วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชุมชนรอบมาบตาพุดหวั่น รง.เก็บสารเคมีระเบิดหาก พนง.ทิ้งงานหลังค้างจ่ายเงินเดือน

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชุมชนมาบตาพุด ผวาโรงงาน”เอเพ็คปิโตรเคมิคอล”ซึ่งผลิตพีวีซีผงโดยใช้สารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM) เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาจเกิดการระเบิด หลังโรงงานขาดสภาพคล่องจนค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 70 คน และค้างจ่ายค่าน้ำ-ไฟ จนต้องใช้เครื่องปั่นไฟรักษาอุณหภูมิในการเก็บสารเคมี ชี้หากพนักงานผละงานจนไม่มีผู้ดูแลเครื่องจักรอาจเกิดปัญหาไฟฟ้า หรือระเบิดได้ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สั่งตั้งคณะทำงานติดตามปัญหาพร้อมเอาผิดนายจ้าง สร้างความมั่นใจชุมชุนรอบโรงงาน

เมื่อเวลา 10.00น.วันนี้ (24 มิถุนายน) นายศักดิ์ชาย เชิดสุขอนันต์ ประธานคณะกรรมการชุมชนบ้านพลา นายจำลอง ผ่องสุวรณ ประธานคณะกรรมการชุมชนมาบยา และนายสุชาติ กอเซ็ม ประธานคณะกรรมการชุมชนอิสลาม เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ระยอง ณ ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง หลังบริษัทเอเพ็ค ปิโตรเคมิคอล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 14 ถนนมาบข่า-ปลวกแดง ผู้ผลิตพีวีซีผงโดยใช้สารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์( VCM) เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ปัจจุบันขาดสภาพคล่องส่งผลให้พนักงานกว่า 70 คนไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านบาท ขณะที่กระแสไฟฟ้าภายในโรงงานและน้ำประปา ถูกตัดเนื่องจากค้างจ่ายจนไม่มีแสงสว่างในเวลากลางคืนและต้องใช้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินเพื่อควบคุมอาคารเก็บสารเคมีซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาจำนวน 700 ตัน ด้วยอุณหภูมิลบ 20 องศา ทำให้ชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนกว่า 3,000 คน ที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามและโดยรอบบริเวณโรงงาน ต่างพากันหวาดผวาว่าหากพนักงานทิ้งหน้าที่ในการดูแลควบคุมเครื่องจักร ก็อาจทำให้สารเคมีซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาระเบิดขึ้นได้ 




โดยนายธวัชชัย (เทิดเผ่าไทย) ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาในทันที โดยให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลโรงงานโดยตรงเข้ามาดูแล พร้อมผู้แทนจากสำนักงานอัยการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศบาลเมืองมาบตาพุด และประธานชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ทำหนังสือถึงเจ้าของโรงงานให้ดำเนินการตัดหญ้าที่ขึ้นปกคลุมออกให้หมด เพื่อป้องกันไฟไหม้และอาจทำให้ถังเก็บสารเคมีเกิดการระเบิดขึ้นได้ เพราะสภาพโรงงานปัจจุบันหัวจ่ายดับเพลิงและอุปกรณ์วาว์ลเปิด-ปิดใช้การไม่ได้ พร้อมให้คณะทำงานจัดตั้งชุดเฝ้าระวังระบบควบคุมสารเคมี และเร่งดำเนินการหาข้อมูลเพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานอย่างเฉียบขาด
ยื่นเรื่องร้องเรียน ผวจ.ระยอง แต่ก้อเท่านั้น

