วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปลือย 13 อรหันต์“มาบตาพุด”อุ้มโรงงาน-แจกมรณะบัตรชุมชน!?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์16 พฤษภาคม 2554 11:33 น.

หลังรัฐบาล “มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ใช้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี คลี่คลายปัญหา 76 โครงการยักษ์ในมาบตาพุด ที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับ จนคลี่คลายความร้อนแรงลง พร้อม ๆ กับการนำเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรค 2 มาเป็นแนวปฏิบัติ ตามที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” และนำมาซึ่งการจรดปากกาลงนามจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยมีนายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ผู้แทนจากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เป็นประธานกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ค่าตอบแทนคนละ 45,000 บาท พร้อมยังให้มีผู้ช่วยอีก 13 คน ได้ค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาท เป็น 13 อรหันต์ทองคำ ที่ได้รับการคาดหวังว่า จะทำหน้าที่เป็น “ผนังเหล็ก กำแพงทองแดง” ให้แก่ชุมชนมาบตาพุด ทำให้พวกเขาอยู่ใต้ปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รัฐไทยทุกยุคทุกสมัย ใช้เป็นเครื่องมือปั้นตัวเลข GDP ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด ที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ไขปัญหาสารพัดวิธี รวมทั้งการตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมากำกับดูแล แต่พบว่า ไม่ทำให้ชีวิตของผู้คนที่นี่อยู่ได้อย่างปกติสุข








ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง แม้จะมีรายงานว่าผลผลิตมวลรวมต่อหัวของชาวระยอง สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่รายงาน UNDP พ.ศ.2550 กลับระบุว่า รายได้ของชาวระยองแท้จริงอยู่ในระดับปานกลาง ครอบครัวและชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมีศักยภาพต่ำ ภาษีที่กลับคืนสู่สังคมในจังหวัดระยอง น้อยมาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากที่เปิดทำการอยู่ในพื้นที่ระยอง จดทะเบียนที่กรุงเทพฯ และบางส่วนได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากจาก BOI ทำให้ภาษีกลับคืนสู่ระยอง มีไม่ถึง 1% ที่จะนำมาลงทุนในด้านสังคมให้ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่า “องค์การอิสระฯ” ที่ตั้งขึ้นมานั้นกำลังทำให้กับคนมาบตาพุด ต้องหวนกลับไปผจญกับปัญหามลภาวะ ผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพของชุมชน เหมือนกับที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก เพราะเกือบ 1 ปี ที่องค์การอิสระฯแห่งความคาดหวังก่อกำเนิดขึ้น มาถึงวันนี้...13 อรหันต์ทองคำแห่งมาบตาพุด กำลังถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการทำงาน มาตรฐานในความเป็นมืออาชีพ ฯลฯ โดยเฉพาะ“โครงการเอทธิลีน ไกลคอน” ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด ที่ได้รับตราประทับรับรองจากองค์การอิสระฯ ผ่านไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังถูกมองด้วยความเคลือบแคลงจากคนมาบตาพุด รวมทั้งคนระยองทั้งจังหวัด ตลอดจนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ว่า “องค์การอิสระฯ ที่เชื่อว่า จะเป็นอรหันต์ทองคำให้คนมาบตาพุด ให้การรับรองโครงการนี้แบบค้านสายตาสุดขั้ว” ความเป็นจริงแล้วองค์การอิสระฯ ควรจะต้องออกไปหาข้อมูลรายละเอียดโครงการ และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหาข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากทุกภาคส่วน และจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ ในการให้ความเห็นก่อนที่โครงการจะถูกส่งเข้ามา และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกความเห็นนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ ที่สำคัญองค์การอิสระฯเกิดขึ้นได้ เพราะเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและชาวมาบตาพุด ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถ้าไม่ทำหน้าที่คุ้มครองปกป้องเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิของชาวมาบตาพุด ก็สมควรลาออกทั้งชุด “ทุกวันนี้ องค์การอิสระฯแห่งนี้ มุ่งแต่จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการต่าง ๆ แทนตัวเอง และเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทบให้อนุกรรมการเป็นรายเดือนเหมือนกับตัวเองอีก และที่ผ่านมาพวกเขาก็ไม่เคยลงพื้นที่และสัมผัสกับประชาชนในมาบตาพุดอย่างจริงจังเลย” นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก บอกกับ “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์”




 ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่า คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ยังใช้ช่องทางตั้งผู้ช่วยขึ้นมารับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน โดยบางคนแทบไม่เคยมีใครเห็นหน้าค่าตา ไม่เคยย่างกรายเข้ามาทำงานในสำนักงาน ไม่เคยมีประวัติที่ตรวจสอบได้ถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมใด ๆ หรือไม่มีความรู้เรื่อง ขีดความสามารถในการรองเรื่องสิ่งแวดล้อม(Carrying Capacity) ที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชนหรือไม่ “ผู้ช่วยคณะกรรมการฯ กลายเป็นคณะผู้ติดตามไปหมด เราจึงอยากให้ สตง.เข้ามาสอบสวนด้วย” นายสุทธิ ย้ำ แต่องค์การอิสระฯดังกล่าว กลับสามารถให้การรับรองโครงการ หรือให้ใบเบิกทางในการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนมาบตาพุด และเป็นใบเบิกทางให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในมาบตาพุด ล่าสุดเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง ... คราวนี้พวกเขามุ่งเป้าเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง “รื้อ” องค์การอิสระ (ชั่วคราว) แห่งนี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะตั้งโต๊ะแจกจ่ายใบประทับรับรองคุณภาพให้อุตสาหกรรมอันตราย ที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น “ใบมรณะบัตร” สำหรับชุมชนมาบตาพุดในอนาคต
ความล้มเหลวในการทำงานขององค์กรอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หลังทำงานเกือบปี ไม่เห็นผลงาน ส่งผลให้คนระยองเตรียมตัวเคลื่อนไหวล้มเลิกประกาศจัดตั้งองค์กรดังกล่าวในเร็วๆนี้ ตามที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2553 เรื่องการประกาศการจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ค่าตอบแทนคนละ 45,000 บาท พร้อมยังให้มีผู้ช่วยอีก 13 คน ได้ค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาท โดยกำหนดให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) จนกระทั่งปัจจุบันเวลาผ่านไป 10 เดือนแล้ว ผลงานขององค์การอิสระฯเป็นอย่างไรบ้าง ทำงานคุ้มค่าตอบแทนและเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนหรือไม่อย่างไร นายสนธิ คชวัฒน์ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และเลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยได้ เผยว่า ประชาชนคาดหวังว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฯ จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากทุกด้าน เพื่อให้หน่วยงานรัฐพิจารณาในการอนุมัติอนุญาต หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อให้โครงการต่างๆ ได้รับทราบข้อมูลจากองค์ที่เป็นกลาง ทั้งนี้ เพื่อสามารถที่จะประมวลความคิดเห็นได้อย่างรอบด้านและเสนอข้อคิดเห็นต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องมิราเคิลแกรนด์เอบี ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ต้องทำหน้าที่ในการรักษาความเชื่อถือจากทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึงการทำงานอย่างเที่ยงตรง และเที่ยงธรรม โดยยึดหลักข้อมูลทางวิชาการที่แม่นยำ ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายราชการ หน่วยงานภาคเอกชนตลอดจนประชาชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการทำงานขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ผ่าน มากว่า 10 เดือน มีความเห็นว่า 1.ยังไม่เห็นการทำงานที่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านวิชาการและด้านการปฎิบัติ เพื่อตอบโจทย์ของประชาชนตามที่ประชาชนคาดหวัง รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการที่จะให้ความเห็นต่อโครงการที่อาจจะรุนแรง ปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คือ โครงการเอทธิลีน ไกลคอน ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด และได้ส่งให้องค์การอิสระพิจารณาให้ความเห็นแล้ว แท้จริงแล้วองค์การอิสระฯควรจะต้องออกไปหาข้อมูลรายละเอียดโครงการ และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหาข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากทุกภาคส่วน และจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ ในการให้ความเห็นก่อนที่โครงการจะถูกส่งเข้ามา ไม่ใช่รอรายงานฯที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาแล้วมาพิจารณาซ้ำซ้อนอีกที ทุกวันนี้องค์การอิสระมุ่งแต่จะแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการแทนตัวอง และพยายามเรียกร้องให้อนุกรรมการมีเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือนเช่นตนอีก ซึ่งเป็นคำถามที่ตามมาจากประชาชนคือกรรมการชุดนี้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตต่อโครงการประเภทปิโตรเคมีหรือไม่ มีความรู้เรื่อง Carrying Capacity รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากเวลา 10 เดือนที่ผ่านยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งไม่เคยลงพื้นที่และสัมผัสประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างจริงจังเลย 2.