วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

บทความ ของ คุณสฤณี (คนชายขอบ) เขียนเรื่อง ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย

( ชัดเจนถึงความประมาทมักง่าย ไร้ความรับผิดชอบ โดยอ่านจากข้อตำหนิต่างๆ จาก ประเทศที่ได้รับผลกระทบ แม้กรณีนี้ คนไทย ไม่ได้การรับรู้ เพราะสื่อมวลชนไทย ปกปิดข่าวกันหมด)

ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย

รู้ทันตลาดทุน : สฤณี อาชวานันทกุล กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข่าวที่ควรจะเป็นข่าวใหญ่ในตลาดทุนข่าวหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2553 แต่กลับเงียบมากในเมืองไทย คือ ข่าวที่กระทรวงทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลีย ออกมาเปิดเผยรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา (Montara Commission of Inquiry’s Final Report and Findings) กรณีเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในแหล่งมอนทารา ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (พีทีทีอีพี เอเอ) บริษัทในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน

เหตุระเบิดดังกล่าวในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ส่งผลให้น้ำมันรั่วนานกว่า 10 สัปดาห์ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร เป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย รายงานของคณะกรรมการสอบสวนฯ (ดาวน์โหลดได้จาก www.ret.gov.au/montarainquiryresponse) สรุปว่า "สาเหตุทางตรง" ของเหตุการณ์นี้ คือ 1. การติดตั้งฉนวนซีเมนต์ (cemented shoe) ที่บ่อผิดพลาดในเดือนมีนาคม 2009 (หลังจากที่ ปตท.สผ. เข้าซื้อกิจการแล้ว) ส่งผลให้ฉนวนดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุระเบิด (Finding 1-3) และ 2. ความล้มเหลวของ พีทีทีอีพี เอเอ และแอตลัส (บริษัทผู้รับจ้างบริหารบ่อน้ำมันนี้) ที่ไม่ได้ตระหนักว่าฉนวนมีปัญหา และไม่ได้ทดสอบฉนวนอย่างที่ควรทำ โดยพีทีทีอีพี เอเอ เป็นฝ่ายผิดมากกว่าแอตลัส เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมบ่อโดยตรงตามข้อตกลง ความล้มเหลวเหล่านี้ไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างบ่อน้ำมันที่พีทีทีอีพี เอเอ เป็นผู้กำหนดเองอีกด้วย (Finding 7-12)

รายงานระบุสาเหตุทางตรงที่มีส่วนก่อให้เกิดเหตุระเบิดอีกหลายข้อ ตำหนิหน่วยงานกำกับดูแลของออสเตรเลีย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการขุดเจาะดังกล่าวว่า หละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่จนมีโอกาสน้อยมากที่จะตรวจพบความบกพร่องของบริษัท (Finding 48-50) และระบุว่า พีทีทีอีพี เอเอ มี "ข้อบกพร่องที่สำคัญจำนวนมาก" (Finding 91) ในมาตรการควบคุมบ่อที่ระเบิด ซึ่งสะท้อนความบกพร่องเชิงระบบที่ใหญ่กว่าของบริษัท (Finding 92) บ่อน้ำมันทั้ง 5 บ่อในแหล่งมอนทาราที่บริษัทได้รับสัมปทานล้วนไม่มีกลไกควบคุมที่เหมาะสม และบริษัทไม่เคยแจ้งผู้กำกับดูแลให้ทราบถึงข้อบกพร่องที่ตนล่วงรู้ (Finding 93)

ชัดเจนถึงความประมาทมักง่าย ไร้ความรับผิดชอบ โดยอ่านจากข้อตำหนิต่างๆ จาก ประเทศที่ได้รับผลกระทบ แม้กรณีนี้ คนไทย ไม่ได้การรับรู้ เพราะสื่อมวลชนไทย ปกปิดข่าวกันหมด