 ด้านนายศักดิ์ชาย เชิดสุขอนันต์ ประธานคณะกรรมการชุมชนบ้านพลา กล่าวว่าพนักงานโรงงานไม่ได้รับเงินเดือนและค่าสวัสดิการมานานถึง 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคงผลัดเวรดูแลเครื่องจักร โดยหวั่นว่าหากพนักงานไม่เข้าทำงานวันใดเครื่องปั่นไฟที่ต้องทำงานตลอด24 ชม.และต้องใช้น้ำมันดีเซลวันละ 7,000 บาทก็อาจดับ จนเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นได้ เพราะสารพิษนับ 100 ตันอาจรั่วไหลจนเกิดระเบิด “ใครจะรับผิดชอบ เวลานี้ชุมชน 3 ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยกว่า 3,000 คนต่างหวาดผวา จึงฝากให้ผู้บริหารโรงงานรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ปล่อยทิ้งเช่นนี้และขอให้เห็นแก่ชีวิตมนุษย์ที่อยู่รอบโรงงานด้วย” นายศักดิ์ชาย กล่าว เช่นเดียวกับนายสุขาติ กอเซ็ม ประธานคณะกรรมการชุมชนอิสลาม เทศบาลเมืองมาบตาพุด กล่าวว่าสารเคมีจำนวน 7 ตัน ที่อยู่ในอาคารควบคุมความเย็นหากเครื่องปั่นไฟเกิดปัญหาไม่สามารถควบคุมความเย็นได้ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนในชุมชน และถึงวันนี้ยังไม่มีผู้รับผิดชอบออกมาดูแลไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่อนุญาตให้สร้างโรงงานได้ จึงขอร้องเรียนไปยังนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ด้านนายจักรภพ ถาภักดี รอง ผจก.ส่วนวิศวกรรมการผลิตโรงงาน เอเพ็คปิโตรเคมีคอล จำกัด กล่าวว่าตัวอาคารได้เก็บสารแคทเตอร์ลิคจำนวน 700 ถังๆละ 10 กก. โดย เป็นสารตัวเร่งปฏิกิริยาแต่เป็นสารที่สลายง่ายในอุณหภูมิที่สูงจึงต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิลบ 20 องศาและต้องควบคุมตัวอาคารให้มีความเย็นตลอดเวลา ซึ่งหากเกิดไฟฟ้าดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อถึงจุดๆหนึ่งสารดังกล่าวจะสลายตัวด้วยตัวเองพร้อมกับจะทำให้เกิดความร้อนและเกิดระเบิดขึ้นเองได้ แต่สารเคมีอันตรายอีกส่วนหนึ่งซึ่งก็คือสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์(วีซีเอ็ม) ที่บรรจุในถังรูปทรงกลม(ลูกโลก) เป็นสารก่อมะเร็งตับ และสารตัวนี้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในขบวนการผลิตผงพีวีซีและต้องใช้น้ำหล่อเย็นตลอดเวลา รวมทั้งต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อภิสิทธิ์ อ้างแก้ปัญหามาบตาพุดสำเร็จ (แต่ปล่อยให้ผู้คนเสี่ยงตายกันไป )

'อภิสิทธิ์' ขึ้นเวทีปราศรัย สนามกีฬาจังหวัดระยอง กลางดึก ประกาศถ้าเลือกประชาธิปัตย์ ราคาผลไม้จะดีขึ้น ยืนยันไม่ละเลยปัญหาของแพง...

เมื่อเวลา 21.50 น. วันที่ 11 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยังสนามกีฬาจังหวัดระยอง เพื่อขึ้นปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยผู้สมัคร ส.ส.ภาคตะวันออก โดยมีประชาชน ประมาณ 3,000 คน มารอฟังการปราศรัย ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ย้ำถึงนโยบายเพื่อประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ แนวทางการแก้ปัญหาของพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตินิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของรัฐบาลที่ผ่านมาที่สามารถหาความสมดุลให้กับภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ความปรองดองที่ต้องการอยู่ในทุกวันนี้ ต้องมาดูจากการแก้ปัญหาของมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง”

การอ้างว่า แก้ปัญหามาบตาพุดสำเร็จ แต่ปล่อยให้ผู้คนเสี่ยงตายกันไป แบบนี้มั้ย ทำไมบอกว่า "นายกอภิสิทธิ์เลือดเย็น"

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังให้ความมั่นใจว่า ถ้าเลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะทำให้ราคาผลไม้ดีขึ้น และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยละเลยปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ทั้งที่ถูกด่าจากฝ่ายค้านและนักวิชาการแต่ยังตัดสินใจแนวแน่ ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพราะหากให้ขึ้นไปมากกว่านี้จะเป็นข้ออ้างให้ขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย ไม่ได้ละเลยปัญหาราคาไข่ หมูแพง เมื่อราคาต้นทุนคลี่คลายลง ได้ติดตามเพื่อให้ราคาลดลง แต่สุดท้ายจะต้องหันไปเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับประชาชน ขยายกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด 315 ที่ปฏิบัติงานอย่างได้ผล เป็นต้น นอกจากนั้น เนื้อหาการปราศรัยส่วนใหญ่โดยเฉพาะเรื่องที่พาดพิงฝ่ายตรงข้าม จะคล้ายคลึงกับเวทีต่างๆ ที่ นายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นปราศรัยไปแล้ว โดยนายอภิสิทธิ์ใช้เวลาปราศรัยประมาณ 45 นาที