จากการหารือกับประชาชนภาคตะวันออก และกลุ่มนักวิชาการ ไม่มีกลุ่มใดเลยที่ให้ความเชื่อมั่นในด้านวิชาการต่อคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านไม่เคยแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ ที่จะให้ความเห็นทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่กลับมีข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องผลประโยชน์ค่าตอบแทนมาตลอด รวมทั้งข่าวการทะเลาะกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องอย่าลืมว่าองค์การอิสระ (ชั่วคราว)ต้องตั้งงบประมาณและขออนุมัติงบประมาณ ผ่านกรมส่งเสริมคุณภาพส่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งคิดว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินควรเข้ามาทำการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวด้วย 3.ความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการอิสระบางท่านแต่งตั้งผู้ช่วย โดยไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง ตั้งขึ้นมาเพื่อมารับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน บางคนเจ้าหน้าที่ไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วตามเจตนารมณ์ของการตั้งผู้ช่วยมาช่วยกรรมการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของกรรมการ โดยต้องนั่งทำงานประจำที่สำนักงาน เนื่องจากรับเงินจากราชการเหมือนพนักงานประจำ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการได้เลือกผู้ช่วยมาเอง และให้ติดตามตนเองไม่ต้องเข้ามาทำงานก็ได้ ทำตัวเหมือนเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ในรัฐสภา ผู้ช่วยบางท่านทำงานประจำอยู่แล้วเช่น เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย บางคนเป็นพนักงานราชการ ไม่เคยเข้ามาที่สำนักงานฯเลย ซึ่งเรื่องนี้ขอเรียกร้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาทำการสอบสวนด้วย 4.ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีความอึดอัดใจต่อการทำงานขององค์การอิสระฯชุดนี้ และไม่มีความมั่นใจต่อพฤติกรรมที่ผ่านมาของกรรมการบางคน ดังนั้น จึงมีความคาดหวังให้มีการปฏิรูปองค์การอิสระฯชุดนี้โดยด่วน เพื่อให้เป็นองค์การที่ประชาชนเชื่อมั่นและหวังเป็นที่พึ่งได้ต่อไป 5.ในการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาอยู่นั้น จะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความคาดหวังของรัฐธรรมนูญ ทั้งในเรื่องที่มาและกระบวนการคัดเลือกกรรมการ โดยต้องพิจารณาประวัติการทำงาน วิสัยทัศน์ การยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม ตลอดจนต้องสามารถถอดถอนได้ โดยต้องนำบทเรียนจากการตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้เป็นแนวทางในการออกพระราชบัญญัตต่อไป ด้าน นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยว่า คนระยองมีมีความเห็นว่าการทำงานขององค์กรอิสระฯ ชุดนี้ไม่มีความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน และไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ ซึ่งในความเป็นจริงองค์อิสระชุดนี้จะต้องเข้ามาทำงานตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น ในเรื่องของการเปิดกว้างเกี่ยวกับการให้ความรู้กับประชาชน รวมไปถึงการให้ข้อมูลต่างๆ ในเชิงวิชาการ แต่ปัจจุบัน องค์กรอิสระบางคน ทำตัวไม่โปร่งใส ปิดบังข้อมูล ฉกฉวยผลประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งมีบางคนที่ เคยเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนนั้นก็จะมีการเอื้อผลประโยชน์ให้กัน เรื่องนี้คนระยอง รู้สึกรับไม่ได้ แต่จะให้โอกาสในการทำงานต่ออีกระยะหนึ่ง หากยังไม่มีผลงานหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ พวกเราจะมีการเคลื่อนไหว โดยการรวมตัวของระยอง และประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนขอให้ล้มเลิกประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เรื่องการประกาศการจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น