบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมของฝ่ายต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรบุคคลให้มากที่สุด รวมทั้งจัดตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลที่ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ เช่น ข้อมูลสารเคมีที่อยู่ในโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม ในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
อีกทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความไม่ปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ฉับพลันทุกเมื่อ แต่ระบบงานของ กนอ.ยังเป็นระบบราชการ ทำงานเป็นเวลา หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งผิดกับเวลาที่เกิดเหตุ ที่ไม่เลือกวัน เวลา และสถานที่ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักมีการลักลอบ หรือเกิดเหตุในช่วงวันหยุดเสียด้วย กนอ.จึงควรปรับระบบงานใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริง
สุดท้าย อย่างที่ใครบางคนเคยว่าไว้ ผู้ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด ก็คือ ผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นเอง หาก กนอ.สามารถดูแลโรงงานในนิคมฯได้ดีพอ ก็คงไม่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมของสังคม.
ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
17 สิงหาคม 2555, 05:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น