วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สาธารณะกรรม - ปัญหามาบตาพุด ที่ไม่เคยแก้ถูกจุด โดย นายสยุมพร ลิ่มไทย อดีต.ผวจ.ระยอง



อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสยุมพร ลิ่มไทย ได้นำเสนอปัญหาของอันตรายจากมาบตาพุดไปแล้ว
"การบังคับใช้กฎหมายมีลักษณะของการเข้าไปกำกับ ดูแลและบังคับป้องกันมากกว่าการเข้าไปแก้ไขปัญหาภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วเช่นทุกครั้ง"

คราวนี้จึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยระบุว่าจะต้องดำเนิน การแบบครบวงจรทั้งระบบในระยะสั้นและระยะยาว คือมาตรการระยะสั้น สิ่งที่ควรดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วนคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในระดับท้องถิ่น ดังนี้

1.การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและแจ้งเตือนภัยภาคประชาชน โดยใช้สถานที่ภายในสำนักงานเทศบาลเมืองมาบตาพุด เนื่องจากประชาชนและผู้นำชุมชนต่างๆ สามารถเดินทางเข้า-ออก ได้อย่างสะดวกเชื่อมโยงระบบข้อมูลของโรงงานต่างๆ จากศูนย์ของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอื่นๆ ไปที่ศูนย์ภาคประชาชน สามารถทำให้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านหอกระจายข่าว สัญญาณเตือนภัย วิทยุชุมชน จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการอพยพประชาชน การนำส่งผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล การระงับเหตุการณ์เบื้องต้น และการเฝ้าระวังพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ

2.การเพิ่มสมรรถนะของโรงพยาบาลมาบตาพุดและศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้สามารถตรวจรักษาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้มากขึ้น รวมถึงการตรวจสุขภาพประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ทันสมัย จัดอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้เต็มตามกรอบอัตรา เพราะทุกครั้งที่เกิดอุบัติภัยจากสารเคมี ผู้บาดเจ็บหรือผู้ได้รับผลกระทบจะถูกนำส่งไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งโดยปกติจะรับผู้ป่วยทั่วไป มิใช่โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์โดยตรง ดังนั้น ควรปรับปรุงและพัฒนาให้โรงพยาบาลมาบตาพุด และศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ เป็นศูนย์ที่สามารถตรวจ รักษาประชาชนในเขตควบคุมมลพิษได้ ทั้งในภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติ

3.การจัดทำแนวป้องกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับประชาชนที่มีพื้นที่ติดกัน หรืออยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยใช้พื้นที่ของโรงงานปลูกต้นไม้ใหญ่ลักษณะเรือนสามยอด หรือจัดทำกำแพงป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงลดผลกระทบจากสารเคมีหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น การจัดทำแนวป้องกันดังกล่าวจะต้องกำหนดไว้ในระเบียบ ข้อบังคับให้ทุกโรงงานที่มีแนวเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกับชุมชน บ้านเรือนราษฎร โรงเรียน ต้องดำเนินการจัดให้มีขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขในมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

4.การเพิ่มอำนาจของท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมาย จากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน อำนาจการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ที่หน่วยงานในระดับกระทรวงและกรมในส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสั่งปิดโรงงานชั่วคราว การตรวจค้น การตรวจสอบ การสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ควรมอบอำนาจดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับจังหวัดเพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการกับการบังคับใช้กฎหมายอื่นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีลักษณะของการเข้าไปกำกับ ดูแลและบังคับป้องกันมากกว่าการเข้าไปแก้ไขปัญหาภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วเช่นทุกครั้ง

สำหรับมาตรการระยะยาวขอเวลาในการนำเสนออีกช่วงหนึ่งในโอกาสต่อไปไม่นานนัก.

“ซี.12”

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ซี.12
15 พฤษภาคม 2555, 05:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น