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรงงานสารเคมีอันตราย ถ้าถูกปล่อยทิ้ง ระเบิดเองได้

" หากเครื่องปั่นไฟหยุดการทำงาน อาจเกิดการระเบิดภายในโรงงานขึ้นได้ เนื่องจากมีสารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยา จำนวน 7 ตัน สารเคมีดังกล่าวต้องอยู่ที่อุณหภูมิลบ 15 องศา ถ้าอุณหภูมิลบต่ำกว่า 15 องศา มันจะเกิดการติดไฟขึ้นมาเองอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้
เนื่องจากไม่มีพนักงานเฝ้าดูแล สารเคมีตัวนี้ ถ้าไม่อยู่ในอุณหภูมิของความเย็นอาจเกิดระเบิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีแก๊สวีซีเอ็ม เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิต ซึ่งมีอันตรายมากกว่าสารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยานี้อีก ขณะนี้ตกค้างอยู่ในถังและท่อประมาณกว่า 100 ตัน หากพนักงานยังไม่ได้เงินเดือนตามที่เรียกร้องอาจทิ้งแพล้นท์งาน การระเบิดอาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงอาจได้รับอันตราย "

เรื่องที่มีความเสี่ยงอันตราย พนักงานและผู้เกี่ยวข้องย่อมรู้ดีว่า โรงงานสารเคมีอันตราย ในมาบตาพุด แต่ละโรงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างไร ที่จะกระทบ ชุมชน ประชาชน ชาวบ้าน
70พนักงานฟ้องบ.เอเพ็คปิโตรเคมีคอลฯ ต่อศาลแรงงาน เรียกค้างจ่ายเงินเดือน,โอที 3ล้านบาท ตัดสวัสดิการหมด แฉค้างจ่ายค่าไฟ7ล้าน และตัดแก๊ส
วันนี้(3 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่บริเวณหน้าศาลจังหวัดระยอง ถนนตากสินมหาราช ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง นายนิพัทธ์ มาจันแดง พนักงานบริษัท เอเพ็คปิโตรเคมีคอล จำกัด เลขที่ 14 ถนนมาบข่า-ปลวกแดง ตำบลมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติคและพีวีซีเรซิ่น พร้อมด้วยเพื่อนพนักงานรวม 60 คน เดินทางมายื่นฟ้องศาลแรงงานจังหวัดกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินเดือนและเงินค่าโอทีเดือนพฤษภาคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 3,000,000 บาท
นายนิพัทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากเงินเดือนพนักงานและเงินค่าโอทีของพนักงานจำนวน 70 คน ที่ค้างจ่ายแล้ว ทางโรงงานยังตัดเงินสวัสดิการต่าง ๆ อาทิ ค่าเช่าบ้าน รถรับส่งพนักงาน ค่ารักษาพยาบาล เงินกู้ซื้อบ้านพนักงาน(หักเงินแล้วไม่นำจ่าย) ฯลฯ และปัญหาขณะนี้โรงงานค้างจ่ายค่ากระแสไฟรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,000,000 บาท การไฟฟ้าได้งดจ่ายกระแสไฟตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้ง แก๊ส LNG ที่ใช้ในขบวนการผลิตก็ถูกตัด ต้องใช้ เจนเนอร์เรเตอร์(เครื่องปั่นไฟ)ทดแทน หากเครื่องปั่นไฟหยุดการทำงาน อาจเกิดการระเบิดภายในโรงงานขึ้นได้ เนื่องจากมีสารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยา จำนวน 7 ตัน สารเคมีดังกล่าวต้องอยู่ที่อุณหภูมิลบ 15 องศา ถ้าอุณหภูมิลบต่ำกว่า 15 องศา มันจะเกิดการติดไฟขึ้นมาเองอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้
เนื่องจากไม่มีพนักงานเฝ้าดูแล สารเคมีตัวนี้ ถ้าไม่อยู่ในอุณหภูมิของความเย็นอาจเกิดระเบิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีแก๊สวีซีเอ็ม เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิต ซึ่งมีอันตรายมากกว่าสารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยานี้อีก ขณะนี้ตกค้างอยู่ในถังและท่อประมาณกว่า 100 ตัน หากพนักงานยังไม่ได้เงินเดือนตามที่เรียกร้องอาจทิ้งแพล้นท์งาน การระเบิดอาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงอาจได้รับอันตราย
นายนิพัทธ์ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาฝ่ายผู้บริหารโรงงานเดินทางมาเจรจาขอเลื่อนการจ่ายเงินเดือนออกไปอีกอ้างขาดสภาพคล่อง ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากครอบครัวพนักงานกำลังประสบความเดือดร้อน กลุ่มพนักงานจึงต้องมาร้องต่อศาลแรงงาน จ.ระยอง