นอกจากนี้ การสืบสวนของ พีทีทีอีพี เอเอ เอง ในการหาสาเหตุของเหตุระเบิดก็ "บกพร่องอย่างชัดแจ้ง" (manifestly deficient) (Finding 94) จนถึงระดับที่ "ไร้ความรับผิดชอบและแก้ตัวไม่ได้" (irresponsible and inexcusable) (Finding 95) อีกทั้งยัง "ทำให้ผู้กำกับดูแลเข้าใจผิดอย่างมหันต์" ตลอดระยะเวลา 6 เดือน (Finding 96) และ*** เมื่อบริษัทได้รับข้อมูลที่บ่งชี้ความไม่แข็งแรงของบ่อหลังเกิดเหตุแล้วก็ไม่ได้ส่งข้อมูลนั้นต่อให้กับผู้กำกับดูแล (Finding 97) พฤติกรรมเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัททำตัวแย่มาก *** ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าบริษัทจงใจส่งข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดแก่ผู้กำกับดูแล (Finding 98) ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการยังพบหลักฐานว่าบริษัทพร้อมที่จะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และปิดบังข้อมูลด้วยเหตุผลเดียวกัน (Finding 99)

ข้อค้นพบข้อสุดท้ายของคณะกรรมการสรุปอย่างชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการพีทีทีอีพี เอเอ "โดยมากมีท่าทีต่อล้อต่อเถียงและชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น บริษัทยอมรับลักษณะและขอบเขตข้อบกพร่องของบริษัทก็ต่อเมื่อบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากยอมรับ ทั้งในเชิงปฏิบัติและในทางกฎหมาย" (PTTEPAA largely adopted an argumentative and finger-pointing position. It only acknowledged the nature and extent of its deficiencies when, practically and legally, it could not really do otherwise.)

คณะกรรมการเสนอในรายงานฉบับนี้ให้รัฐบาลออสเตรเลียทบทวนใบอนุญาตประกอบการของพีทีทีอีพี เอเอ ทั้งหมดในออสเตรเลีย รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินงานของสำนักงานกิจการทรัพยากรเขตเหนือ เพื่ออุดช่องโหว่ในการกำกับดูแลซึ่งเป็นสาเหตุทางอ้อมในเหตุการณ์ครั้งนี้

การพิจารณาของรัฐบาลและความคืบหน้าของการทำตามแผนการปรับปรุงแก้ไข (Action Plan) ของบริษัทเป็นประเด็นที่นักลงทุนและทุกฝ่ายต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าแย่มาก คือ วิธีที่ ปตท.สผ. รายงานการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งระบุเพียงข้อความสั้นๆ ว่า

"ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 กระทรวงทรัพยากรและพลังงาน (Minister for Resources and Energy) ของประเทศออสเตรเลียได้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการแล้ว ซึ่งได้มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ...บริษัทขอชี้แจงว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ปตท.สผ. ได้มีการหารือและปรึกษาไปยังรัฐบาลออสเตรเลียรวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำส่งแผนการปรับปรุงแก้ไข (Action Plan) ซึ่งรองรับประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงในรายงานของคณะกรรมการ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยหัวหน้าคณะสอบสวน (Commissioner) เห็นว่าครอบคลุมและมีความสมบูรณ์ โดยขณะนี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินงานตามแผนการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวแล้ว"

การชี้แจงข้างต้นของ ปตท.สผ. ไม่ได้ระบุสาระสำคัญใดๆ ของรายงานเลย สรุปแต่เพียงว่ารายงานนี้ "...มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย" ซึ่งไม่มีทางทำให้นักลงทุนรู้ว่าคณะกรรมการมีข้อค้นพบที่สำคัญอะไรบ้าง ส่วนการแถลงข่าวของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทก็คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้ชี้แจงข้อค้นพบใดๆ ของคณะกรรมการ อธิบายแต่ประเด็นส่วนน้อยที่คณะกรรมการ ชมเชยบริษัท นั่นคือ การที่ Action Plan ครอบคลุมและสมบูรณ์ และการที่บริษัท "ได้เข้าควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ...อพยพพนักงานจำนวน 69 คน ออกจากแท่นเจาะอย่างปลอดภัย"

