วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สารพัดกรรมการมาบตาพุด
สารพัดกรรมการมาบตาพุด 5 เดือนบนความหวังที่นักลงทุนรอคอย
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4188 ประชาชาติธุรกิจ
การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนินการ 76 โครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง ผลกระทบในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่จะไม่สามารถลงทุนต่อไปได้แล้ว ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะลงทุนในประเทศไทยในอนาคตด้วย นับจากวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับโครงการกระทั่งถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้วที่ความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ประสบผลสำเร็จ มีเพียงแต่คำปราศรัยสร้างความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยาไปวัน ๆ พร้อม ๆ กับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายในขณะที่ปัญหาก็ยังคงวนกลับมาที่เก่า
สารพัดอนุกรรมการ
คณะกรรมการชุดแรกที่เริ่มต้นเข้ามาดูแลปัญหามาบตาพุด ได้แก่ คณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย แก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติแต่งตั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 โดยมอบหมายให้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีตัวแทนจาก 4 ภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหา คือ ภาคราชการ, ภาคเอกชน, ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชน
หน้าที่หลักของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้แก่ การแก้ไขปัญหา "เฉพาะหน้า" กำหนดกรอบการดำเนินการต่าง ๆ ให้โครงการในมาบตาพุดที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับดำเนินการ ให้เดินหน้าต่อได้ตามกรอบกฎหมาย พร้อม ๆ กับกำหนดแนวทางต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 67(2) รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเป็นกรอบสำหรับโครงการลงทุนทั่วประเทศ โดยข้อสรุปของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบออกเป็นระเบียบ-กฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ปรากฏคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ใช้วิธีการทำงานด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการมาร่วมหารือ หาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เบ็ดเสร็จแล้ว มีคณะอนุกรรมการภายใต้ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายถึง 4 ชุดด้วยกัน ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการสำหรับกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพ (HIA) มอบหมายให้นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน
2) คณะอนุกรรมการศึกษาและเติมเต็มทางเทคนิคเพื่อลดและขจัดมลพิษ ในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง มีนายสุทิน อยู่สุข เป็นประธาน 3) คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงรายการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ให้ นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน และ 4) คณะอนุกรรมการจัดการผังเมืองในพื้นที่มาบตาพุด มอบหมายให้นายโกศล ใจรังษี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน
กก.องค์การอิสระ
แปลงร่างจาก กก. 4 ฝ่าย
หลังจากการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายผ่านพ้นไปได้ 2 เดือน ก็ได้ข้อสรุปกระบวนการจัดทำ EIA/HIA สำหรับกิจการรุนแรง กับกรอบของการจัดตั้ง "องค์การอิสระ" เพื่อให้ความเห็นโครงการ ผลสรุปที่ได้ถูกนำเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 19 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระ ขึ้นมา โดยมอบหมายให้ นายอานันท์เป็นประธานอีกเช่นเคย
คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ประสานผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งจัดตั้ง "องค์การอิสระระดับชาติ" ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน โดยองค์ประกอบตัวแทนของคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากชุดของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแทบทั้งหมด โดยการทำงานของคณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของ ผู้สมัครจากองค์กรเอกชนหรือสถาบัน อุดมศึกษา ว่าเหมาะสมที่จะมาเป็นตัวแทนการจัดตั้งองค์การอิสระหรือไม่ ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระจะสิ้นสภาพ เมื่อ พ.ร.บ.องค์การอิสระมีผลบังคับใช้
กระทรวงอุตฯร่วมแจม
ประธาน กก.ประสานช่วยเหลือเอกชน
นอกเหนือจากคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดกรอบการดำเนินการโครงการให้เป็นตามกฎหมายแล้ว ทางด้านเศรษฐกิจการลงทุน คณะรัฐมนตรียังมีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ตั้งคณะกรรมการประสานให้คำปรึกษาภาคเอกชนในการดำเนินการตามมาตรา 67(2) มอบหมายให้นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขให้กับโครงการที่ถูกศาลปกครองระงับ รวมทั้งหาทางช่วยเหลือโครงการที่มีปัญหากับสถาบันการเงินไทยและต่างชาติ
ผลงานล่าสุดของคณะกรรมการชุดนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชนให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ในการขอผ่อนผันเฉพาะการก่อสร้างและหรือทดสอบเครื่องจักรไม่รวมถึงการประกอบกิจการให้แก่ 10 บริษัทจำนวน 12 โครงการ นอกเหนือจากนั้นคณะกรรมการประสานให้คำปรึกษาภาคเอกชน ยังได้กำหนดแนวทางสำหรับ 64 โครงการที่ถูกศาลระงับการดำเนินการไปก่อนหน้านี้ให้มีโอกาสเดินหน้าโครงการต่อได้อีก 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการต้องขอหนังสือยืนยันจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า เป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 เช่นโครงการที่มีการซื้อพื้นที่เพิ่ม ไม่จำเป็นต้องทำ EIA ใหม่ เนื่องจาก EIA ฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลบังคับใช้นั้นได้ครอบคลุมการก่อสร้างและผลิตของโครงการอยู่แล้ว
กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการต้องขอหนังสือยันยืนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ก่อนรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้ และกรณีที่ 3 ต้องยื่นขอผ่อนผันต่อศาลโดยใช้เหตุผลเทียบเคียงกับ 11 โครงการที่ศาลปกครองสูงสุดวางกรอบไว้ เป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่ไม่น่าก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง กรณีนี้มีเข้าข่ายอยู่ 9 โครงการ ซึ่งอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปและมอบหมายให้อัยการสูงสุดเป็นตัวแทนยื่นต่อศาลปกครองพิจารณาต่อไป
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า เวลา 5 เดือนในการแก้ปัญหามาบตาพุด ล้วนหมดไปกับการ ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คณะอนุกรรมการ 5 ชุด เพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับภาคเอกชน มีการใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่ได้รับภาคเอกชนกลับขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐบาล แม้กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ยังดำเนินการไปคนละทิศคนละทาง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหามาบตาพุด ไม่ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น