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปลือย 13 อรหันต์“มาบตาพุด”อุ้มโรงงาน-แจกมรณะบัตรชุมชน!?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์16 พฤษภาคม 2554 11:33 น.

หลังรัฐบาล “มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ใช้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี คลี่คลายปัญหา 76 โครงการยักษ์ในมาบตาพุด ที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับ จนคลี่คลายความร้อนแรงลง พร้อม ๆ กับการนำเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรค 2 มาเป็นแนวปฏิบัติ ตามที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” และนำมาซึ่งการจรดปากกาลงนามจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยมีนายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ผู้แทนจากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เป็นประธานกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ค่าตอบแทนคนละ 45,000 บาท พร้อมยังให้มีผู้ช่วยอีก 13 คน ได้ค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาท เป็น 13 อรหันต์ทองคำ ที่ได้รับการคาดหวังว่า จะทำหน้าที่เป็น “ผนังเหล็ก กำแพงทองแดง” ให้แก่ชุมชนมาบตาพุด ทำให้พวกเขาอยู่ใต้ปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รัฐไทยทุกยุคทุกสมัย ใช้เป็นเครื่องมือปั้นตัวเลข GDP ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด ที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ไขปัญหาสารพัดวิธี รวมทั้งการตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมากำกับดูแล แต่พบว่า ไม่ทำให้ชีวิตของผู้คนที่นี่อยู่ได้อย่างปกติสุข








ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง แม้จะมีรายงานว่าผลผลิตมวลรวมต่อหัวของชาวระยอง สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่รายงาน UNDP พ.ศ.2550 กลับระบุว่า รายได้ของชาวระยองแท้จริงอยู่ในระดับปานกลาง ครอบครัวและชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมีศักยภาพต่ำ ภาษีที่กลับคืนสู่สังคมในจังหวัดระยอง น้อยมาก เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากที่เปิดทำการอยู่ในพื้นที่ระยอง จดทะเบียนที่กรุงเทพฯ และบางส่วนได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากจาก BOI ทำให้ภาษีกลับคืนสู่ระยอง มีไม่ถึง 1% ที่จะนำมาลงทุนในด้านสังคมให้ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่า “องค์การอิสระฯ” ที่ตั้งขึ้นมานั้นกำลังทำให้กับคนมาบตาพุด ต้องหวนกลับไปผจญกับปัญหามลภาวะ ผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพของชุมชน เหมือนกับที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก เพราะเกือบ 1 ปี ที่องค์การอิสระฯแห่งความคาดหวังก่อกำเนิดขึ้น มาถึงวันนี้...13 อรหันต์ทองคำแห่งมาบตาพุด กำลังถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการทำงาน มาตรฐานในความเป็นมืออาชีพ ฯลฯ โดยเฉพาะ“โครงการเอทธิลีน ไกลคอน” ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด ที่ได้รับตราประทับรับรองจากองค์การอิสระฯ ผ่านไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังถูกมองด้วยความเคลือบแคลงจากคนมาบตาพุด รวมทั้งคนระยองทั้งจังหวัด ตลอดจนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ว่า “องค์การอิสระฯ ที่เชื่อว่า จะเป็นอรหันต์ทองคำให้คนมาบตาพุด ให้การรับรองโครงการนี้แบบค้านสายตาสุดขั้ว” ความเป็นจริงแล้วองค์การอิสระฯ ควรจะต้องออกไปหาข้อมูลรายละเอียดโครงการ และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหาข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากทุกภาคส่วน และจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ ในการให้ความเห็นก่อนที่โครงการจะถูกส่งเข้ามา และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกความเห็นนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ ที่สำคัญองค์การอิสระฯเกิดขึ้นได้ เพราะเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและชาวมาบตาพุด ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถ้าไม่ทำหน้าที่คุ้มครองปกป้องเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิของชาวมาบตาพุด ก็สมควรลาออกทั้งชุด “ทุกวันนี้ องค์การอิสระฯแห่งนี้ มุ่งแต่จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการต่าง ๆ แทนตัวเอง และเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทบให้อนุกรรมการเป็นรายเดือนเหมือนกับตัวเองอีก และที่ผ่านมาพวกเขาก็ไม่เคยลงพื้นที่และสัมผัสกับประชาชนในมาบตาพุดอย่างจริงจังเลย” นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก บอกกับ “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์”




 ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่า คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ยังใช้ช่องทางตั้งผู้ช่วยขึ้นมารับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน โดยบางคนแทบไม่เคยมีใครเห็นหน้าค่าตา ไม่เคยย่างกรายเข้ามาทำงานในสำนักงาน ไม่เคยมีประวัติที่ตรวจสอบได้ถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมใด ๆ หรือไม่มีความรู้เรื่อง ขีดความสามารถในการรองเรื่องสิ่งแวดล้อม(Carrying Capacity) ที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชนหรือไม่ “ผู้ช่วยคณะกรรมการฯ กลายเป็นคณะผู้ติดตามไปหมด เราจึงอยากให้ สตง.เข้ามาสอบสวนด้วย” นายสุทธิ ย้ำ แต่องค์การอิสระฯดังกล่าว กลับสามารถให้การรับรองโครงการ หรือให้ใบเบิกทางในการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนมาบตาพุด และเป็นใบเบิกทางให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในมาบตาพุด ล่าสุดเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง ... คราวนี้พวกเขามุ่งเป้าเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง “รื้อ” องค์การอิสระ (ชั่วคราว) แห่งนี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะตั้งโต๊ะแจกจ่ายใบประทับรับรองคุณภาพให้อุตสาหกรรมอันตราย ที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น “ใบมรณะบัตร” สำหรับชุมชนมาบตาพุดในอนาคต
ความล้มเหลวในการทำงานขององค์กรอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หลังทำงานเกือบปี ไม่เห็นผลงาน ส่งผลให้คนระยองเตรียมตัวเคลื่อนไหวล้มเลิกประกาศจัดตั้งองค์กรดังกล่าวในเร็วๆนี้ ตามที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2553 เรื่องการประกาศการจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ค่าตอบแทนคนละ 45,000 บาท พร้อมยังให้มีผู้ช่วยอีก 13 คน ได้ค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาท โดยกำหนดให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) จนกระทั่งปัจจุบันเวลาผ่านไป 10 เดือนแล้ว ผลงานขององค์การอิสระฯเป็นอย่างไรบ้าง ทำงานคุ้มค่าตอบแทนและเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนหรือไม่อย่างไร นายสนธิ คชวัฒน์ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และเลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยได้ เผยว่า ประชาชนคาดหวังว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฯ จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากทุกด้าน เพื่อให้หน่วยงานรัฐพิจารณาในการอนุมัติอนุญาต หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อให้โครงการต่างๆ ได้รับทราบข้อมูลจากองค์ที่เป็นกลาง ทั้งนี้ เพื่อสามารถที่จะประมวลความคิดเห็นได้อย่างรอบด้านและเสนอข้อคิดเห็นต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องมิราเคิลแกรนด์เอบี ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ต้องทำหน้าที่ในการรักษาความเชื่อถือจากทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึงการทำงานอย่างเที่ยงตรง และเที่ยงธรรม โดยยึดหลักข้อมูลทางวิชาการที่แม่นยำ ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายทั้งฝ่ายราชการ หน่วยงานภาคเอกชนตลอดจนประชาชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการทำงานขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ผ่าน มากว่า 10 เดือน มีความเห็นว่า 1.ยังไม่เห็นการทำงานที่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านวิชาการและด้านการปฎิบัติ เพื่อตอบโจทย์ของประชาชนตามที่ประชาชนคาดหวัง รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการที่จะให้ความเห็นต่อโครงการที่อาจจะรุนแรง ปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คือ โครงการเอทธิลีน ไกลคอน ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด และได้ส่งให้องค์การอิสระพิจารณาให้ความเห็นแล้ว แท้จริงแล้วองค์การอิสระฯควรจะต้องออกไปหาข้อมูลรายละเอียดโครงการ และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหาข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากทุกภาคส่วน และจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ ในการให้ความเห็นก่อนที่โครงการจะถูกส่งเข้ามา ไม่ใช่รอรายงานฯที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาแล้วมาพิจารณาซ้ำซ้อนอีกที ทุกวันนี้องค์การอิสระมุ่งแต่จะแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาโครงการแทนตัวอง และพยายามเรียกร้องให้อนุกรรมการมีเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือนเช่นตนอีก ซึ่งเป็นคำถามที่ตามมาจากประชาชนคือกรรมการชุดนี้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตต่อโครงการประเภทปิโตรเคมีหรือไม่ มีความรู้เรื่อง Carrying Capacity รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากเวลา 10 เดือนที่ผ่านยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งไม่เคยลงพื้นที่และสัมผัสประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างจริงจังเลย 2.