ผู้เขียนเห็นว่าการรายงานของ ปตท.สผ. ละเมิดประกาศ ตลท. เรื่อง "แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน" ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อ 4.1 ซึ่งระบุว่า เนื้อหาของสารสนเทศจะต้องมีลักษณะ "ไม่ลำเอียงและตรงไปตรงมา ดังนั้น ประกาศต้องหลีกเลี่ยง ...การไม่ประกาศข้อเท็จจริงในทางไม่ดีที่มีความสำคัญ หรือการตัดทอนข้อเท็จจริงนั้น" และเข้าข่าย "การเปิดเผยในเชิงส่งเสริมที่ไม่มีเหตุอันสมควร" ตามข้อ 3.5 โดยเฉพาะ "(4) การแถลงข่าวทางหนังสือพิมพ์หรือประกาศอื่นต่อประชาชน ซึ่งมีลักษณะด้านเดียวหรือไม่เสมอภาคกัน"

ในเมื่อ ตลท. ปล่อยให้ ปตท.สผ. รายงานสารสนเทศด้วยวิธีที่ละเมิดแนวทางปฏิบัติของตัวเองอย่างชัดเจน ส่วนสื่อมวลชนไทยก็ปล่อยให้ข่าวที่ควรจะใหญ่เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างมากก็ทำแค่แปลข่าวเอเอฟพี สัมภาษณ์แต่ผู้บริหารบริษัท หรือที่แย่กว่านั้นคือนำแถลงข่าวของบริษัทมาลงทั้งดุ้น ผู้เขียนก็สงสัยว่า ตลาดทุนไทยแท้จริงแล้วโปร่งใสแค่ไหน และบริษัทที่มีท่าที "ต่อล้อต่อเถียง" และปิดบังข้อมูลสำคัญต่อนักลงทุนจะเป็น "พลังที่ยั่งยืน" ได้จริงหรือ

คำชี้แจงเรื่องเหตุการณ์มอนทารา

กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรียน คุณสฤณี อาชวานันทกุล sarinee@gmail.com

อ้างถึง บทความ ความจริงและความโปร่งใส กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลียคอลัมน์ ทัศนะวิจารณ์ หน้า 15 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2553

บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณคุณสฤณี ที่ให้ความสนใจติดตามข่าวและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากหลุมมอนทาราในประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลของบริษัทในเรื่องนี้ในบทความที่อ้างถึงข้างต้น ทั้งนี้บริษัทขออนุญาตให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่ถูกต้องดังนี้

ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์มอนทารา

เหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลที่หลุม H1 บนแท่นผลิตมอนทารานั้น เป็นเพียงการรั่วไหลที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Uncontrolled release of hydrocarbons) และไม่ได้มีการ ระเบิดดังที่เสนอกันในข่าวทั่วๆ ไปแต่อย่างใด

การสอบสวนของคณะกรรมการ Commission of Inquiry

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่มอนทาราเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ และแก้ไขเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย การตั้ง Montara Commission of Inquiry (CoI) ขึ้นมาก็เพื่อเหตุผลดังกล่าวนี้ นั่นคือเพื่อเรียนรู้ข้อบกพร่องต่างๆ และแนะนำวิธีแก้ไข คณะกรรมการ CoI ได้สอบสวนพยานเป็นจำนวนมากจากทุกๆ บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลาถึง 4 สัปดาห์ โดยบรรยากาศในการสอบสวนเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตลอดเวลา ซึ่งย่อมเป็นเรื่องปกติที่พยานที่ถูกสอบสวนทุกคนจะมีแนวโน้มที่จะให้ข้อมูลและหลักฐานที่จะไม่บ่งชี้ถึงความผิดของตนหรือหน่วยงานของตน เนื่องจากสาเหตุของอุบัติเหตุประเภทนี้จะมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะเกิดได้จากเหตุใดเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว คณะกรรมการจึงต้องใช้ ความเห็นจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังและได้เห็นในระหว่างการสอบสวนในการสรุป Findings ต่างๆ ในรายงาน แต่ความสำคัญของรายงานนี้อยู่ตรงที่คณะกรรมการได้เสนอ ข้อแนะนำ” (Recommendations) จำนวนทั้งสิ้น 105 ข้อจากข้อสรุป (Findings) ทั้งหมด 100 ข้อให้รัฐบาลออสเตรเลียเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ปตท.สผ. และ PTTEPAA ไม่ได้รับโอกาสในการทบทวนหรือเสนอความคิดเห็นต่อข้อสรุปรายงานของคณะกรรมการ CoI นี้ก่อนที่รัฐบาลออสเตรเลียจะนำเสนอสู่สาธารณชนแต่อย่างใด

