โดย ...ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
thaisgwa@gmail.com
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 53 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ตามการชงเรื่องขึ้นมาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีมติเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 53 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นประธานฯ
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คงนำเสนอโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ให้กับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ทราบและพิจารณาว่าควรจะเห็นชอบประเภทโครงการรุนแรงต่าง ๆ ตามที่นายอภิสิทธิ์ เสนอขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 36 คน แต่มีกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เป็นรัฐมนตรีโดยตำแหน่งประมาณ 11 คนนั่งประชุมร่วมอยู่ด้วยคงไม่มีใครกล้าคัดค้าน
โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกอบด้วย
1)การถมทะเลหรือทะเลสาบตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป 2)เหมืองแร่ต่าง ๆ 3)นิคมอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม 4)โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง 5)โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ (ยกเว้นเหล็กและอลูมิเนียม) 6)การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตภาพรังสี 7)โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตราย
8)การก่อสร้าง ขยาย หรือเพิ่มทางวิ่งเครื่องบินความยาว 3,000 เมตรขึ้นไป 9)ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่า 300 เมตรขึ้นไป 10)เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป และ 11)โรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 100 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 150 เมกกะวัตต์ขึ้นไป หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 3,000 เมกกะวัตต์ขึ้นไป
โครงการหรือกิจการดังกล่าวข้างต้นที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ถือได้ว่าเป็นการตบหน้าข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี ฯพณฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานอย่างชัดแจ้ง เปรียบเสมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าไม่มีผิด
เพราะก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมา เพื่อให้ไปแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองให้ลุล่วง โดยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อให้ไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศทั้ง 4-5 ภูมิภาค เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปของเสียงส่วนใหญ่ว่าโครงการหรือกิจการประเภทรุนแรงนั้นควรมีโครงการประเภทใดบ้าง
ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ทำงานตามอำนาจหน้าที่ ต้องเสียเงิน เสียงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนนับ 10 ล้านบาท เสียเวลาไปกับการทุ่งเทการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติที่เห็นพ้องร่วมกันของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
จนในที่สุดคณะอนุกรรมการได้ข้อคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศมามากกว่า 25 โครงการประเภทรุนแรง แต่เมื่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณาเหตุผล ข้อมูลเชิงวิชาการ จากนักวิชาการและนักปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วมีข้อสรุปยุติร่วมกันว่าโครงการที่เข้าข่ายเป็นโครงการประเภทรุนแรงเบื้องต้นน่าจะมี 18 ประเภทโครงการด้วยกัน
คือ 1)การถมทะเลหรือทะเลสาบ นอกชายฝั่งเดิม 2)เหมืองแร่ต่าง ๆ ทุกประเภท 3)นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรม 4)โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นขนาด 100 ตันต่อวันขึ้นไป ขั้นกลางขนาด 700 ตันต่อวันขึ้นไป หรือขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป 5)โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ ทุกขนาด 6)การผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสีทุกขนาด
7)โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด 8)สนามบินหรือการขยายทางวิ่งที่มีความยาว 1,100 เมตรขึ้นไป 9)ท่าเทียบเรือ ที่มีความยาวหน้าท่า 300 เมตรขึ้นไป 10)เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำขนาด 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป หรือพื้นที่กักเก็บตั้งแต่ 15 ตร.กม.ขึ้นไป 11)โรงฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 150 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด
12)โครงการในพื้นที่แหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณสถานโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เจตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13)สิ่งก่อสร้างนอกชายฝั่งเดิมเพื่อกันคลื่นในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาชีพท้องถิ่น 14)เตาเผาขยะติดเชื้อ 15)การชลประทานขนาดพื้นที่รองรับ 80,000 ไร่ขึ้นไป 16)การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำและลุ่มน้ำระหว่างประเทศ 17)สิ่งก่อสร้างกั้นขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลัก 25 ลุ่มน้ำ และ 18)การสูบน้ำเกลือใต้ดินทุกขนาด
จะสังเกตเห็นว่าหลายโครงการหรือกิจการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีตัดโครงการทิ้งไปโดยไม่มีเหตุผล หรือให้เหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ มาอ้างอธิบาย และหลายโครงการก็ได้เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เคยมีโครงการประเภทนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย เช่น การขยายทางวิ่งสนามบินจาก 1,100 เมตร เป็น 3,000 เมตร โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะจากทุกขนาด เป็นตั้งแต่ 5,000 ตันต่อวันขึ้นไป และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจาก 700 เมกกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกกะวัตต์ การถมทะเลทุกขนาด ขยายเป็นตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป เป็นต้น
ที่สำคัญโครงการอื่น ๆ ที่ถูกตัดทิ้งไปนั้นคณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ทางการปกครองเลย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะในอดีต คชก.เคยตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผิดพลาดมาก็มากมาย แต่ไม่เคยมี คชก.คนใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ที่ผิดพลาดเช่นนั้นของตนเองหรือพรรคพวกเลย แต่ ณ วันนี้ คณะรัฐมนตรีกลับยังมอบอำนาจการตัดสินใจว่าโครงการอื่นใดที่รัฐยังไม่ประกาศ ให้เป็นดุลยพินิจของ คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
การที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั่งประชุมกันในห้องสี่เหลี่ยม แล้วทึกทักเอาว่าโครงการไหนบ้างเป็นโครงการรุนแรง โดยไม่ฟังเสียงมติของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 87 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังเสียงของประชาชนแล้ว ย่อมถือได้ว่านายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการไปโดยนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ
ดังนั้น เป็นความชอบธรรมของประชาชนทั่วประเทศและผู้มีส่วนได้เสีย ที่เคยเสียเวลาไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทั้ง 4-5 ภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถใช้สิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ 11 โครงการหรือกิจการที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบไปแล้วนั้น เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น