จากการหารือกับประชาชนภาคตะวันออก และกลุ่มนักวิชาการ ไม่มีกลุ่มใดเลยที่ให้ความเชื่อมั่นในด้านวิชาการต่อคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านไม่เคยแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ ที่จะให้ความเห็นทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่กลับมีข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องผลประโยชน์ค่าตอบแทนมาตลอด รวมทั้งข่าวการทะเลาะกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องอย่าลืมว่าองค์การอิสระ (ชั่วคราว)ต้องตั้งงบประมาณและขออนุมัติงบประมาณ ผ่านกรมส่งเสริมคุณภาพส่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งคิดว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินควรเข้ามาทำการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวด้วย 3.ความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการอิสระบางท่านแต่งตั้งผู้ช่วย โดยไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง ตั้งขึ้นมาเพื่อมารับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน บางคนเจ้าหน้าที่ไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วตามเจตนารมณ์ของการตั้งผู้ช่วยมาช่วยกรรมการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของกรรมการ โดยต้องนั่งทำงานประจำที่สำนักงาน เนื่องจากรับเงินจากราชการเหมือนพนักงานประจำ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการได้เลือกผู้ช่วยมาเอง และให้ติดตามตนเองไม่ต้องเข้ามาทำงานก็ได้ ทำตัวเหมือนเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ในรัฐสภา ผู้ช่วยบางท่านทำงานประจำอยู่แล้วเช่น เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย บางคนเป็นพนักงานราชการ ไม่เคยเข้ามาที่สำนักงานฯเลย ซึ่งเรื่องนี้ขอเรียกร้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาทำการสอบสวนด้วย 4.ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีความอึดอัดใจต่อการทำงานขององค์การอิสระฯชุดนี้ และไม่มีความมั่นใจต่อพฤติกรรมที่ผ่านมาของกรรมการบางคน ดังนั้น จึงมีความคาดหวังให้มีการปฏิรูปองค์การอิสระฯชุดนี้โดยด่วน เพื่อให้เป็นองค์การที่ประชาชนเชื่อมั่นและหวังเป็นที่พึ่งได้ต่อไป 5.ในการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาอยู่นั้น จะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความคาดหวังของรัฐธรรมนูญ ทั้งในเรื่องที่มาและกระบวนการคัดเลือกกรรมการ โดยต้องพิจารณาประวัติการทำงาน วิสัยทัศน์ การยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม ตลอดจนต้องสามารถถอดถอนได้ โดยต้องนำบทเรียนจากการตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้เป็นแนวทางในการออกพระราชบัญญัตต่อไป ด้าน นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยว่า คนระยองมีมีความเห็นว่าการทำงานขององค์กรอิสระฯ ชุดนี้ไม่มีความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน และไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ ซึ่งในความเป็นจริงองค์อิสระชุดนี้จะต้องเข้ามาทำงานตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น ในเรื่องของการเปิดกว้างเกี่ยวกับการให้ความรู้กับประชาชน รวมไปถึงการให้ข้อมูลต่างๆ ในเชิงวิชาการ แต่ปัจจุบัน องค์กรอิสระบางคน ทำตัวไม่โปร่งใส ปิดบังข้อมูล ฉกฉวยผลประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งมีบางคนที่ เคยเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนนั้นก็จะมีการเอื้อผลประโยชน์ให้กัน เรื่องนี้คนระยอง รู้สึกรับไม่ได้ แต่จะให้โอกาสในการทำงานต่ออีกระยะหนึ่ง หากยังไม่มีผลงานหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ พวกเราจะมีการเคลื่อนไหว โดยการรวมตัวของระยอง และประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนขอให้ล้มเลิกประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เรื่องการประกาศการจัดตั้งองค์การอิสระ (ชั่วคราว) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพจำนวน 13 คน