การตอบสนอง (Responses) ของรัฐบาลออสเตรเลียต่อข้อแนะนำของคณะกรรมการ CoI

รัฐบาลออสเตรเลียโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและพลังงาน (Hon. Martin Ferguson, Minister of Resources and Energy) ได้มีข้อสรุปของการพิจารณาข้อแนะนำ (Responses to Recommendations) ต่างๆ จากรายงานของ CoI และได้นำเสนอให้สาธารณชนในเวลาเดียวกันกับการนำเสนอรายงานของ CoI สู่สาธารณชน ซึ่งในข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องกับ PTTEPAA นั้น มีทั้งหมด 5 เรื่อง (Recommendations 101 - 105) โดยสามเรื่องแรก (Recommendations 101 - 103) เกี่ยวข้องกับการขอให้รัฐบาลทบทวนใบอนุญาตของ PTTEPAA โดยให้พิจารณาทั้งในส่วนของข้อบกพร่องต่างๆ ของบริษัท (adverse findings) และในส่วนของการปฏิบัติตามแผนการปรับปรุงแก้ไขที่ทางบริษัทได้นำเสนอให้แก่คณะกรรมการไปก่อนหน้านี้แล้ว (“In carrying out a review of PTTEPAA’s permit an licence, the Minister should have regard to this Report, particularly (i) the adverse findings set out in this Chapter; and (ii) the extent to which PTTEPAA has implemented the Action Plan submitted to the Inquiry; or otherwise addressed the matters canvassed in the Report.”) ข้อแนะนำเรื่องที่ 105 (Recommendation 105) คณะกรรมการได้เสนอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบหลุมน้ำมันอื่นๆ ที่ PTTEPAA เป็นผู้ดำเนินการว่ามีความสมบูรณ์ปลอดภัยหรือไม่ ส่วนข้อแนะนำที่ 104 นั้นเกี่ยวกับการให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการบังคับให้บริษัททำการสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุได้

รัฐมนตรี Martin Ferguson ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2553 ในเรื่องเกี่ยวกับข้อแนะนำของ CoI ที่เกี่ยวกับ PTTEPAA ข้างต้นดังต่อไปนี้ (Quoted transcript)

“During the Inquiry concerns regarding the state of the five remaining suspended wells in the Montara field were raised. On my instruction, on 9 April 2010, my Department requested the Northern Territory Department of Resources to seek advice from PTTEP AA on the status and integrity of the other suspended wells and information on what remedial action would be taken if required.

PTTEP AA implemented a work program to ensure the integrity of the remaining wells on the Montara Wellhead Platform. AGR, an international company with the requisite expertise, witnessed the satisfactory barrier testing of the wells at the Montara Wellhead Platform. AGR’s verification report has been further assessed by Geoscience Australia and the Northern Territory Department of Resources. Geoscience Australia advises that all possible work to ensure the integrity of the suspended wells at the Montara platform has been undertaken and completed and that the AGR verification report provides appropriate assurance that the barriers are competent.

The Commissioner has recommended that I undertake a review of PTTEP AA’s licence to operate at the Montara oil field. He has further recommended that, as the mechanism for instigating this review, I issue a ‘show cause’ notice to PTTEP AA, pursuant to the cancellation of titles sections of the Offshore Petroleum and Greenhouse Gas Storage Act 2006.

I have accepted the Commissioner’s recommendation to review PTTEP AA’s licence to operate.

However, PTTEP through its Australian subsidiaries (of which PTTEP AA is one) is the operator of seven exploration permits, five production licences and seven retention leases and has interests in a further five exploration permits where it is not the operator. A show cause notice can only be issued where a breach of the Act has been identified, and then only in relation to the Title relevant to that breach. I believe a review of PTTEP AA’s licence to operate which was restricted to its operations in the Montara field would, in these circumstances, be insufficient.

