วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ก๊าซรั่ว ซ้ำซาก กลิ่นไม่ทันจาง จากแหลมฉบัง รั่วโชว์ กก.4 ฝ่าย มาดูปัญหามาบตาพุด

ก๊าซรั่ว! มาบตาพุด เจ็บกว่า 20 ราย - ตร.เตรียมเอาผิด บ.เอกชน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2552 14:58 น.

ระยอง - เกิดก๊าซรั่วจากเรือขนส่งสินค้า บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ตั้งแต่บ่ายวันที่ 5 ธ.ค. ล่าสุดวันนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แสบตา ตาพร่า จนท.จึงนำส่งรพ.เพิ่มอีก 5 ราย บริษัทเอกชนปิดปากเงียบ ยันไม่มีผู้บาดเจ็บ ด้าน ตร.เตรียมรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีตาม กม. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดก๊าซรั่วจากเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (5 ธ.ค.) ล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ได้รับผลกระทบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีอาการแสบตา ตาพร่า เจ้าหน้าที่จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก 5 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 15.00 วานนี้ โดยเรือลำเกิดเหตุได้เคลื่อนเข้าจอดเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้า แต่ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ เกิดเหตุก๊าซหุงต้มในเรือรั่วออกมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณตะกั่วอ่าวประดู่ และคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นได้สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 ราย ทั้งนี้ จากการสอบถาม พ.ต.ท. เวียง วงศ์เพียร รองผู้กำกับการ สภ.มาบตาพุด เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามไปยังเจ้าของบริษัทและเรือลำเกิดเหตุ ถึงยอดผู้บาดเจ็บ แต่บริษัทกลับให้การกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้บาดเจ็บ จนกระทั่งโรงพยาบาลกรุงเทพ-ระยอง แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ล่าสุด นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง เปิดเผยถึงความคืบหน้า ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีประชาชนและคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ชิด จึงได้รับบาดเจ็บด้วยอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก แสบตา และตาพร่า ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลกรุงเทพฯ-ระยอง ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุ รวม 20 ราย ล่าสุดวันนี้ แพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 15 ราย ส่วนอีก 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และผู้สูงอายุ แพทย์ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อรอดูอาการอีกระยะ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามอาการผู้ป่วยทั้ง 15 ราย อีกประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้เข้าไปตรวจวัดระดับก๊าซในอากาศ บริเวณที่เกิดเหตุแล้ว โดยไม่พบมีกลิ่นก๊าซตกค้าง ส่วนสาเหตุการเกิดก๊าซรั่วไหลครั้งนี้ สำนักงานท่าเรือจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่า กรณีปัญหาเซฟตี้วาล์วรั่วนั้น เกิดจากความบกพร่องของคนงาน หรือจากสาเหตุใด

