โซนนิ่งคลังก๊าซเสนอปรับผังเมืองใหม่มาบตาพุด |
2009-07-28
คลอดแผนคุมมลพิษมาบตาพุด ลุยทำเวชระเบียนสุขภาพ 31 ชุมชนเฝ้าระวังโรค ด้านเอ็นจีโอ ทำแผนที่ชุมชนเสี่ยงคลังก๊าซ ปล่องมลพิษ
นายสุรินทร์ สินรัตน์ เลขานุการนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง กล่าว ถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ จ.ระยองว่า หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษครอบคลุมเขตเทศบาล ต.มาบตาพุด ต.เนินพระ ต.มาบข่า ต.ทับมา อ.เมืองระยอง และ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง โดยกำหนดให้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ เสร็จภายใน 120 วันนั้น
ในส่วนของเทศบาลมาบตาพุด ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 7 ชุดโดยมีผู้แทนจาก 31 ชุมชนเขตมาบตาพุด จัดทำแผนและมาตรการด้านคุณภาพน้ำ อากาศ ขยะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเพิ่มด้านสังคม สุขภาพ และผังเมืองเข้าไว้ด้วย เนื่องจากมาบตาพุดค่อนข้างมีปัญหาแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่เคยประกาศเขตควบคุมมลพิษมาแล้ว ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ เตรียมสรุปแผนงานให้ทางเทศบาลภายในปลาย ก.ค.นี้ และเทศบาลมาบตาพุดจะสรุปแผนสุดท้ายเสนอทางจ.ระยอง ในวันที่ 25 ส.ค.นี้
นายสุรินทร์กล่าวว่า สำหรับแผนงานด้านสุขภาพ ได้แก่ การเฝ้าระวังสุขภาพชาวบ้านตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆเช่นอยู่ในทิศทางไหนของลม และใกล้กับแหล่งกำเนิดไหน โดยตั้งเป้าจัดทำระเบียนสุขภาพของชาวบ้านแยกตามโรคต่างๆ อาทิ ภูมิแพ้ ผื่นคัน โรคมะเร็ง ทั้งนี้เพื่อใช้ติดตามประเมินผลในระยะยาว และคงต้องอาศัยทางกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการด้านโรคต่างๆเข้ามาช่วย ส่วนด้านคุณภาพน้ำ ทั้งส่วนการอุปโภค ภาคเกษตร ประมงนั้นก็เป็นงานเร่งด่วนที่ต้องเห็นผลที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะน้ำใต้ดินในครัวเรือนที่ปนเปื้อนนสารอินทรีย์ระเหยง่าย จนนำมาใช้ไม่ได้ และยังขาดระบบประปาที่ยังไปไม่ถึง ตามแผนจะเสนอให้ใช้น้ำหอสูง
จ่ายให้กับชุมชนที่เดือดร้อนไปก่อน
จ่ายให้กับชุมชนที่เดือดร้อนไปก่อน
“เมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับทางโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดย เสนอให้โรงงาน จัดทำบ่อพักน้ำเสียของโรงงานก่อนจะปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะ รวมทั้งจะขอให้ปรับค่าพารามิเตอร์เรื่องงอุณหภูมิ ของน้ำที่จะปล่อยออกมาทิ้ง จากเดิมที่คพ.กำหนดไว้ไม่เกิน 40 องศาฯแต่เทศบาลเห็นว่าเป็นค่าที่สูงเกินไป และเสนอให้ปรับค่าเท่ากับอุณหภูมิน้ำตามธรรมชาติด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าคพ.