After careful consideration, I directed my Department to instigate an independent review of the Action Plan that PTTEP, the parent company of PTTEP AA, submitted to the Commission of Inquiry. This Action Plan was developed to comprehensively address the technical and governance issues identified by the Commissioner and has application across their entire Australian operations. The independent review commenced on 6 September 2010.

The independent review process will provide me with advice on whether the Action Plan, once implemented, will ensure that PTTEP’s (and its Australian subsidiaries’) operational and procedural measures meet industry best practice standards.

The outcome of this process will assist me in forming a view as to whether the deficiencies in PTTEP AA’s procedures, as identified by the Commissioner, relate only to the Montara oil field or to its, or PTTEP’s, general performance as an operator.

My Department advises me that the final report of the independent review of PTTEP’s Action Plan is due by the end of the year. Upon completion of the independent review my Department will provide me with advice on PTTEP’s capacity to implement the Action Plan. I will make the report public within seven days of receiving this advice.

The outcome of this independent review of PTTEP’s Action Plan will be a central part of my consideration as to whether to issue a ‘show cause’ notice which might lead to cancellation of PTTEP’s petroleum titles.”

จะเห็นว่ารัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความสามารถในการปฏิบัติตามแผนปรับปรุงแก้ไข (Action Plan) ของ PTTEPAA ในการพิจารณาว่าจะทบทวนใบอนุญาตการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ PTTEPAA หรือไม่อย่างไร (Recommendations 101-1103) และจะตัดสินใจดำเนินการต่อไปเมื่อได้รับรายงานจากคณะกรรมการที่ทางรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนเรื่องการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหลุมอื่นๆ นั้น (Recommendation 105) รัฐบาลออสเตรเลียมีความพอใจต่อผลที่ทาง PTTEPAA ได้ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ว่าหลุมอื่นๆ มีความสมบูรณ์และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

การรายงานของ ปตท.สผ. ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เนื่องจากเรื่องสำคัญที่สุดที่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนให้ความสนใจเกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมการ CoI คือเรื่องการพิจารณาทบทวนใบอนุญาตของ PTTEPAA ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของ ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย ดังนั้น ปตท.สผ. จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องนี้แก่ ตลท. เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของนักลงทุนในสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นเพื่อป้องกันการตื่นตระหนก โดยบริษัทไม่ได้มีความตั้งใจปกปิด ข้อเท็จจริงในทางไม่ดีแต่อย่างใด เนื่องจากข้อสรุปและความเห็นที่เกี่ยวกับข้อบกพร่องของการทำงานของ PTTEP ในรายงานของ CoI นั้นได้ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนและนักลงทุนโดยสื่อต่างๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่แทบไม่มีการนำเสนอถึงเรื่องการพิจารณาใบอนุญาตโดยรัฐบาลออสเตรเลีย และการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงของ PTTEPAA ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการพิจารณาแต่อย่างใดเลย ปตท.สผ. เห็นว่าการที่สาธารณชนและนักลงทุนได้รับทราบข้อมูลเพียงด้านเดียวจากสื่อต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมกับบริษัทและผู้ถือหุ้น จึงได้นำเสนอข้อมูลที่สำคัญแต่ไม่ได้รับการพูดถึงแก่ตลาดหลักทรัพย์และสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลและเสมอภาคในการได้รับข่าวสารของสาธารณชนในเรื่องนี้

ปตท.สผ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลและข้อเท็จจริงข้างต้นจะเป็นประโยชน์ในติดตามความคืบหน้า หรือการเขียนบทความในเรื่องเหตุการณ์มอนทาราของคุณสฤณีต่อไป หากคุณสฤณีต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อได้ที่

คุณบุษบรรณ จีนเจริญ ( Bussaban@pttep.com ) โทร. 02-537-4607

คุณต้องจิตร พงศ์อรพินท์ ( Tongchit@pttep.com ) โทร. 02-537-458

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น