ไฟลุกไหม้ถังเก็บสารเคมี 10 ใบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม “เจนโก้‏” โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ธันวาคม 2552 10:24 น. ระยอง - ไฟไหม้ถัง 200 ลิตร เก็บเศษกาวปนกับสารตัวทำละลายเกิดปฏิกิริยาเกิดไฟลุกไหม้หมดรวม 10 ถัง เมื่อเวลา 20.30 น.คืนที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ คดีธรรม สารวัตรเวร สภ.ห้วยโป่ง จ.ระยอง รับแจ้งมีเหตุเพลิงไหม้ภายในบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเจนโก้ เลขที่ 5 ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง เป็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม พร้อมแจ้งรถดับเพลิงเทศบาลเมืองมาบตาพุดมาที่เกิดเหตุจำนวน 3 คันมาสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลาม ใช้เวลาเพียง 10 กว่านาทีก็สามารถดับเพลิงได้ หลังเกิดเหตุ นายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผอ.สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมด้วยนายวีระศักดิ์ เพิ่มแพงพันธ์ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออกเดินทางมาดูที่เกิดเหตุ นายสมบัติ ปิยะสัจบูรณ์ ผจก.โรงงานเจนโก้ พาสื่อมวลชนเข้าไปดูจุดเกิดเหตุ พบถังขนาด 200 ลิตร จำนวน 10 ใบ บรรจุขยะเศษกาวและสารตัวทำละลายปนกันอยู่ โดยไม่ทราบสาเหตุได้เกิดเพลิงลุกไหม้ ไฟลุกไหม้ขยะกาวและสารตัวทำละลายทั้ง 10 ใบจนหมด เจ้าหน้าที่ได้ใส่น้ำเต็มถังไว้ โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด นายสมบัติกล่าวว่า ทางโรงงานหยุดรับบำบัดขยะกากอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าขยะที่รอการบำบัดในโรงงานจะกำจัดหมดเรียบร้อยไม่เกินวันที่ 20 ธันวาคมนี้ แล้วโรงงานก็ปิดดำเนินการ สาเหตุน่าจะเกิดจากเศษกาวทำปฏิกิริยากับสารตัวทำละลาย จึงเกิดเพลิงลุกไหม้ กลิ่นเหม็น-ขยะกองโตฟ้อง “อานันท์” คาตาขณะลงมาบตาพุด โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2552 16:24 น. คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ระยอง - “อานันท์" ลงพื้นที่มาบตาพุด พบขยะและกลิ่นเหม็นของสารเคมีด้วยตัวเอง พร้อมติงหน่วยงานรัฐ ไม่ดูแลเท่าที่ควร ชี้ด้านผู้ประกอบการและนักลงทุนขาดจิตสำนึก ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น ส่วนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนฝากคณะ 4 ฝ่ายแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรม วันนี้ (6 ธ.ค.) นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และคณะกรรมการฯประกอบด้วย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กรุงเทพมหานคร นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการภาคประชาชน เดินทางไปรับฟังปัญหาในพื้นที่ โรงเรียนบ้านหนองแฟบ เทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยมีนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, นายวิรัต รัตนวิจิตร นายอำเภอเมืองระยอง, นายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนและชาวบ้านกว่า 200 คน ที่จะนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาชี้แจงให้คณะกรรมการได้รับทราบถึงปัญหา ก่อนที่จะมีการพูดคุยและรับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชนหนองแฟบและพื้นที่ใกล้เคียงนั้น นายอานันท์ได้กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อลงมาดูสภาพพื้นที่และปัญหาที่แท้จริง และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นการมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงต้องมารับฟังความเห็นของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการไม่ได้เป็นผู้ตัดสินและชี้ขาดในปัญหาต่างๆ เพียงแต่นำข้อมูลต่างๆ มาไตร่ตรอง หลังจากนั้นจะนำข้อมูลเสนอรัฐบาล “คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ทางคณะมีหน้าที่ดำเนินการ เพื่อจะไปวิเคราะห์และแนะนำรัฐบาลว่าควรจะมีการปฏิบัติการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ขั้นตอนการดำเนินการ การสร้างกลไก เรื่ององค์กรอิสระรับฟังความเห็น หรือขบวนการในการจัดทำศึกษาและประเมินผลกระทบที่ร้ายแรงของอุตสาหกรรม” นายอานันท์กล่าว นายอานันท์กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ 2 สิ่งที่ตนสังเกตุและการสัมผัสได้ ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังอย่างเดียว เช่น เมื่อคืนวันที่ 5 ธันวาคม เวลาประมาณ 23.30 น.