และโรงงานจะเห็นด้วยหรือไม่ ” นายสุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่าในอนาคตจะเรียกร้องค่าชดเชยให้กับชาวบ้านได้หรือไม่ นายสุริทร์ยอมรับว่าอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะนำเอาความเจ็บป่วย ไปเคลมกับความรับผิดชอบของโรงงาน ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงได้ยาก แต่อย่างน้อยภายใต้แผนปฏิบัติการฯเทศบาลก็อยากเห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาเทศบาลได้รับการร้องเรียนเข้ามามาก กรณีที่ไม่สามารถใช้บัตรเขียวรักษาฟรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้งบกองทุนระยองเข้มแข็ง สมัยปี 2550-2551 ที่เปิดให้คนที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่มาบตาพุดนำบัตรเขียวไปเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลที่กำหนด แต่ปรากฎว่าชาวบ้านนำไปใช้แล้วทางโรงพยาบาลไม่รับรักษา โดยมีสาเหตุจากกองทุนไม่ได้จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาล เพราะเงินในกองทุนหมด ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบปัญหากันอยู่
ทำแผนที่ชุมชนเสี่ยงคลังก๊าซ - เสนอย้ายออก
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับทีมนักวิชาการลงพื้นที่ศึกษาว่ามีชุมชนไหนบ้างที่มีความเสี่ยงกับปัญหามลพิษจากโรงงาน โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยอง อาทิ นิคมมาบตาพุด นิคมเหมราช นิคมตะวันออก นิคมเอเชีย เพื่อจะทำแผนที่ชุมชนว่าอยู่ใกล้คลังก๊าซในรัศมีเท่าไหร่ มีปล่องกี่ปล่อง อยู่ติดโรงงานไหนบ้าง มีความเสี่ยงอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเสนอให้ทำโซนนิ่ง และนำไปใช้กำหนดในผังเมืองมาบตาพุดฉบับใหม่ที่จะหมดอายุในปี 2552 โดยเฉพาะชุมชนหนองแฟบ ถือเป็นหนึ่งในชุมชนที่ถูกล้อมกรอบจากโรงงานจนแทบไม่เหลือความเป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่แล้วนั้น ในอนาคตอาจหากยังไม่ได้รับการเยียวยาและถูกรุกเป็นเขตสีม่วงไปเกือบหมด อาจต้องพิจารณาย้ายชุมชนออกไปอยู่ที่อื่นๆแทน
คลังก๊าซ อยู่ตรงกลางระหว่างชุมชนจำนวนมาก
ภาพโรงกลั่นสิงคโปร์ระเบิด ก.ย.2554
แฉเงินกองทุนถูกถลุงหมด
ด้าน นายสมบัติ เนินจรัญ รองประธานชุมชนบ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวว่า ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดส่งผลให้ชาวบ้านป่วยระบบทางเดินหายใจเรื้อรังมานาน เมื่อปี 2551 ทางนิคมฯได้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต โดยทุ่มงบประมาณกว่า 30 ล้าน เพื่อทำบัตรรักษาพยาบาลฟรีแจกให้กับชาวบ้านในเขต มาบตาพุด โดยมี อดีตประธานชุมชนชาวบ้านหนองแฟบคนเก่า นำบัตรสีเขียวมาใช้ในการหาเสียง เลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ และมาทำบัตรให้ถึงที่บ้าน ชาวบ้านจึงทำไว้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และชาวบ้านไปใช้สิทธิในโรงพยาบาล 3 แห่งที่กำหนดให้เข้าไปรักษาได้ เช่น โรงพยาบาลสิริกิตต์ ก็พบว่าไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ โดยได้รับการชี้แจงจากโรงพยาบาลว่าหมดงบที่ตั้งไว้แล้ว ขณะนี้โรงพยาบาลก็ กำลังฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระอยู่จากคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม บัตรสีเขียวนั้นมีผู้ได้รับเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนิทสนมกับคณะกรรมการชุดนี้ ชาวบ้านจึงไม่ได้สนใจ และหันไปใช้สิทธิบัตรทอง และประกันสังคมแทน แต่ที่ค้างคาใจคืองบ โครงการกว่า 30 ล้านบาทนั้นไม่น่าจะหมดลงภายใน 1 ปี อาจจะหมดเพราะสาเหตุอื่น อย่างเช่นการนำงบประมาณส่วนนั้นไปใช้จ่ายเป็นการส่วนตัว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น