ที่โรงแรมภูริมาศ ซึ่งเป็นโรงแรมที่คณะกรรมการพักค้างคืน ตนได้เดินออกมานอกโรงแรม ได้กลิ่นเหม็นไข่เน่า มาเป็นระยะ ๆ แต่ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน และจากโรงงานใด นอกจากนั้นในช่วงเช้านี้ (6 ธ.ค.) ที่จะเดินทางมารับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชนที่โรงเรียนบ้านหนองแฟบ ได้พบเห็นมะพร้าวยอดไม่สวยงาม, ใบแห้งเหี่ยว และยังได้กลิ่นเหม็นอีกเช่นกัน แต่ไม่ใช่กลิ่นไข่เน่า เหมือนเมื่อคืนที่โรงแรม แต่อาจจะเป็นกลิ่นเหม็นของมูลไก่หรือมันสำปะหลังก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบควรที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบติดตามว่าเกิดจากอะไร “ผมเป็นห่วงมาก คือ ระบบราชการ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดูแลสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน โดยควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบแล้วว่ากลิ่นต่างๆนั้นมาจากไหน หรือโรงงานใด ซึ่งควรจะต้องเข้าไปจัดการทันที โดยไม่ต้องรอรัฐบาลสั่งการลงมานอกจากนั้นที่บริเวณชายหาดน้ำริน อ.บ้านฉาง คณะของคณะกรรมการฯเดินออกกำลังกายบริเวณชายหาด ได้พบกองขยะกองใหญ่มาก ดังนั้นจึงมองว่า เรื่องมลภาวะไม่ได้เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว หน่วยงานในพื้นที่ เช่น เทศบาล ต้องเข้ามาดูแลด้วย ซึ่งปัญหาต่างๆเป็นปัญหาของสังคมที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไข” ตัวแทนชุมชนมาบตาพุด เสนอปัญหา คณะกรรมการฯ นายธนะรัช พรหมมานนท์ ประธานชุมชนเนินพะยอม กล่าวว่า ปัญหามลพิษเป็นเรื่องละเลยของรัฐบาลและทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในความเป็นจริงปัญหาน่าจะคลี่คลายได้แต่เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย จึงไม่มีการสานต่อ ที่ผ่านมาคนมาบตาพุดไม่มีน้ำประปาใช้ทั้งที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมมีความเจริญเติบโตรวดเร็วมาก แต่ประชาชนอยู่กันด้วยความลำบาก นอกจากนี้ ไฟฟ้าก็ตกบ่อยครั้ง หรือเพราะว่าระยองไม่มี ส.ส.เป็นรัฐมนตรี พวกเรา อยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปพร้อมๆ กันกับการดูแลประชาชน เพราะคนมาบตาพุดเสียสละกันมามากพอแล้ว ด้าน นางนิตยา แสงศิริ ประธานชุมชนห้วยโป่งใน-สะพานน้ำท่วม กล่าวว่า ต้องการให้มีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม มีการดูแลเรื่องสวัสดิการของชาวบ้านที่ดีกว่านี้ เพราะที่ผ่านมามีกองทุนเป็นตัวเงินลงมาในพื้นที่ก็มีปัญหาแตกแยกเกิดขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เงินกองทุนโดยเฉพาะด้านสวัสดิการตกถึงมือชาวบ้านโดยตรง ซึ่งเป็นความหวังของชาวบ้าน ไม่ใช่มองแต่เรื่องของผลประโยชน์ ด้านธุรกิจการอย่างเดียว นอกจากนั้น โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมฯ ที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดรั้วโรงงานอยู่ติดกับบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดูแลก็มีงานมาก เมื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทราบ แต่กว่าจะมาดูแลก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว ดังนั้น ควรจะต้องมีมาตรการในการดูแลส่วนนี้ด้วย โดยชาวบ้านไม่ได้คัดค้านไม่ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรดูแลให้ดีด้วย ด้าน นายรัชชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนา กล่าวว่าเมื่อเย็นวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์แก๊สรั่วบริเวณ มาบตาพุดแท็งก์ มีชาวประมงอ่าวประดู่ได้รับผลกระทบกลิ่นเหม็นต้องหามส่งโรงพยาบาล ล่าสุดอาการยังไม่ดีขึ้น ส่วนชุมชนซอยร่วมพัฒนา อยู่ใกล้โรงกลั่นน้ำมัน sprc มีเพียงถนนกั้นเท่านั้น ซึ่งพวกเรามองว่าแนวกันชนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม น้อยเกินไป ฝากให้ช่วยดำเนินการเรื่องแนวกันชนให้มากขึ้น นอกจากนั้น ในการพัฒนากรณีผังเมือง มีการแก้ไขสีผังเมืองมาโดยตลอด เช่น จากสีเขียวและเหลือง ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นสีม่วง ปัญหาจึงส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะโรงงานเข้ามาก่อสร้างในเขตชุมชน นายน้อย ใจตั้ง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบฯ กล่าวว่า ปัญหาคนในพื้นที่มาบตาพุด ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด โดยมีการเวนคืนที่ดินอย่างต่อเนื่อง เช่น พื้นที่วัด ,พื้นที่ป่าช้า ก็ถูกเวนคืน ซึ่งไม่ทราบว่าจะไปอยู่ที่ไหนกันแล้ว ดังนั้นขอให้หน่วยงานหรือคณะของท่าน เข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง โดยไม่ใช่แต่เพียงจะมุ่งสร้างแต่โรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ดูปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเลย เช่น โรงพยาบาลและแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย มีน้อยมากไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีเพียงไม่กี่หมื่นคน แต่ประชากรแฝง มีสูงถึง 2-3 เท่า จึงมีการดูแลผู้ป่วยได้ไม่ทั่วถึง ด้าน นายเจริญ เดชคุ้ม กล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดนั้น สร้างความเจริญและเศรษฐกิจดี แต่ได้เฉพาะคนมีธุรกิจหรือมีเงินเท่านั้น โดยคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์ในการเข้ามาลงทุนซักเท่าไร นอกจากนั้น คนที่เข้ามาทำงานหรือเข้ามาลงทุนก็เป็นคนจากทีอื่นและเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่อื่นแทบทั้งสิ้น ดังนั้นโครงการที่จะมาลงใหม่ก็ควรจะไปลงทุนที่จังหวัดอื่นแทน และอย่างมาลงทุนที่มาบตาพุดหรือจังหวัดระยองอีกเลย เพราะปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นชาวระยองได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เช่น ชายหาดที่สวยงามหายไป, ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมหายไป จึงไม่ควรให้มีการก่อสร้างอีกต่อไป นางณัฐธยา ศิริสุข ชุมชนบ้านฉาง กล่าวว่า ประชาชนในอำเภอบ้านฉาง ก็ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากนิคมฯเอเชีย และโรงงานฯ อินโดราม่า ซึ่งได้รับกลิ่นเหม็นมาโดยตลอดและส่งผลกระทบ ทำให้ประชาชนและเด็กเจ็บป่วย แต่ที่ผ่านมาทางโรงงานก็มีการแก้ไข แต่ก็ไม่เป็นไปตาม EIA. เพราะการทำ EIA.ในเบื้องต้นก็ไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ปัญหาต่างๆ จึงไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณบ้านฉางก็มีการเปลี่ยนสีของผังเมือง จากพื้นที่สีเขียวก็เป็นสีม่วง ประมาณ 400 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับบ้านเรือนของประชาชน และในอนาคตจะมีโรงงานเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อโรงงานดังกล่าวเกิดขึ้นชาวบ้านคงจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะรั้วโรงงานจะอยู่ติดกับรั้วชาวบ้านเลย นายวิรัตน์ มีทรัพย์สุข ตัวแทนชาวบ้านจากแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง กล่าวว่า ชาวบ้านอำเภอปลวงแดง หวั่นปัญหาจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะบริเวณดังกล่าว มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ,อ่างเก็บน้ำดอกกราย หากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ ปัญหาก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงฝากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยหากมีโรงงานเกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เกิดผลกระทบเพียงจังหวัดระยองเท่านั้น จังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงก็ต้องได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวด้วย หลังที่รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนชาวบ้านจากหลายหลายพื้นที่ นายอานันท์ได้กล่าวสรุปว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการฯเป็นอย่างมาก โดยตัวแทนชาวบ้านได้ออกมาแสดงอย่างเปิดเผยและมองเห็นภาพต่างๆที่ได้รับฟัง แต่ปัญหาต่างๆ นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่จะเข้าไปดูแล แต่อย่างไรก็ตามในคณะนี้ มีฝ่ายรัฐบาลคือ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ รองนายกรัฐมนตรี มีฝ่ายประชาชน, ฝ่ายนักวิชาการอิสระ โดยหลังจากนี้ทางคณะกรรมการก็จะมาพูดคุยกัน เพื่อหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อเป็นบทสรุปร่วมกัน เสนอรัฐบาลต่อไป ก๊าซรั่วรับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายบาดเจ็บเพียบ หลังจากนั้นในช่วงเวลา 10.00 น. ทางคณะ 4 ฝ่าย ได้เดินทางไปยังการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อไปรับฟังการบรรยายสรุป โดยมี ดร.วีระพงษ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้น ทางคณะกรรมการและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ซักถาม แผนงานต่างๆที่การนิคมฯ โดยเฉพาะกรณีที่มีสารรั่วไหล ที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) มีการวางแผนงานในเรื่องนี้อย่างไร ดร.วีระพงษ์ ชี้แจงว่า สารที่รั่วไหล คือ ก๊าซบิวเทนวัน (ก๊าซหุงต้ม) เนื่องจากเรือที่มารับสินค้าบริเวณเซฟตี้วาล์ว ชำรุด ทำให้ก๊าซรั่วและฟุ้งกระจายเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้ประชาชนบริเวณอ่าวประดู่ได้รับผลกระทบและนำตัวส่งโรงพยาบาล จำนวน 17 ราย และสามารถกลับบ้านได้ 12 ราย มีเพียง 5 คน ที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งทางการนิคมฯและบริษัทฯได้เข้าไปดูแลและช่วยเหลือแล้ว นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวถึงปัญหาก๊าซรั่วไหล ทางการนิคมฯ ไม่แจ้งหรือประกาศให้ประชาชนหรือหน่วยงานใดได้รับทราบเรื่องเลย โดยเฉพาะแพทย์ไม่ทราบเรื่องเลย เพราะหากทราบเรื่องอาจจะเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะเรื่องเกิดขึ้นประมาณ 13.00 น. แต่หน่วยงานต่างๆหรือรัฐบาล ทราบเรื่องเกือบ 1 ทุ่ม หากเป็นสารเคมีที่รุนแรงกว่านี้จะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ด้าน นายอานันท์กล่าวเสริมว่า ปัญหาดังกล่าว ตนเป็นห่วงมาก เพราะหากเกิดขึ้นแล้วและยังปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆที่ล่าช้าและไม่ทันท่วงที แล้วประชาชนจะไว้ใจการนิคมฯได้อย่างไร ดังนั้น หน่วยงานจะต้องแก้ภาพลักษณ์เหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้ไว้วางใจ หากจะมีโรงงานเกิดขึ้น หากเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนจะไว้วางใจได้อย่างไรหากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งปัญหาต่างๆ ตนเป็นห่วงศักยภาพในการรองรับไม่มีการวางแผนในการรองรับแต่อย่างไรเลย หลังได้ฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจง ด้าน นายสุทธิ อัชฌาศัย หนึ่งในคณะกรรมการภาคประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการของการนิคมแห่งประเทศไทยนั้น มีบทบาทหน้าที่ยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เพราะมี 2 บทบาทในองค์กรเดียวกัน คือ 1.เชิญนักลงทุนมาลงทุน และ 2.เป็นผู้ควบคุมโรงงานด้วย เพราะ 2 บทบาทนี้ไม่สามารถทำได้เลย นอกจากนั้นมีการเรียกร้องข้อมูลต่างๆ จากการนิคมฯ เช่น ปัญหาเกิดกลิ่นเหม็นหรือมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมรั่วไหลออกมา โดยไม่สามารถทราบได้เลยว่ามาจากโรงงานไหน ปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ เพราะเรียกร้องมานานให้นำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ประชาชนหรือองค์กรต่างๆ ได้รับทราบ เพื่อร่วมกันวางแนวทารงในการแก้ไข แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น